xs
xsm
sm
md
lg

กรมประมงจัดเสวนาประมงท้องถิ่น จ.พัทลุงร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงทะเลสาบสงขลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พัทลุง - กรมประมงจัดงานเสวนาเครือข่ายประมงท้องถิ่น จ.พัทลุง หวังสร้างความเข้มแข็งของชุมชนประมงในพื้นที่ ร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงทะเลสาบสงขลา

วันนี้ (22 มี.ค.) ที่บริเวณอ่าวท่ายาง ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ เปิดโครงการเสวนาเครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นระดับจังหวัด และโครงการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมงท้องถิ่น ซึ่งกรมประมง โดยสำนักงานประมงจังหวัดพัทลุงได้จัดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนประมงจังหวัดพัทลุง และแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

นอกจากนั้น ได้มีการปล่อยพันธุ์กุ้งกุลาดำ 700,000 ตัว กุ้งก้ามกราม 400,000 ตัว ปลาตะกรับ (ขี้ตัง) และปลากระบอกดำ ลงสู่บริเวณทะเลสาบสงขลา รวมทั้งยังมีการมอบพันธุ์กุ้ง และพันธุ์ปลาทั้ง 2 ชนิด ให้ตัวแทนชุมชนทั้ง 20 ชุมชน ได้นำไปปล่อยในเขตอนุรักษ์และเขตสร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำของชุมชน โดยมีนายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง นายฉัตรชัย อุสาหะ รอง ผวจ.พัทลุง และนายสันติชัย รังสิยาภิรมย์ ประมงจังหวัดพัทลุง ร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในครั้งนี้

ขณะเดียวกัน ได้มีตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง และสมาคมชาวประมงรักษ์ทะเลสาบตอนกลาง จังหวัดพัทลุง เครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในพื้นที่และชาวประมงในพื้นที่ใกล้เคียง นำโดยนายอูสัน แหละหีม ยื่นหนังสือแก่นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เสนอเรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง อนุรักษ์และฟื้นฟูเพิ่มความอุดมของสัตว์น้ำ ทั้งชนิดและปริมาณในการฟื้นฟูเพิ่มพันธุ์สัตว์น้ำ ในรูปแบบที่เหมาะสมสอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ เช่น เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำชุมชน การสร้างบ้านปลาพร้อมกับสนับสนุนปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในพื้นที่ชุมชนที่มีเขตอนุรักษ์ในแต่ละพื้นที่ชุมชนละไม่ต่ำกว่า 2,000,000 ตัวต่อปี และให้สำนักงานประมงจังหวัดพัทลุง และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดจังหวัดพัทลุงร่วมกับเทศบาลตำบล หรือองค์การบริหารส่วนตำบลจัดทำโครงการสร้างโรงเพาะฟักสัตว์น้ำชุมชนให้ได้ 5 อำเภอที่มีพื้นที่ติดทะเลสาบสงขลาตำบลละ 1 จุด (1 ตำบล 1 โรงเพาะฟัก) ซึ่งรองอธิบดีกรมประมงได้รับเรื่องไว้เพื่อพิจารณาความต้องการของประมงพื้นบ้านต่อไป

ทั้งนี้ ทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่ 1,040.24 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในจังหวัดพัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช แบ่งเป็น 3 ตอน คือ ตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง โดยมีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดพัทลุง ตั้งแต่ อ.ควนขนุน อ.เมือง อ.เขาชัยสน อ.บางแก้ว และอำเภอปากพะยูน ด้วยความเป็นนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะ คือ น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย ขึ้นอยู่กับช่วงฤดูกาลส่งผลให้ทะเลสาบมีความอุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์สัตว์น้ำถึง 770 ชนิด หล่อเลี้ยงชาวประมงพื้นบ้านที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรในการดำรงชีวิตรอบทะเลสาบถึง 169 หมู่บ้าน ประมาณ 9,000 ครัวเรือน

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในทะเลสาบที่มี 3 น้ำ ทำให้สัตว์น้ำมีรสชาติที่อร่อย แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ซึ่งส่งผลให้สัตว์น้ำในทะเลสาบเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการจับสัตว์น้ำเป็นจำนวนมาก ขาดการวางแผน เน้นการจับให้ได้ปริมาณมากโดยใช้เครื่องมือทำลายล้าง ตาอวนขนาดเล็ก อวนรุน โพงพาง ประกอบกับระบบนิเวศที่มีการเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาโครงการของรัฐ เช่น การปิดปากระวะ ซึ่งเป็นการปิดทางเข้าออกของสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา ส่งผลให้ทะเลสาบสัตว์น้ำมีจำนวนลดลง

ดังนั้น กรมประมงร่วมกับชาวประมงพื้นบ้านอำเภอปากพะยูน ซึ่งอาชีพชาวประมงพื้นบ้านมากที่สุดในจังหวัดพัทลุง ร่วมบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ทะเลสาบอย่างยั่งยืน ไม่ใช้เครื่องมือที่ผิดกฎหมายทำการประมง


กำลังโหลดความคิดเห็น