xs
xsm
sm
md
lg

“บีอาร์เอ็น” คือพิษภัยความมั่นคง “เอ็นจีโอ” คือพิษภัยการพัฒนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปี 2564 บรรยากาศความรุนแรงแบบเดิมๆ เริ่มกลับมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้งแล้ว เช่น มีคาร์บอมบ์ ระเบิดถังแก๊ส ระเบิดกล่องเหล็ก และเป้าหมายอยู่ที่เจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อสูญเสียก็มีพิธีรดน้ำศพ พิธีส่งศพทหารผู้กล้า ที่สำคัญเริ่มมีคนไทยพุทธตกเป็นเป้าสังหารปรากฏให้เห็นด้วยเช่นกัน

โดยเฉพาะการเสียชีวิตของประชาชนนั้น จำเป็นต้องทำความจริงให้ปรากฏว่าเป็นเรื่องส่วนตัว หรือตกเป็นเหยื่อสถานการณ์จริงหรือไม่

ดังนั้น การที่หน่วยงานความมั่นคงมักแถลงว่าสถานการณ์ดีขึ้นมากแล้ว เรื่องนี้ต้องระมัดระวังจะไม่เป็นไปตามนั้น เพราะจริงๆ แล้วสถานการณ์ชายแดนใต้จะดีขึ้นหรือเลวลงไม่ได้อยู่ที่ความมากหรือน้อยของเหตุการณ์ แต่ที่อยู่ที่ข้อเท็จจริงในพื้นที่ต่างหาก

ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นจริง ทำไมคนไทยพุทธยังต้องทำพิธีเวียนเทียนหรือสวดศพกันตอนกลางวัน จัดงานฉลองสมรสหรือมีงานเลี้ยงก็ต้องมื้อเที่ยง คนหาของป่าทำไมยังกลัวจะกลายเป็นศพ และทำไมยังมีใบปลิวหรือแขวนป้ายผ้าเชิงข่มขู่กันเกลื่อนกลาด

ที่น่าตกใจคือ ทำไมคนไทยพุทธยังต้องยอมหยุดงานวันศุกร์ตามคำขู่ของนักรบขบวนการแย่งแยกดินแดนด้วย อย่างที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา แม้เป็นพื้นที่ชายขอบและสถานการณ์ไม่รุนแรงมานาน แต่ร้านรวงต่างๆ กระทั่งเถ้าแก่รับซื้อน้ำยางก็ยังยินยอมพร้อมใจกันหยุดกิจการในวันศุกร์ต่อเนื่องการมาแล้ว 2 ปี

เรื่องอย่างนี้ “ฉก.สงขลา” และ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” หรือกระทั่ง “ฝ่ายปกครอง” รับรู้กันหรือไม่ หากรู้แล้วทำไมจึงไม่แก้ไข แถมทำไมยังปล่อยให้บางหมูบ้านเป็นเขตอิทธิพลของ “บีอาร์เอ็น” ต่อเนื่องมานานถึง 2 ปี

หากสถานการณ์ไฟใต้ดีขึ้นจริง บีอาร์เอ็นอ่อนล้าใกล้หมดน้ำยาจริง ทำไมองค์กรต่างชาติอย่าง “เจนีวาคอลล์” และ “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)” รวมถึงบรรดา “ทูตต่างชาติ” ไม่ว่าจากอเมริกา สหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ จึงเทียวไล้เทียวขื่อทั้งในกุรงเทพฯ และในชายแดนใต้

เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ยิ่งต้องตั้งข้อสงสัยว่า แท้จริงแล้วสถานการณ์ไฟใต้ยิ่งน่ากังวลหรือไม่ เหตุผลอะไรทำให้องค์กรฝรั่งต่างชาติจึงไม่ยอมถอนกำลังออกจากพื้นที่ แต่กลับทุ่มทั้งกำลังคนและงบประมาณมากขึ้น โดยเฉพาะการแสดงบทบาทสนับสนุนด้านการสร้างสันติภาพ ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงก็มีท่าทียอมรับ

นั่นหมายความว่า ต่อไปเราจะยินยอมให้องค์กรต่างชาติเหล่านี้เป็นผู้กำหนดเกมระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นกระนั้นหรือ

ถ้ามองในมิติด้านความมั่นคงผ่านไฟใต้ระลอกใหม่ นั่นแสดงว่ากว่า 17 ปีชายแดนใต้ก็ยังไม่มั่นคงอย่างที่ต้องการ

ถ้ามองในมิติด้านการพัฒนาที่หวังใช้เป็นส่วนเสริมงานด้านความมั่นคง วันนี้ก็ยังแทบไม่เห็นโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน อันจะทำให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อนำไปสู่การสร้างความมั่นคงให้แก่คนในพื้นที่

เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า การจะให้คนชายแดนใต้ฝากอนาคตไว้กับการทำการเกษตรและการท่องเที่ยว เพียง 2 ด้านนี้ย่อมไม่เพียงพอแล้ว ยิ่งยุคสมัยที่เชื่อไวรัสโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลกต่อเนื่องมานานนับปี ยิ่งจำเป็นต้องเร่งสร้างความหลายหลายทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับโครงการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม

แต่เพียงแค่รัฐบาลคิดและประกาศว่าจะทำเท่านั้น ปรากฏว่าได้ถูกเอ็นจีโอนำชาวบ้านผู้เห็นต่างรุมคัดค้าน โดยไม่ยอมฟังเหตุและผลใดๆ แม้หน่วยงานในพื้นที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบขับเคลื่อนจะพยายามชี้แจงแล้วก็ตาม

ตัวอย่างชัดเจนคือ โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบที่ 4 ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นการต่อยอดจาก 3 เมืองต้นแบบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยตลอดระยะเวลา 2 ปีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปทำความเข้าใจประชาชน และคนส่วนใหญ่กว่า 80% ให้การสนับสนุนแล้ว

เวลานี้คนเพียงไม่กี่ร้อยคนที่คัดค้านด้วยการสร้างวาทกรรมแบบเขียนปีศาจเพื่อให้ชาวบ้านหวาดกลัว และเคลื่อนไหวประท้วงในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเอ็นจีโอไทยก็ไม่ต่างกับเอ็นจีโอต่างชาติอย่างเจนีวาคอลล์และไอซีอาร์ซีที่ถนัดการวางแผนชักใย

เพียงแต่เอ็นจีโอไทยชักใยให้มีการต่อต้านการพัฒนา ขณะที่เอ็นจีโอต่างชาติต้องการชักใยให้บีอาร์เอ็นทำการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สำเร็จ ซึ่งก็ตอบไม่ได้เช่นกันว่าสิ่งที่เอ็นจีโอทั้งไทยและเทศนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ที่ชวนหวาดหวั่นและหวาดกลัวนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่

เช่นเดียวกับเมื่อ จ.ปัตตานี ประกาศแก้ไขผังเมืองเพื่อขยายพื้นที่เขตอุตสาหกรรม เอ็นจีโอก็นำกลุ่มชาวบ้านกลุ่มหนึ่งคัดค้านแบบไม่พังเหตุและผลใดๆ เลย แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามให้ข้อมูลเพื่อชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นเพื่อตอบโจทย์การกินดีอยู่ดีของผู้คนในพื้นที่แล้วก็ตาม

ความล่าช้าในการพัฒนาด้านต่างๆ เป็นการสร้างความเบื่อหน่ายให้แก่นักลงทุน และสุดท้ายเมื่อเขาเบื่อหน่ายทั้งในระบบราชการที่ล่าช้าและการประท้วงในทุกเรื่อง นั่นจะนำไปสู่การถอนการลงทุนออกไป แล้วหันไปลงทุนในพื้นที่อื่นๆ แทน ซึ่งถือเป็นการเสียโอกาสของคนชายแดนใต้นั่นเอง

สุดท้ายคนชายแดนใต้ก็จะอยู่ในวงจรเดิมๆ อาจจะมีสวนยางคนละเล็กละน้อย แต่คนในครอบครัวจะเพิ่มมากขึ้นจนทำให้ไม่พอกิน ในพื้นที่ไม่มีการจ้างงานใหม่ๆ เพราะไม่มีการลงทุน ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม แต่กลับมีคนตกงานมากขึ้น และต้องเดินทางไปรับจ้างถึงต่างประเทศในวงจรเดิมๆ

ด้านนักเรียนและนักศึกษาที่เรียนจบหรือต้องออกจากการศึกษากลางคัน ส่วนหนึ่งอาจโชคดีได้งานทำในต่างถิ่น แต่ส่วนหนึ่งไม่มีพวก ไม่มีทุน ก็ต้องตุรัดตุเหร่อยู่ในพื้นที่ แล้วหันไปพึ่งยาเสพติดหรือไม่ก็ยอมทำงานสีเทา และสุดท้ายถ้าไม่กลายเป็นโจรก็ได้เป็นขยะสังคม เหล่านี้คือวงจรปัญหาความไม่มั่นคงในพื้นที่นั่นเอง

เมื่อมองไปที่บ้านเมืองอื่นๆ ที่เขาพัฒนาไปได้ เพราะรัฐบาลของเขาเข้มแข็ง กล้าทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ ไม่เกรงกลัวเอ็นจีโอ นักลงทุนจึงกล้าที่จะลงทุน อย่างในมาเลเซียมีทุกอย่างที่คนไทยอยากมี และบ้านเมืองเขาก็ทันสมัย ประชาชนที่บ้านเขาไม่มีใครที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรม

แต่ในบ้านเมืองเราเพียงแค่คิดแบบยังไม่ได้ทำก็มีเอ็นจีโอสร้างปีศาจมาหลอกหลอน สร้างวาทกรรมเพื่อให้เห็นว่าทุกอย่างเลวร้าย ถ้ารัฐบาลไม่เข็มแข็ง แถมยังเดินหลงทิศผิดทางทั้งในเรื่องความมั่นคงและการพัฒนา แล้วเมื่อไหร่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จะเกิดขึ้นกับชายแดนใต้ได้เล่า

เราจะอยู่กันอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ตามยถากรรมอย่างนั้นหรือ?!


กำลังโหลดความคิดเห็น