xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “ผอ.ไอซีอาร์ซี” นำคณะเข้าพบ “ผบ.สส.” จะได้ตั้งสำนักงานต่อในชายแดนใต้หรือไม่?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

คอลัมน์: จุดคบไฟใต้ / โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก


ไม่กี่วันก่อน นายคริสตอฟ ซุตแตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคกรุงเทพฯ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ได้นำคณะเข้าพบ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่กองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อเป็นการแนะนำตนเองและหารือถึงภารกิจขององค์กร

ถือเป็นความพยายามอีกระลอกที่ไอซีอาร์ซีจะขอกลับเข้าไปปฏิบัติการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังถูกกดดันให้ต้องถอนสำนักงานออกจาก จ.ปัตตานี จนต้องมาอาศัยคอนโดฯ แห่งหนึ่งใน จ.สงขลา ตั้งเป็นสำนักงานชั่วคราว

ไอซีอาร์ซียืนยันว่าพร้อมที่จะให้การสนับสนุนวิทยากรฝึกอบรมด้านปฏิบัติการสันติภาพ และพร้อมช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ทหารผู้ประสบภัยสงครามแบบไม่แยกฝักฝ่าย รวมถึงรวมช่วยแก้ไขปัญหาการระบาดโควิด-19 ใน “พื้นที่ที่มีการสู้รบ”

แต่สำหรับในไทยแล้ว ไอซีอาร์ซีก็ยังพร้อมทำหน้าที่ส่งเสริมและรายงานการปฏิบัติของฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการ “ขัดกันด้วยอาวุธ” เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งมนุษยธรรมระหว่างประเทศแห่งอนุสัญญาเจนีวาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

ทั้งหมดคือภารกิจของไอซีอาร์ซีที่ต้องการกลับเข้าไปปฏิบัติการในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทย

ก่อนหน้านี้ ไอซีอาร์ซีได้ใช้ “2 นายพลแห่งกองทัพไทย” ที่เกษียณแล้ววิ่งล็อบบี้ “นายพล” ประจำการทั้งในพื้นที่ชายแดนใต้และที่กองทัพบกให้ไฟเขียวจัดฝึกอบรมให้ความรู้การแก้ปัญหาไฟใต้ให้แก่นายทหารระดับ “หัวหน้าหน่วย” ในพื้นที่รับผิดชอบของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ามาแล้วถึง 2 ครา

แน่นอนหากได้รับไฟเขียวให้จัดอบรมดังกล่าวได้ หน่วยความมั่นคงไทยต้องใช้หลักสูตรพิเศษของไอซีอาร์ซีนั่นเอง แต่ก็ทำไม่สำเร็จ เพราะมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และนายทหารระดับเสนาธิการในพื้นที่บางคนไม่เห็นด้วย

นับตั้งแต่ปี2559 ที่ไอซีอาร์ซีเข้าไปตั้งสำนักงานใน จ.ปัตตานี หลายปฏิบัติการที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส กับ4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย กลับปรากฏเป็นเรื่องที่ “หมิ่นเหม่” อย่างมาก

ที่สำคัญปฏิบัติการในหลายปีที่ผ่านมาของไอซีอาร์ซีกลับมีลักษณะที่เอื้อประโยชน์แก่ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนมาโดยตลอด

วันนี้สถานการณ์ชายแดนใต้ดีขึ้น โดยเฉพาะมีการก่อเหตุน้อยลง การละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่มี การซ้อมทรมานผู้ถูกจับกุมก็ไม่เกิด เพราะหน่วยงานความมั่นคงไทยต่างเข้าใจและปรับการสืบสวนสอบสวนให้เป็นสากล อีกทั้งให้กระบวนการยุติธรรมเข้าตรวจสอบดูแลผู้ต้องหาได้อย่างใกล้ชิด

ดังนั้น ไอซีอาร์ซีจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง “ดึงดัน” อยู่ในชายแดนใต้ หรืออยู่เพื่อปฏิบัติการกับมวลชนในพื้นที่ต่อไป โดยสมควรถอนสำนักงานกลับไปยังกรุงเทพฯ ตามที่มีการร้องขอกันไว้

ความพยายามดึงดันอยู่ต่อยิ่งทำให้เห็นว่า แท้จริงแล้วไอซีอาร์ซีมี “วาระซ่อนเร้น” ที่จะต้องปฏิบัติการบางอย่างใช่หรือไม่ โดยเฉพาะปฏิบัติการที่ไม่น่าจะเกิดประโยชน์กับงานความมั่นคงของไทย แต่กลับจะไปก่อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนเสียมากกว่า

เพราะชัดเจนแล้วว่าวันนี้ “บีอาร์เอ็น” ไม่ได้ต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนกับรัฐไทยอย่างโดดเดี่ยว แต่มี “เจนีวาคอลล์” ที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ (UN) ให้การหนุนหลัง โดยเฉพาะอาจจะเป็นผู้จัดทำหลักสูตรต่างๆ เพื่อให้การต่อสู้ได้เดินไปสู่เวทีระดับยูเอ็น

ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ที่กล่าวกันว่า ไอซีอาร์ซีจะต้องพยายามดิ้นให้ได้อยู่ในชายแดนใต้ต่อไปเพื่อการ “รับลูก” จากเจนีวาคอลล์ที่ทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ให้แก่บีอาร์เอ็น

ทำไมไอซีอาร์ซีไม่ย้ายฐานไปยังรัฐยะไข่ของพม่าตั้งแต่หลายปีก่อน เพราะที่นั่นมีสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาของทหารพม่า หรือเวลานี้ทำไมไม่เร่งเข้าไปช่วยเหลือชาวพม่าที่กำลังถูกกองกำลังของ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย เข่นฆ่าและทำร้ายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ทำไมไอซีอาร์ซีจึงยังมีเข็มมุ่งที่จะต้องได้เข้าไปปฏิบัติการในชายแดนใต้ของไทยให้ได้

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและนายทหารระดับสูงจึงควรจะขบคิดในเรื่องนี้ให้แตก โดยเฉพาะควรมองให้เห็นถึงความผิดปกติ ไม่ควรที่จะยอมถูกล็อบบี้โดยนายทหารนอกราชการที่ไปรับจ๊อบเป็นที่ปรึกษาให้กับไอซีอาร์ซี หรือยอมที่จะคล้อยตามด้วยความเกรงใจหรือด้วยประโยชน์ใดๆ

ยิ่งพิจารณาถึงภารกิจที่ไอซีอาร์ซีนำเสนอต่อ ผบ.สส.ด้วยแล้ว ยิ่งเห็นได้ชัดว่าแทบไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่จะมีภารกิจนี้ในชายแดนใต้

ประการแรก ที่ผ่านมารัฐบาลและกองทัพก็ไม่เคยยอมรับว่ามีปัญหา “ขัดกันด้วยอาวุธ” มีแต่โฆษกและผู้นำปีกการเมืองบีอาร์เอ็นใน จ.ปัตตานีเท่านั้นที่ออกมากล่าวในเรื่องนี้ ดังนั้น ถ้าให้ไอซีอาร์ซีอยู่ปฏิบัติภารกิจในชายแดนใต้ต่อ นั่นไม่เท่ากับยอมรับตามที่บีอาร์เอ็นต้องการให้เป็นกระนั้นหรือ

ประการที่สอง บ้านเมืองเรามีปัญหาโควิด-19 ระบาดก็จริง แต่ไม่มีการระบาด “ในพื้นที่สู้รบ” ตามที่ไอซีอาร์ซีระบุแต่อย่างใด เพราะเราไม่มีสงคราม บ้านเมืองเราจึงไม่มีพื้นที่สู้รบ เราเพียงแต่มีปัญหากับแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ลอบโจมตีเจ้าหน้าที่เท่านั้น

และประการที่สาม เรื่องความรับผิดชอบด้านมนุษยธรรมแก่ทหารและผู้ประสบภัยสงคราม ซึ่งเป็นภารกิจหลักของไอซีอาร์ซีนั้น เวลานี้ชายแดนใต้ยังไม่มีผู้ประสบภัยสงครามแม้แต่คนเดียว เพราะไทยเรายังไม่ได้ประกาศสงครามกับใคร ขณะที่บีอาร์เอ็นเองก็ยังไม่ได้ประกาศสงครามกับรัฐไทยด้วย

ดังนั้น ภารกิจที่ไอซีอาร์ซีได้อธิบายให้แก่ ผบ.สูงสุดฟังเพื่อขอให้สนับสนุนภารกิจในชายแดนใต้ จึงต้องถือว่ายัง “เลื่อนลอย” และไม่มีความเหมาะสมท่ามกลางสถานการณ์ในพื้นที่กำลังดีขึ้นเรื่อยๆ

โดยข้อเท็จจริงที่ปัญหายังไม่จบ ไม่ใช่เพราะทหารไทยไม่มีความรู้ความเข้าใจการดับไฟใต้ เพียงแต่หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ได้ทำในสิ่งที่ “ควรทำ” แต่ไปทำในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กับกระบวนการดับไฟใต้เสียมากกว่า

ถ้าหน่วยงานความมั่นคง “ตอบโจทย์” ได้ถูกต้องป่านนี้ไฟใต้มอดดับไปนานแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น