xs
xsm
sm
md
lg

“นายก อบต.นาหมื่นศรี” เผยชาวบ้านน้อยใจ ไม่มีส่วนร่วม จ.ตรัง จัดงาน “ลูกลมชมถ้ำช้างหาย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - “นายก อบต.นาหมื่นศรี” เผยชาวบ้านน้อยใจ ไม่มีส่วนร่วมกับจังหวัดตรังจัดงาน “ลูกลมชมถ้ำช้างหาย” ครั้งที่ 24 ชี้ความดั้งเดิมหายหมด “ลูกลม” แค่ของตกแต่งงาน “อดีตผู้ใหญ่บ้าน” ครวญกว่าจะหลอมรวมจิตใจชาวบ้านขึ้นมาได้ พ้อยุคนี้แค่มีเงินก็จัดได้

สำหรับกรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บนโลกโซเชียลจังหวัดตรัง ต่อกรณีการจัดงาน “ลูกลม ชมถ้ำช้างหาย” ระหว่างวันที่ 2-4 เม.ย.ที่ผ่านมา บริเวณทุ่งนาริมถนน เลียบคลองชลประทาน พื้นที่หมู่ 6 ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง ซึ่งแต่เดิมเป็นงานประเพณีของชาวบ้านในพื้นที่ที่มีการจัดกันอย่างเรียบง่ายในทุกปี ราวช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์-กลางเดือนมีนาคม เพราะเป็นช่วงหน้าลม หรือ “ลมว่าว” หลังการเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นประเพณีโบราณของชาวบ้านลุ่มน้ำคลองนางน้อย อันเป็นพื้นที่เกษตรกรรมโบราณที่ใหญ่ที่สุดใน จ.ตรัง รวมถึงเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์โบราณด้านพระพุทธศาสนา ในตำนานการก่อสร้างพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช โดยเป็นเส้นทางลำเลียงพระบรมสารีริกธาตุจากลังกา รวมถึงทองคำ ทรัพย์สินจินดา เพื่อนำก่อสร้างพระธาตุฯ ด้วยจิตศรัทธาของคนโบราณ จนเกิดเป็นตำนาน “ถ้ำเขาช้างหาย” ซึ่งปัจจุบันเป็นทิวทัศน์ที่สวยงามประจำท้องทุ่งแห่งนี้ โดยเล่ามาแต่โบราณว่า ระหว่างลำเลียงสินค้าไปเมืองนครศรีธรรมราช เกิดมีลูกช้างในคาราวานตื่นตกใจ วิ่งหายเข้าไปในถ้ำจนหาไม่พบ ทำให้เกิดกลายเป็นชื่อ ถ้ำเขาช้างหายในปัจจุบัน โดยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการใช้รูปแบบการจัดงานแบบจัดจ้างผู้รับเหมามาจัดงาน ทำให้ความดั้งเดิม และวิถีชาวบ้านขาดหายไป ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในหลายๆ ส่วน


ล่าสุด ยังมีภาพกลุ่มไลน์ลับ อ้างว่าเป็นกลุ่มไลน์ผู้จัดงานสนทนากับกลุ่มผู้ค้าออกร้านค้าชุมชนในดังกล่าว เกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายภายในงานจากบรรดาร้านค้าจากชุมชนต่างๆ ที่ผู้จัดงานเชิญชวนมาออกร้าน เสริมให้งานสมบูรณ์ในเชิงภาพลักษณ์งานพื้นบ้าน และชุมชน ว่าการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจิปาถะหลายรายการนั้นชอบด้วยระเบียบกฎหมายหรือไม่? และรายได้ดังกล่าวนำส่งรัฐหรือไม่? ข้อสังเกตดังกล่าว ระบุดังนี้ [1] ประมูลงานหลวงได้ไปแล้ว โดยงบประมาณจัดจ้างเพื่อจัดงาน มาจากงบพัฒนาจังหวัด (งบผู้ว่าฯ) 1,112,000 บาท เคาะประมูลได้ที่ 999,999 บาท [2] ผู้จัดชักชวนร้านค้าเครือข่าย otop และร้านค้าชุมชน 33 ชุมขนมาออกบูท โดยไม่เก็บค่าเช่า ตลอดวันงาน 2-4 เมษายน เป็นบูทเพิงมุงด้วยตับจาก ขนาด 3×3 เมตร หันหน้าเข้าเวทีใหญ่ มีโต๊ะให้ 1 ตัว (แบบโต๊ะงานเลี้ยงโต๊ะจีน แต่ต้องจ่ายเหมาตลอดงาน 400 บาท) แถมหลอดไฟให้ 1 ดวง [3] ไม่เก็บค่าเช่าก็จริง แต่ตลอดงาน 2-4 เมษายน หากบูทชุมชนไหนต้องใช้ปลั๊กไฟ ต้องจ่ายเหมาปลั๊กละ 500 บาท ภาพสลิปในสนทนากลุ่มไลน์ คือ สตรีผู้หนึ่งระบุให้โอนเข้าบัญชีส่วนตัวของบุคคลหนึ่ง เป็นบัญชีของธนาคารกสิกรไทย และมีผู้ยอมจ่าย โดยการโอนเข้าบัญชีดังกล่าว จำนวน 500 บาทตามเงื่อนไข เพราะมีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อเตรียมของขาย รายได้ตรงนี้ส่งรัฐหรือไม่? มีการออกใบเสร็จรับเงินหรือไม่? ตามระเบียบงานจ้างทำได้หรือไม่? แต่มีสลิปการโอนเงินชัดเจนแน่นอน [4] ผู้จัดรวบการขายน้ำ และน้ำแข็งในงานไว้เองหรือไม่? อาศัยอำนาจตามระเบียบใด เมื่อเป็นการรับงานจ้างจากรัฐ ไม่ใช่งานสัมปทาน และผู้ค้าต้องจองคำสั่งซื้อล่วงหน้าก่อน 15.00 น. ของวันที่ 1 เมษายน ก่อนวันงานโดยงานพิธีเปิดเริ่ม 19.00 น. ของวันที่ 2 เมษายน โดยน้ำแข็งที่นายหน้าระบุขาย ขายถึงกระสอบละ 60 บาท จากราคาตลาดแค่กระสอบละ 40 บาท [5] การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเหล่านี้สอดคล้องกับการจัดงานเพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริมภูมิปัญญาวิถีลูกลม วิถีนาหรือวิถีใคร?


ทั้งนี้ งานดังกล่าวมี นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมี นายกิจจา ไวชมภู ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง กล่าวรายงานว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวนั้นทางจังหวัดตรังได้จัดสรรงบประมาณพัฒนาจังหวัด จำนวน 1,112,000 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นสองพันบาทถ้วน) ให้สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง จัดกิจกรรมร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก และกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวถ้ำเขาช้างหาย ชุมชนนาหมื่นศรี โดยเฉพาะผ้าทอนาหมื่นศรี แหล่งท่องเที่ยว อ.นาโยง และใกล้เคียง ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวและบริการของจังหวัดตรัง หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่คลี่คลาย

ภายหลังเสร็จสิ้นการจัดงาน นายวิโรจน์ เยาว์ดำ นายก อบต.นาหมื่นศรี กล่าวว่า ความรู้สึกของคนที่อยู่ตรงกลาง ในฐานะนายก อบต.นาหมื่นศรี ค่อนข้างพูดยาก โดยชาวบ้านมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์สะท้อนการจัดงานลูกลมชมเขาช้างหาย ครั้งที่ 24 นี้ ไม่ค่อยดีนัก ซึ่งที่ผ่านมาแต่เดิมชาวบ้านใน ต.นาหมื่นศรี ได้รวมตัวกันจัดงานลูกลมมาแล้ว จำนวน 23 ครั้ง และแต่ละปีชาวบ้านจะรอคอยการจัดงานลูกลม ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดงาน ทั้งยังสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน

“แต่ครั้งนี้ทางจังหวัดตรังเป็นผู้จัด แน่นอนว่าเขาจัดงานในรูปแบบภาพรวมของจังหวัด ไม่ได้มองภาพรวมของตำบล เมื่อชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมกับงานในท้องถิ่น ชุมชนของพวกเขา จึงเกิดความน้อยใจ และนำมาซึ่งเสียงวิจารณ์กันต่างๆ นานา การจัดงานครั้งนี้แตกต่างจากการจัดงานของทุกปีที่ผ่านมา ทำให้งานขาดเสน่ห์ ขาดชีวิตชีวา ด้วยมีเหตุผล คือลูกลมที่เอาไปติดตั้งภายในงานครั้งนี้ไม่มีลมพัด จึงไม่เกิดเสียงดัง ใบพัดลูกลมไม่มีการหมุนเคลื่อนไหวใดๆ ดังนั้น ลูกลมที่แสดงในงานครั้งนี้ เป็นการติดตั้งเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น งานลูกลมใน 23 ครั้งที่ผ่านมา ทาง อบต.เป็นผู้จัดงาน ใช้งบจัดงานประมาณ 4 แสนบาท มีเพียงปี 2562 เพียงปีเดียวที่ อบต.นาหมื่นศรี ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากจังหวัดตรัง ประมาณ 1.2 ล้านบาท” นายวิโรจน์ กล่าว


นายก อบต.นาหมื่นศรี กล่าวต่อว่า ขณะที่งานลูกลมที่จัดครั้งก่อนๆ จะจัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ชาวบ้าน และ อบต.นาหมื่นศรี จะร่วมกันติดตั้งลูกลมตามแนวถนนเลียบคลองชลประทาน หรือมีลูกลมติดตั้งประมาณ 300 อัน และช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีลมแรง สามารถพัดใบพัดลูกลมให้หมุน และเกิดเสียงดังที่เป็นเอกลักษณ์ และมีเสน่ห์ สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว โดยงานลูกลมที่ อบต.นาหมื่นศรีเป็นผู้จัด จะให้ความสำคัญกับลูกลม แต่งานลูกลมที่จังหวัดเป็นผู้จัด เขาใช้ลูกลมไปตกแต่งสถานที่ และมีแบ็กดร็อปอื่นๆ มารวมอยู่ด้วย ซึ่งไม่ได้เป็นงานลูกลม 100 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่ นายสนอง หนูวงษ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านไสบ่อลึก หมู่ 7 ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโคนาหมื่นศรี ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “งานลูกลมนาหมื่นศรี เกิดขึ้นได้อย่างไรใครรู้บ้าง หัวใจสำคัญเป็นอย่างไร หล่อหลอมพลังกันแค่ไหน ต้องสื่ออะไรในความเป็นนาหมื่นศรีบ้าง แต่วันนี้ที่แน่ๆ มีเงินก็ทำอะไรได้”

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จากเว็บไซต์จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกรมบัญชีกลาง ระบุการจัดงานลูกลม ชมเขาช้างหาย ครั้งที่ 24 ซึ่งจังหวัดตรัง โดยสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง เป็นผู้จัดงาน ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เลขที่ 37/2564 ลงวันที่ 21 มกราคม 2564 เคาะราคาประมูล โดยเอกชนผู้ชนะการประกวดราคาที่ 999,999.00 บาท ในขณะที่ราคากลางอยู่ที่ 1,150,333 บาท เข้ารับจ้างเหมาดำเนินการจัดกิจกรรมการแข่งขันลูกลม ชมถ้ำเขาช้างหาย เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมนาหมื่นศรี ภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง ประจำปีงบประมาณ 2564 ตามรายละเอียดคุณลักษณะขอบเขตงาน (TOR) กิจกรรมการแข่งขันลูกลม ชมถ้ำเขาช้างหาย ซึ่งจัดกำหนดขึ้นตามวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดตรัง เพื่อประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวของจังหวัดตรัง กระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวและบริการของจังหวัดตรัง และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยวให้ จ.ตรัง เป็นเมืองคุณภาพชีวิตที่ดี และยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น