xs
xsm
sm
md
lg

ปัตตานีจัดเวทีรับฟังชาวบ้านหาทางออกการขุดลอกอ่าวปัตตานี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัตตานี - ปัตตานีจัดเวทีรับฟังชาวบ้านหาทางออกการขุดลอกอ่าวปัตตานีรอบใหม่ เพื่อแสวงหาทางออก

วันนี้ (22 มี.ค.) ที่บ้านบูดี หมู่ 4 ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ได้มีการจัดเวทีความต้องการของชาวบ้าน รับฟังปัญหากรณีสันดอนทรายจากการขุดลอกอ่าวปัตตานีอีกครั้ง หลังพบว่าการขุดลอกกลับได้รับผลกระทบตามมา จึงต้องหาทางแก้ไขปัญหาอีกครั้งเพื่อแสวงหาทางออก

โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 จังหวัด, กรมเจ้าท่าปัตตานี รองผู้ว่าราชการจังหวัด นักวิชาการ ตัวแทนชาวบ้านชาวประมงรอบอ่าวทั้ง 8 ตำบล มาร่วมรับฟัง และเสนอจากเวทีความคิดเห็นและรับข้อมูลจากประชาชนชาวประมง นักวิชาการ และเอ็นจีโอ ซึ่งครั้งนี้ได้มี นายสิระ เจนจาคะ ประธานคณะกรรมธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนร่วมสังเกตการณ์ และรับฟังปัญหาของชาวบ้านด้วย

โดยที่ผ่านมา จากการขุดลอกนั้นไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากเกิดผลกระทบตามมา ประกอบด้วย การเกิดสันดอนทรายขนาดใหญ่ ส่งผลให้เรือประมงขนาดเล็กไม่สะดวกในการออกเรือหาปลา นอกจากนี้ ระบบนิเวศอ่าวตอนในเสียหาย สัตว์เล็กสัตว์น้อยสูญหายหมด อาศัยอยู่ไม่ได้ เนื่องจากเกิดมลพิษจากตะกอนทราย การทำมาหากินลำบากมากขึ้น สัตว์ทะเล ปลา หมึก กุ้ง หอยมีจำนวนลดลง และยังมีปัญหาด้านอื่นๆ ตามมา

ทั้งนี้ การรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด กรมเจ้าท่าจังหวัดปัตตานี พร้อมรับปากกับประชาชนในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร็ว และให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายอนันต์ แก้ววิเชียร ผอ.สำนักงานพัฒนา และบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 เปิดเผยว่า เราจะแก้ปัญหาเรื่องเนินทราย เพื่อหาทางออกให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชาวบ้าน ซึ่งในเบื้องต้นได้มีการประสานงานอย่างต่อเนื่อง โดยจะนำเครื่องมือการขุดลอกในการข้นย้ายทรายออกไปบางส่วน อีกส่วนหนึ่งนำไปทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว และอีกส่วนหนึ่งจะขนย้ายไปไว้บริเวณริมชายฝั่งเพื่อให้เกิดสาธารณประโยชน์ ในเรื่องของงบประมาณเราได้ขอความอนุเคราะห์จากผู้รับจ้างเก่าให้กลับมาดำเนินการ โดยไม่ได้ตั้งงบประมาณใหม่และรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาด้วย


นายอันวา สาและ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า การจัดเวทีรับฟังปัญหาในครั้งนี้มีความชัดเจนมากขึ้น จากการลงไปฟังความคิดเห็นของชาวบ้านนั้น โดยมีข้อสรุป 4 ข้อ ประกอบด้วย

1) เขาไม่ต้องการสันดอนทราย ในเรื่องของการขุดลอกแล้วเกิดปัญหาความไม่สะดวกในการทำมากิน ซึ่งส่วนนี้ต้องไปดูว่ากรมเจ้าท่านั้นจะดำเนินการได้เร็วที่สุดเมื่อไร

2) ในเรื่องของการใช้เครื่องมือประมงแบบผิดกฎหมาย ที่เป็นเครื่องมือส่งผลกระทบต่อลูกปลาเล็กในทะเล แต่ถ้าชาวประมงใช้เครื่องมือที่ถูกต้องแล้ว จากเดิมที่เคยหาปลาได้วันละ 2,000 บาทต่อวัน วันนี้ลดลงเหลือ 200 บาทต่อวัน ในส่วนนี้รัฐจะมีการดูแลรายได้ให้ชาวประมงอย่างไรได้บ้าง และชดเชยได้อย่างไร

3) ชาวบ้านต้องการตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนในการดูแลการขุดครั้งใหม่ เช่น ชาวบ้านต้องการให้นักการเมืองระดับชาติเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ในเรื่องนี้จะต้องไปดูในข้อกฎหมายว่าจะดำเนินการได้หรือไม่และดูความชัดเจนอีกครั้งว่าอย่างไร ถ้าเป็นความต้องการของชาวบ้าน และไม่ขัดต่อกฎหมายทางเราก็ยินดี

4) การตั้งกองทุนเพื่อการดูแลเรื่องนี้ เห็นว่าเป็นทางออกหนึ่ง เพราะมีการแก้ปัญหาทั้งระยะเฉพาะหน้า ระยะกลาง และระยาว และรวมถึงการฟื้นฟูที่ค่อนข้างจะนาน จึงต้องมีกองทุนไว้เพื่อช่วยชาวบ้านต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น