ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - TPIPP เดินหน้าโครงการสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” หลังสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ สั่งยึดมติ ครม.อย่างเคร่งครัด
วันนี้ (7 เม.ย.) นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) TPIPP เปิดเผยว่า จากที่นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” สู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการ และนายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ
นายภัคพล เปิดเผยว่า ได้สรุปผลการดำเนินงานแก่นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นที่เรียบร้อยหลังได้รับข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายอย่างครบถ้วนแล้ว นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พิจารณาขยายผลโครงการฯ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ที่มีมติเห็นชอบขยายผลสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” มติ ครม.เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รับหน้าที่ไปประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการใช้อำนาจตามมาตรา 7, 9, 10 และ 18 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารจัดการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้เร่งรัดโครงการฯ และมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 เพื่อรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเปลี่ยนสีผังเมืองให้สอดคล้องกับการพัฒนาโครงการฯ ให้เสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจ
นายภัคพล เปิดเผยว่า บริษัทฯ สานต่อโครงการอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต โดยมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนภาครัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเพิ่มการสร้างงานและรายได้ ให้ประชาชนในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยได้กำหนดแผนลงทุน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม มูลค่าลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อยกระดับอำเภอจะนะให้เป็นสมาร์ทซิตี ศูนย์กลางอุตสาหกรรมยุคใหม่ กระจายสู่อาเซียน
(1) อุตสาหกรรมสมัยใหม่และเทคโนโลยีแห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยี อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (2) เมืองอัจฉริยะ (smart city) เช่น ศูนย์กลางอุตสาหกรรมดิจิทัล ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ศูนย์การฝึกและพัฒนาอาชีพ ศูนย์กลางทางด้านการเงินทุกรูปแบบและครบวงจร ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและที่พักอาศัย (3) ท่าเรือน้ำลึกและศูนย์กลางการขนส่งและกระจายสินค้า (ทั้งระบบถนนและระบบราง) และ (4) ศูนย์อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าสะอาด เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม, พลังงานแสงอาทิตย์ และแก๊สธรรมชาติ (LNG) 3,700 MW
นายภัคพล เปิดเผยว่า ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้เพราะนักลงทุนไม่มีความมั่นใจสภาพการเมืองในภาคใต้ ไม่มีใครกล้ามาลงทุน เกิดปัญหาด้านการว่างงานทางภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และพาณิชยกรรมของภาคใต้ ผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ตกต่ำ ทำให้ไม่สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูป
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) จึงวางแผนให้เชิญชวน บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) มาลงทุนสร้างเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตที่ อ.จะนะ จ.สงขลา โดยความเห็นชอบของ ครม. ตามมติ ครม.ในปี 2562 อันประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรม เมืองอัจฉริยะและอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต รวมทั้งโรงไฟฟ้า 3,700 MW การสร้างอุตสาหกรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะสามารถสร้างงาน ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของพื้นที่และประเทศอย่างมหาศาล
นายภัคพล เปิดเผยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความมั่นคงของประเทศ จะเป็นการดับไฟใต้ได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อพื้นที่มีความเจริญ ผู้คนมีงาน มีเงิน มีรายได้ ตามนโนบาย “อยู่ดี กินดี มีสุข” ของภาครัฐ ไฟใต้ก็จะสงบลง สร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ
เป็นโครงการความมั่นคงของประเทศตามมติ ครม.ให้กระทรวงและหน่วยงานราชการทุกแห่งให้การสนับสนุน และให้ความสำคัญอย่างเคร่งครัดในการพิจารณา ให้ความสำคัญเป็นอันดับสูงสุดเหนือโครงการอื่น โดยต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงการอื่นให้เหมาะสมกับโครงการนี้
ในกรณีที่มีความขัดกันเช่น ถ้าใน PDP18 เกิดความไม่ลงตัวในความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศก็ควรเลื่อนการสร้างโรงไฟฟ้า 5,000 MW ที่ยังมีปัญหาใน ป.ป.ช.ออกไป จนกว่า ป.ป.ช.ตัดสินเรียบร้อยแล้ว และให้ความสำคัญกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามโครงการความมั่นคงของประเทศนี้มาแทนที่ไปก่อน