โดย..ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล
โง่, จน, และก็เจ็บ ยังเป็นปัญหาหลักสำหรับคนจนส่วนใหญ่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังมีปัญหาของการก่อการร้ายจากขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่ยังก่อเหตุร้ายในพื้นที่เป็นระยะๆ แม้ว่าการก่อเหตุจะลดลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “สันติสุข” จะกลับคืนมา เพราะขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็นยังมีความพยายามที่จะต่อสู้ ทั้งการใช้ความรุนแรงและการเจรจา เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ต้องการ
“โง่” ที่กล่าวถึงคือเรื่องของการศึกษา ซึ่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นปัญหาของการศึกษายังเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไขกันอีกยาวนาน เพราะผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษายังไม่ตอบสนองความต้องการ และยังมีปัญหาเรื่องของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ที่เป็นทั้งเรื่องความมั่นคง เรื่องการทุจริต ที่วันนี้ ทั้ง ทหาร ทั้ง ป.ป.ช.ต้องเข้าไปทำการตรวจสอบโรงเรียนที่ทำผิดหลักการอีกไม่น้อย
“จน” หมายถึง เรื่องปากท้อง เรื่องอาชีพ เรื่องการว่างงาน การตกงาน จนกลายเป็นเรื่องของความไม่มั่นคงของครอบครัว ที่นำไปสู่ความไม่มั่นคงของพื้นที่ การจบการศึกษาแล้วไม่มีงานทำ การโยกย้ายถิ่นฐานไปทำงานยังต่างถิ่น ต่างประเทศ ล้วนมาจากเรื่องของความยากจนเป็นส่วนใหญ่
และ “เจ็บ” คือเรื่องของสุขภาพ เรื่องของสาธารณสุข ที่ทุกวันนี้คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีปัญหาเรื่องสาธารณสุข
เรื่องของความเจ็บป่วย จนทำให้คุณภาพชีวิตลดน้อยลง และแม้แต่เรื่องเด็กขาดสารอาหาร ที่ไม่ควรจะมีในประเทศไทย ก็ยังเกิดขึ้นในพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ต้องทำการแก้ไขกันอย่างต่อเนื่อง
ทั้งหมดปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นหน้าที่ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “ศอ.บต.” ในการที่ต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อลดปัญหาทั้งหมดให้น้อยลงและหมดไป เพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้น เพื่อให้เกิดความมั่นคงแก่ครอบครัว ที่ส่งผลถึงความมั่นคงของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยนั่นเอง
วันนี้ การสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างเงิน เป็นเรื่องที่ ศอ.บต.ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะพื้นฐานของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นเกษตรกร และสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นทั้งที่ราบ ภูเขา และชายทะเล ที่นอกจากจะทำการเกษตรเป็นหลักแล้ว เรื่องของการทำประมงชายฝั่งแล้วยังเป็นอาชีพที่สำคัญ ยังต่อยอดไปสู่การสร้างแหล่งอาหารชุมชนและการแปรรูปสัตว์น้ำ สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้คนในชุมชนชายฝั่งทะเลได้อีกด้วย
เช่น โครงการเลี้ยงปูดำ ที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ที่ ศอ.บต.ร่วมกับศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนจังหวัดปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และสำนักงานประมง อ.ยะหริ่ง ได้ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ ต.บางปู ต.หนองแรด ต.แหลมโพธิ์ และ ต.ยามู ทำการเลี้ยงปูดำ เพื่อให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่ชายฝั่งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะปูดำเป็นที่ต้องการของตลาด ที่ผู้เลี้ยงจำหน่ายได้ในราคาดี ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ในห้วงปีที่ผ่านมานั้น ทั้ง ศอ.บต. ศูนย์บริหารทรัพยากรป่าชายเลน จ.ปัตตานี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้บูรณาการเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปูทะเลให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ มีการสร้างโรงฟักปูทะเล และโรงอนุบาลปูทะเลในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายในการผลิตลูกปู 4 ล้านตัว เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงปูทะเลให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ ร่วมกับการอนุรักษ์ป่าชายเลนของ จ.ปัตตานีไปด้วยกัน
อีกทั้งมีการฟื้นฟูป่าชายเลนที่เสื่อมโทรม เพื่อสร้างให้เป็นแหล่งอนุบาลและที่อยู่อาศัยของปูทะเลในการเลี้ยงแบบเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ของ อ.ยะหริ่ง และได้นำเอาบ่อกุ้งที่ถูกทิ้งร้างมาพัฒนาให้เป็นพื้นที่เลี้ยงปูในเชิงอนุรักษ์ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปู เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่เกษตรกร เพื่อให้เปลี่ยนอาชีพมาเลี้ยงปูในนากุ้งหรือบ่อกุ้งที่ถูกปล่อยทิ้งร้างเพราะเลี้ยงกุ้งต่อไปไม่ได้ ซึ่งเป็นการลงทุนที่ไม่มาก เพราะมีพื้นที่ที่เหมาะสมอยู่แล้ว
พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ปัญหาปากท้องเป็นปัญหาที่รอไม่ได้ เพราะทุกคนต้องมีชีวิตอยู่และต้องมีกินทุกวัน ศอ.บต.จึงต้องคิด และทำให้แผ่นดินทุกตารางนิ้วให้มีรายได้เกิดต่อคนในพื้นที่ ให้มีรายได้ในการเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว ไม่ใช่เพียงเพื่อให้อยู่รอด แต่หมายถึงต้องมีอยู่แบบมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย ซึ่งการส่งเสริม การพัฒนาอาชีพ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ ต้องดูสภาพของอาชีพของพื้นที่เป็นสำคัญ เช่น คนมีอาชีพประมง คนที่อยู่กันชายฝั่งทะเล ต้องหาทางส่งเสริมอาชีพประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้แก่เขา ที่เป็นได้ทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม
เกษตรกรที่ทำสวนยาง ก็ต้องส่งเสริมในเรื่องของการทำสวน เช่น อาจจะทำสวนยางด้วย ทำสวนกาแฟ และการปลูกโกโก้ด้วย เพื่อช่วยกันพยุงซึ่งกันและกัน โดยที่ไม่ต้องฝากอนาคตไว้กับสวนยางเพียงอย่างเดียว หรือมีการส่งเสริมให้มีการปลูกมะพร้าว เพราะในพื้นที่ จ.ปัตตานี กำลังจะมีโรงงานแปรรูปมะพร้าว ที่ต้องการมะพร้าวเข้าสู่โรงงานวันละ 30,000 ลูก และยังอาจจะแบ่งพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน เพราะในพื้นที่มีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม เพื่อรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร โดยที่ไม่ต้องขนส่งไปยังที่ห่างไกล
“เป็นการทำอาชีพที่มากกว่า 1 อาชีพ เพื่อสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น และที่สำคัญเป็นการป้องกันความเสี่ยงของการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่เห็นได้ชัดแล้วว่า ถ้าปีไหนราคาตกต่ำก็จะส่งผลกระทบกับเกษตรกรในทันที” พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าว
ในกรณีของ “ปูดำ” เป็นการเลี้ยงเพื่อการจำหน่าย ซึ่งได้มีการศึกษาจนมั่นใจว่าปูดำจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่อีกชนิดหนึ่งที่จะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยง โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล โดย อ.ยะหริ่ง จะเป็นอำเภอแรกของการเลี้ยงปูดำมากที่สุด ทั้งในวันนี้ และในอนาคต โดย ศอ.บต.จะส่งเสริมแบบครบวงจร มีการให้ความรู้ โดยนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ
อบรมให้ความรู้แบบลงลึกในพื้นที่เลี้ยงและนำเกษตรกรไปดูงานในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกษตรกรประสบความสำเร็จในการเลี้ยงปูดำ เพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่จะสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรอย่างแท้จริง