ยะลา - ผู้ว่าฯ จ.ยะลา ตรวจดูความพร้อมโรงพยาบาลสนาม คาดสามารถเปิดใช้งานได้ภายในสัปดาห์หน้า สามารถรองรับผู้ป่วยได้กว่า 120 เตียง ขณะที่ล่าสุด “จ.ยะลา” มีผู้ป่วยสะสมแล้ว 23 ราย
วันนี้ (23 เม.ย.) นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วย นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา และนายเกษมสุข พสุนธราธรรม ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ จ.ยะลา เข้าตรวจดูความพร้อมของสถานที่เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งภายหลังจากที่ จ.ยะลา ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งได้มีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 แบ่งการระบาดออกเป็น 3 ระลอกด้วยกัน
โดยระลอกแรก จ.ยะลา มีผู้ป่วยยืนยัน 133 ราย เสียชีวิต 2 ราย รักษาหาย 131 ราย ผู้ป่วยรายแรกเป็นผู้ป่วยที่เดินทางไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาในต่างประเทศ มาตรการสำคัญของ จ.ยะลา คือ การเฝ้าระวังสังเกตอาการของประชาชนกลุ่มเสี่ยง ทั้งที่บ้าน (Home Quarantine) และสถานที่เฝ้าระวังสังเกตอาการที่จัดตั้งขึ้น (Local Quarantine) ส่วนระลอกใหม่ (เดือนมกราคม-มีนาคม 2564) เป็นการระบาดที่มีสาเหตุสำคัญจากแรงงานต่างด้าว จ.ยะลา จึงได้มีการสำรวจ และคัดกรองกลุ่มแรงงานต่างด้าว และเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของ ศบค. และในระลอกเมษายน 2564 เป็นการระบาดที่เกิดขึ้นภายในประเทศ
ซึ่งปัจจุบัน (23 เม.ย.) จ.ยะลา มีผู้ป่วยยืนยัน 23 คน ทั้งหมดอยู่ระหว่างการรักษาในโรงพยาบาลภายใน จ.ยะลา มาตรการสำคัญในระลอกนี้จึงเป็นการเฝ้าระวัง และคัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยง (ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 18 จังหวัด ตามประกาศ ศบค. และผู้สัมผัสเสี่ยงสูง) จึงได้มีการเตรียมความพร้อมของ จ.ยะลา
นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม จ.ยะลา ขึ้น ณ โรงเรียนศึกษาพิเศษ เขตพัฒนาพิเศษเขตเฉพาะกิจ จ.ยะลา โดยความร่วมมือภาคส่วนต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง (ตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดยะลา ที่ 16/2564 ลงวันที่ 19 เมษายน 2564) เพื่อรองรับการดูแลรักษา และเฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนมากเกินศักยภาพของโรงพยาบาล ตลอดจนลดผลกระทบของผู้ป่วยอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับบริการในโรงพยาบาล
ทั้งนี้ ศักยภาพโรงพยาบาลสนาม ณ โรงเรียนศึกษาพิเศษ เขตพัฒนาพิเศษเขตเฉพาะกิจ จ.ยะลา เป็น 1 ใน 2 แห่ง (โรงพยาบาลสนามอำเภอเบตง) โดยใช้อาคารของโรงเรียนศึกษาพิเศษ ที่เป็นอาคาร 3 ชั้น โดยชั้นที่ 1 (ผู้ป่วยชาย) และชั้นที่ 2 (ผู้ป่วยหญิง) รองรับผู้ป่วยได้ชั้นละ 62 เตียง (รวม 124 เตียง) และชั้นที่ 3 เป็นสำนักงาน และที่พักของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย ในระยะแรกการเปิดให้บริการจะเปิดให้บริการ 1 อาคาร และสามารถเปิดเพิ่มได้สูงสุด 3 อาคาร สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 372 เตียง การให้บริการของโรงพยาบาลสนามจะให้บริการในผู้ป่วยติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีอาการไม่รุนแรง ส่วนผู้ป่วยติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีอาการรุนแรงจะได้รับการดูแลในโรงพยาบาลยะลา ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงได้ 32 เตียง
นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา เผยว่า โรงพยาบาลสนาม ณ โรงเรียนศึกษาพิเศษ เขตพัฒนาพิเศษเขตเฉพาะกิจ จ.ยะลา จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือของโรงพยาบาลทั้ง 7 แห่งของ จ.ยะลา ที่ได้ร่วมกันแบ่งปันทรัพยากร ประกอบด้วย โรงพยาบาลยะลา โรงพยาบาลรามัน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา โรงพยาบาลบันนังสตา โรงพยาบาลธารโต โรงพยาบาลกาบัง และโรงพยาบาลกรงปินัง โดย พญ.นิตยา ภูวนานนท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลยะลา เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนาม (โรงเรียนศึกษาพิเศษ) นพ.ชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา เป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนาม และมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่างๆ เป็นคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลสนาม และรับผิดชอบภารกิจต่างๆ ของโรงพยาบาลสนาม ประกอบด้วย 1.ด้านการแพทย์ 2.ด้านการพยาบาล 3.ด้านการบริหารจัดการ 4.ด้านสังคมสงเคราะห์ และจิตวิทยา 5.ด้านเครื่องมือ และเวชภัณฑ์มิใช่ยา 6.ด้านการป้องกันการติดเชื้อ 7.ด้านสิ่งแวดล้อม และ 8.ด้านการเชื่อมโยงการสื่อสาร และการติดต่อ
ในส่วนของภารกิจการดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของโรงพยาบาลสนาม ได้มีทีมบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขจิตอาสา จำนวน 7 ทีม จากแต่ละโรงพยาบาลมาปฏิบัติงานผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันดูแลผู้ป่วย ในขณะที่การรักษาความปลอดภัยของโรงพยาบาลสนามได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้การดูแลความปลอดภัยในโรงพยาบาลดังกล่าว