ปัตตานี - เปิดเวทีเสวนาถอดบทเรียนน้ำท่วมปัตตานี-ยะลา ในห้วงเดือนมกราคม 2564 โดยได้ข้อสรุปไว้ 13 ข้อ ขณะที่การจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการเยียวยา รวมทั้งกองทุนพัฒนารอบเขื่อนที่มีนายอำเภอเป็นประธาน จนวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้า
วันนี้ (15 มี.ค.) จากกรณีในห้วงเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เกิดเหตุภาวะน้ำท่วมใหญ่ในรอบหลายสิบปี สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง พืชสวนผลไม้ต้องยืนตาย สัตว์เลี้ยงตายเป็นฝูง สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะพื้นที่ใน 2 จังหวัดปัตตานีและยะลา ที่เกิดภาวะน้ำท่วมซ้ำซากจากการปล่อยน้ำเขื่อนบางลาง
ท่ามกลางชาวบ้านที่ไม่ได้รับทราบข้อมูลการปล่อยน้ำจากหน่วยงานรับผิดชอบ และไม่ได้มีแนวทางกันป้องกันหรือการเตรียมรับมือกับมวลน้ำอันมหาศาล ที่ไหลเข้าท่วมหมู่บ้านจนได้รับความเสียหายตามกัน จึงมีเสียงสะท้อนจากประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบให้ผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ ในการให้การเยียวยาตามเหตุและผล
ล่าสุด คณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร นำโดย แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมจัดเวทีเสวนาเพื่อถอดบทเรียนและเตรียมการรับมือภัยพิบัติในเขตลุ่มน้ำปัตตานีสายบุรี โดยมี กมธ.ปภ. นายวรเชษฐ์ พรมโอภาษ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ว่าที่ ร.ต.ตระกูล โทรธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประธาน นายชวลิต วิชิระประเสริฐ ผอ.เขื่อนรัชชประภา พ.อ.วรจิตร ศาสตร์ศิลป์ รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา นายกริยา มูซอ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ นายรอมฎอน ปันจอร์ ภัณฑารักษ์แห่งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ผช.ศ.สมพร ช่วยอารีย์ นักวิชาการอิสระ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่เข้าร่วม โดยมี คุณรอมซี ดอฆอ เป็นพิธีกรดำเนินรายการ
ส่วนบรรยากาศเวทีเข้มข้นมากขึ้น มีการถกกันเพื่อเป็นบทเรียนป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นมาอีกในสิ่งที่เราป้องกันได้ โดยเวทีในช่วงเช้าได้มีการสะท้อนถึง 1.การบูรณาการยังไม่จริงจังรัฐ-ท้องถิ่น-ประชาสังคม-นักวิชาการ-ประชาชน 2.การสื่อสาร ทั้งข้อมูลเนื้อหา ภาษา การแจ้งเตือนยังไม่ไหลอย่างเป็นระบบ 3.‘ร.อ.ด’ การรับรู้ องค์ความรู้ อาหาร data center การเชื่อมโยงข้อมูล 4.ไม่เคยมีการซ้อมแผนภัยพิบัติชาวบ้านหน้าเขื่อน 5.พื้นที่รับน้ำไม่ได้มีการวางแผน 6.สิ่งกีดขวางทางน้ำ แม่น้ำลำคลองตื้นเขิน 7.ไม่มีแผนที่น้ำท่วม 8.การบริหารจัดการน้ำแบบทางเลือก (พลังงานน้ำ พื้นที่ป่า) 9.วิชาเขื่อน วิชาน้ำ มูลค่าทางเศรษฐกิจ 10.กองทุนพัฒนารอบเขื่อนไฟฟ้า และอื่นๆ มอบหมายให้ กมธ.ตามติดต่อไป
จนกระทั่งเวทีในช่วงบ่ายที่มี นายอดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดยะลา ส.ส.กัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี ผอ.เขื่อนรัชชประภา ผอ.ชลประทานปัตตานี ยะลา ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี และผู้เข้าร่วมที่อยู่ร่วมกันจนจบสัมมนา สามารถสรุปประเด็นการแบ่งกลุ่ม 13 ข้อด้วยกัน ได้แก่
1.ต้องมีการซ้อมแผนอุทกภัยของเขื่อนบางลางที่ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมด้วยอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง รวมทั้งภัยพิบัติอื่นๆ 2.เครื่องมือ อุปกรณ์เตือนภัยการแจ้งเตือนล่วงหน้าการติดตั้งโทรมาตรในพื้นที่เสี่ยง ศูนย์เตือนภัย เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำ 3.แผนที่น้ำ คณะกรรมการบริหารน้ำตำบล ผังน้ำตำบล อำเภอ จังหวัด คณะกรรมการทั้งลุ่มน้ำ 4.ภาคีอาสาสมัครภัยพิบัติ จชต. มิสเตอร์เตือนภัย 5.สื่อสารทุกภาษา ทุกกลุ่ม ง่ายๆ เข้าใจได้
6.ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการเยียวยารวมทั้งกองทุนพัฒนารอบเขื่อนที่มีนายอำเภอเป็นประธาน จนวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องกองทุนดังกล่าว 7.หลักเกณฑ์เงินชดเชย เยียวยาให้ชาวบ้านโดยตรง อย่าผ่านผู้นำ 8.การบุกรุกป่า 9.ชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิ 10.ฝายชะลอน้ำ สระน้ำ 1 ตำบล 1 แหล่งน้ำ 11.ติดตามการประชุมของ สทนช.ภาค 4 วันที่ 7-8 มีนาคม 12.มีข้อเสนอส่วนล่วงหน้าการบริหารจัดการน้ำกรณีวิกฤต ตัวอย่างนครศรีธรรมราช และ 13.กระบวนการตัดสินใจ กลไกในการบริหารจัดการเปิดปิดการระบายน้ำ
อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามผลการดำเนินงานต่อหลังจากนี้ว่าจะสามารถผลักดันข้อเรียกร้องจากการหารือในครั้งนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรมทั้ง 13 ข้อ ได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะข้อเรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการเยียวยา รวมทั้งกองทุนพัฒนารอบเขื่อนที่มีนายอำเภอเป็นประธาน จนวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องกองทุนดังกล่าวว่าหลังจากนี้จะมีการดำเนินต่ออย่างไร