ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - แรงงานพม่า 20 คน ขอลาออกจะเดินทางกลับบ้านเกิดไปหาครอบครัวที่บาดเจ็บล้มตาย จากเหตุการณ์ความรุนแรงภายในประเทศ แต่ระหว่างรอนายหน้ามารับ ชาวบ้านได้แจ้งตำรวจ และฝ่ายปกครองเข้าควบคุมตัว เนื่องจากเห็นผิดสังเกต ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าทางบริษัทกลั่นแกล้งไม่ให้กลับบ้าน จึงปลุกระดมลุกฮือกันในที่พักคนงานนับพันคน
เมื่อคืนที่ผ่านมา พ.ต.อ.ศักดิ์สิทธิ์ มีแสง ผกก.สภ.คอหงส์ รับแจ้งเกิดเหตุชุลมุนขึ้นในบริเวณที่พักคนงานแรงงานชาวพม่า ซึ่งเป็นคนงานของบริษัท โชติวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋องรายใหญ่ของภาคใต้ ตั้งอยู่ริมถนนสายเอเชีย เขตเทศบาลเมืองคอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
โดยจุดที่แรงงานชาวพม่ารวมตัวกันอยู่บริเวณภายในที่พักคนงาน ซึ่งตั้งอยู่ในซอยด้านหลังบริษัท โดยมีแรงงานชาวพม่ามากกว่า 1 พันคน ต่างลุกฮือและอยู่ในอาการไม่พอใจ และส่งเสียงตะโกนเป็นระยะ หลังจากที่เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (6 เม.ย.) มีแรงงานชาวพม่าที่ขอลาออก และกำลังจะเดินทางกลับประเทศถูกควบคุมตัว จนเกิดความโกลาหลกันตามมา และทางบริษัทต้องรีบโทร.แจ้งตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้ามาช่วยระงับเหตุไม่ให้เกิดความรุนแรงบานปลายไปมากกว่านี้
ต่อมา ทางตำรวจ ทั้ง พล.ต.ต.อาชาน จันทร์ศิริ ผบก.ภ.จว.สงขลา พร้อมด้วย พ.ต.อ.กิตติชัย สังขถาวร รอง ผบก.ภ.จว.สงขลา และ พ.ต.อ.ศักดิ์สิทธิ์ มีแสง ผกก.สภ.คอหงส์ ได้นำกำลังตำรวจงานป้องกันปราบปราม และชุดควบคุมฝูงชน ทั้งของ สภ.คอหงส์ และ สภ.หาดใหญ่ รวมทั้งฝ่ายปกครองอำเภอหาดใหญ่เกือบ 100 นาย เข้ามาควบคุมพื้นที่ และเจรจากับทางกลุ่มแรงงานชาวพม่า พร้อมกับขอให้ควบคุมสติอารมณ์ และหันมาเจรจาหาทางออกร่วมกัน
พล.ต.ต.อาชาน จันทร์ศิริ ผบก.ภ.จว.สงขลา เผยว่า จากการสอบถามข้อมูลกับทั้งทางผู้แทนของบริษัท และทางกลุ่มแรงงานชาวพม่า ทราบว่า ที่บริษัทแห่งนี้มีแรงงานชาวพม่า ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาโดยถูกต้องตามกฎหมาย และทำงานมานานหลายปี ได้ขอลาออกจำนวน 20 คน โดยให้เหตุผลว่าต้องการกลับบ้านที่ประเทศพม่า เนื่องจากมีญาติพี่น้องบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ และเป็นห่วงชีวิตความเป็นอยู่ของญาติพี่น้องที่บ้านเกิดมาก พร้อมกับบอกว่ามีการติดต่อกับทางนายหน้าเอาไว้แล้ว
จากนั้นในช่วงเย็นจึงได้พากันหอบข้าวของ และทยอยกันเดินทางไปรอนายหน้าที่จุดนัดพบในพื้นที่ ต.ทุ่งลุง อ.หาดใหญ่ และมีคนงานจากที่อื่นบางส่วนมาสมทบด้วย แต่ปรากฏว่าจุดที่ไปรอนัดพบนายหน้าเป็นพื้นที่กลางชุมชน และชาวบ้านเห็นแรงงานชาวพม่ามารวมตัวกันมากผิดปกติ จึงรีบแจ้งทั้งตำรวจ และทางอำเภอให้ช่วยเข้ามาตรวจสอบ ก่อนที่จะมีการควบคุมตัว และติดต่อกับทางบริษัทให้ไปรับตัวกลับในเวลาต่อมา
แต่แรงงานชาวพม่าทั้ง 20 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเข้าใจผิด และคิดว่าทางบริษัทกลั่นแกล้งไม่ให้พวกตนเดินทางกลับบ้านเกิด และแจ้งให้ตำรวจมาจับ จึงเกิดการปลุกปั่นกันขึ้นในที่พักคนงานที่มีแรงงานชาวชาวพม่าอยู่มากกว่า 1 พันคน จนหวิดที่จะเกิดการจลาจลขึ้น
โดยภายหลังเหตุการณ์ยืดเยื้ออยู่นานเกือบ 4 ชั่วโมง ก็ได้ข้อยุติในช่วงประมาณ 01.00 น. ซึ่งได้มีการพยายามอธิบายเหตุผลให้ทางแรงงานชาวพม่าได้เข้าใจ โดยเฉพาะในประเด็นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้ประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านยังคงปิดกั้นพรมแดน และไม่สามารถเดินทางได้ในขณะนี้ พร้อมกับชี้แจงด้วยว่าการลักลอบเดินทางผ่านแดนโดยผ่านทางนายหน้านั้นผิดกฎหมาย เพราะไม่ใช่การผ่านแดนแบบปกติถูกกฎหมาย และเสี่ยงกับการติดเชื้อโควิด-19 ด้วย โดยในครั้งนี้พบว่านายหน้าเรียกเก็บเงินค่าเดินทางคนละ 5,700 บาท และมีการเคลียร์ติดต่อขอคืนเงินกลับมาให้คนละ 5,000 บาท
ด้านผู้แทนของบริษัทเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากความเข้าใจผิด แต่ยังโชคดีที่ไม่เกิดเหตุความรุนแรงไปมากกว่านี้ ซึ่งขณะนี้เหตุการณ์ทั้งหมดได้ยุติกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และไม่มีทรัพย์สินเสียหาย โดยหลังจากนี้จะมีการชี้แจงทำความเข้าใจ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องการสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อการเดินทางข้ามจังหวัด และเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด รวมทั้งการใช้ชีวิต และการทำงานที่ต้องเพิ่มมาตรการป้องกันโควิด-19 ซึ่งกลุ่มแรงงานจำนวนไม่น้อยยังไม่ค่อยเข้าใจ และคิดว่าเป็นการบีบบังคับ ซึ่งทางบริษัทยืนยันว่าได้ดูแลแรงงานทุกคนเป็นอย่างดี