ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ทช.เผยปรากฏการณ์เม่นทะเลสีแดงถูกคลื่นซัดเกยหาดป่าตอง ติดต่อกัน 3 ครั้ง เกิดจากเม่นทะเลตามมากินสาหร่ายที่สะพรั่งเต็มชายหาด ขอความร่วมมืออย่าจับกิน แต่ขอให้ช่วยนำปล่อยสู่ทะเล ตั้งคำถามปุ๋ยอาหารของสาหร่ายมาจากไหน?
จากกรณีที่เกิดปรากฏการณ์เม่นทะเลสีแดงเกยหาดป่าตองแล้วจำนวน 3 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2564 และล่าสุด เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้โพสต์ข้อความว่า “ทำไม เม่นทะเลสีแดงสดจึงเกยหาดป่าตองจำนวนมาก” ของนายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน
โดยระบุว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัย ทช. ทะเลอันดามันตอนบน เผยแพร่ภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นการสะพรั่ง (Bloom) ของสาหร่าย (Macro algae) บริเวณอ่าวป่าตอง จ.ภูเก็ต โดยสาหร่ายเหล่านี้เป็นอาหารของ "เม่นทะเล” (Sea urchin) เมื่อสาหร่ายนี้เจริญเติบโตมากๆ และถูกพัดพามาตามกระแสน้ำเข้าสู่ฝั่ง เช่นเดียวกันกับพวกเม่นทะเลที่ตามอาหาร คือ กอสาหร่ายเหล่านี้เข้ามาจนถึงเขตที่ตื้น
ปรากฏการณ์ที่พบเม่นทะเลเกยตื้นบนหาด จึงอธิบายได้ด้วยปรากฏการณ์ที่มีการสะพรั่งของสาหร่ายเหล่านี้ และประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงน้ำใหญ่ (Spring tide) ที่มีระดับน้ำขึ้นลงแตกต่างกันในระดับที่สูงมาก ทำให้เม่นทะเลขึ้นมาแล้วกลับลงไม่ทันในช่วงน้ำลง ทั้งนี้ หากพบเจอปรากฏการณ์แบบนี้ขอความร่วมมือทุกท่านไม่นำเม่นทะเลเหล่านี้ไปกิน/ทิ้ง แต่ควรช่วยส่งคืนให้พวกเขาได้กลับลงสู่ทะเล เพื่อทำหน้าที่เป็น "ผู้ทำความสะอาดท้องทะเล" ต่อไป ประเด็นที่น่าคิดคือ สาหร่ายจะสะพรั่งได้ก็ต้องมีอาหารเหมือนปุ๋ยที่เราใช้รดต้นไม้ แล้วปุ๋ยเหล่านี้มาจากไหน ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือองค์ประกอบของน้ำเสียที่เราปล่อยลงสู่ทะเลนั่นเอง