ตรัง - คณะกรรมาธิการปาล์มน้ำมันฯ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่รับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ รวมทั้งแนวทางการแก้ปัญหาปาล์มน้ำมัน จากตัวแทนเกษตรกรใน จ.ตรัง หลังพบปัญหาในหลายด้าน
วันนี้ (12 มี.ค.) ที่ศูนย์การเรียนรู้ปาล์มน้ำมันแปลงใหญ่ของ นายฉัตรชัย รัตวิวัฒน์นาพงษ์ หมู่ 6 ต.เขาปูน อ.ห้วยยอด จ.ตรัง นายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายชัยฤทธิ์ ถ่ายย้วน นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมัน จ.ตรัง โฆษกคณะกรรมาธิการฯ และคณะลงพื้นที่รับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ รวมทั้งแนวทางการแก้ปัญหาปาล์มน้ำมันจากตัวแทนเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน จ.ตรัง ตัวแทนสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมัน จ.ตรัง ตัวแทนลานเท จ.ตรัง ทั้งเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นภายในจังหวัด ความไม่เป็นธรรมในการรับซื้อปาล์มของกลุ่มโรงงานสกัด การฉวยโอกาสทุบราคา การกำหนดราคาควบคุมที่สะท้อนราคาที่แท้จริง โดยคณะกรรมาธิการฯ กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล เพื่อเร่งผลักดันการแก้ปัญหาปาล์มน้ำมันทั้งระบบ ทั้งด้านโครงสร้างราคา และนำสู่การออก พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมัน เพื่อออกเป็นกฎหมายมาบังคับควบคุมสินค้าประเภทปาล์มน้ำมันให้เกิดความเป็นธรรมต่อเกษตรกร และมีบทกำหนดลงโทษผู้ฝ่าผืนกฎหมายปาล์มน้ำมันอย่างเด็ดขาดต่อไป ดังนั้น คณะกรรมาธิการฯ จึงมีกำหนดลงพื้นที่รับฟังข้อมูลจากเกษตรกร และร่วมกำหนดแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน
ทั้งนี้ ใน พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันดังกล่าว คณะกรรมาธิการฯ จะกำหนดให้ทุกโรงมีการติดตั้งมิเตอร์ที่ถังจัดเก็บน้ำมันของโรงงานทุกถัง เพื่อป้องกันควบคุมการลักลอบนำเข้าน้ำมัน และค้าน้ำมันผิดกฎหมาย โดยที่ผ่านมา ได้มีการเข้าพบผู้ค้าน้ำมันปาล์มเถื่อนรายใหญ่ของประเทศรายหนึ่งในพื้นที่ภาคกลาง เพื่อขอความร่วมมือให้เลิกการนำเข้าน้ำมันผิดกฎหมาย ทำให้ราคาปาล์มน้ำมันขยับขึ้นมาต่อเนื่องมาเป็นระยะปีเศษแล้ว ส่วนโรงงานสกัดทุกโรงจะต้องประกาศราคารับซื้อ มีการประกาศปริมาณน้ำมันในสต๊อกรายวัน ประกาศเปอร์เซ็นต์น้ำมันรายวัน และต้องปิดประกาศกำหนดราคา ส่วนกรณีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงขึ้นจาก 18% จะต้องจ่ายคืนให้เกษตรกรจำนวนเท่าไร และประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เพื่อตรวจสอบข้อมูลปริมาณน้ำมันปาล์ม หรือตรวจสอบเปอร์เซ็นต์น้ำมันของทุกโรงงานได้ตลอดเวลา พร้อมกับมีการจัดตั้งกองทุนน้ำมันปาล์มเพื่อไว้ช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะกรณีการประกาศเปอร์เซ็นต์น้ำมันหน้าโรงงานรายวันนั้น และกำหนดราคาเพิ่มกรณีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงจาก 18% ว่าจะจ่ายคืนให้แก่เกษตรกรกี่บาทนั้น เป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตแต่ปาล์มน้ำมันที่มีคุณภาพ และลดต้นทุนการผลิต เพิ่มศักยภาพการแข่งขันกับประเทศข้างเคียง ทั้งเวียดนาม และมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหาของลานเทใน จ.ตรัง ที่รับซื้อปาล์มน้ำมันของเกษตรกรนั้น ขณะนี้จะต้องขนผลปาล์มน้ำมันไปส่งขายที่โรงงานจังหวัด จ.กระบี่ และ จ.นครศรีธรรมราช เนื่องจากได้ราคาสูงกว่า สาเหตุเกิดจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มใน จ.ตรัง ขณะนี้มีเพียง 4 โรง และหยุดดำเนินกิจการหลังราคาปาล์มปรับตัวสูงขึ้น 1 โรง คงเหลือรับซื้อปกติเพียง 3 โรงเท่านั้น ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันในการซื้อ และทำให้ขายได้ราคาถูกกว่า จ.กระบี่ และ จ.นครศรีธรรมราช เกี่ยวกับเรื่องนี้ทางคณะกรรมาธิการฯ สั่งการให้ นายปริญญา ช่วยเกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ชาว จ.ตรัง ซึ่งอยู่ในคณะกรรมาธิการฯ ด้วยนั้น ไปหาข้อมูลถึงสาเหตุที่โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มมีน้อย เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ หาทางออกต่อไป โดยเบื้องต้น เสนอให้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นชุมนุมสหกรณ์ เพื่อแก้ปัญหาการถูกกดราคาจากโรงงาน
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการฯ มีพ่อค้าลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มกี่ราย นายวีระกร กล่าวว่า แค่รายเดียวก็สามารถทำให้ราคาเกิดความผันผวนได้ ตนเองได้เข้าไปขอร้องให้หยุดการกระทำ และตักเตือนไว้แล้ว แต่ไม่มีอำนาจจับกุม และไม่ทราบว่าทำมานานแค่ไหน แต่ราคาน้ำมันปาล์มขณะนั้นตกต่ำมาก แม้ว่ารัฐบาลจะส่งเสริมให้มีการนำปาล์มน้ำมันไปใช้ในโรงไฟฟ้ามากถึง 300,000 ตันแล้วก็ตาม แต่ราคาก็ยังตกต่ำ โดยปีหนึ่งเชื่อว่านำเข้านับแสนตัน แต่หลังจากที่ตนเองเข้าไปพบ และขอร้องให้เลิก หลังจากนั้นราคาปาล์มก็พุ่งสูงขึ้นจนถึงขณะนี้ ส่วนราชการที่กำกับดูแลในพื้นที่ก็ทราบตัวตนผู้ค้ารายดังกล่าว แต่ทำนิ่งเฉย เพราะข้าราชการทำงานแบบธุระไม่ใช่ ไม่เข้าไปยุ่งดีกว่า อยู่เฉยๆ มีรายรับ เช่นเดียวกับปัญหาที่เกิดขึ้นที่ชุมนุมสหกรณ์น้ำมันปาล์มกระบี่ ที่เงินหายไปนับ 400 ล้านบาท สาเหตุเพราะบริษัทคู่ค้าในประเทศเวียดนามเป็นหนี้อยู่ 400 ล้านบาท ก็เกิดจากข้าราชการ เพราะแทนที่ข้าราชการจะไปประชุมร่วมกับกรรมการสหกรณ์ฯ ทุกเดือนตามหน้าที่ ซึ่งต้องเข้าไปตรวจสอบตัวบัญชี ให้ข้อแนะนำ กลับไม่ยอมไปประชุมเป็นปี
โดยมีข้อมูลว่า สหกรณ์จังหวัดขณะนั้นรับเงินใต้โต๊ะ พร้อมพาไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น และสร้างบ้านหลังใหญ่โตให้ ส่วนแผนฟื้นฟูชุมนุมสหกรณ์ จ.กระบี่นั้น ได้มอบหมายให้รองผู้ว่าฯ ไปคุยกับกรรมการทั้ง 11 คน ซึ่งเชื่อว่ามีส่วนร่วมกับการทุจริต ทั้งนี้ มีการตกลงกันในชั้นศาลว่ามีการผ่อนจ่ายปีละ 24 ล้านบาท แต่ตอนนี้สหกรณ์ไม่มีเงินเหลือเลย และเป็นหนี้ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างนาน 4 เดือน และลานเทปาล์ม จำนวน 13 ลาน ที่ไม่ได้รับเงิน รวมเป็นเงินกว่า 10 ล้านบาท ทั้งนี้ ถ้าทำตัวเป็นข้าราชการที่ดี การปล่อยสินเชื่อ 400 ล้านบาท คงไม่เกิด จึงเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการทุจริต โดยให้ไปคุยกันก่อนว่าเบื้องต้นให้เอาเงินคืนมาก่อน 100 ล้านบาท เพื่อให้สหกรณ์ดำเนินกิจการต่อได้ และปีต่อไปจ่ายปีละ 24 ล้านบาท แล้วเลิกแล้วต่อกัน ไม่มีการดำเนินคดี แบบนี้จะเอาไหม หรืออยากไปนอนใช้เงินในคุกตอนแก่ก็ไม่ว่ากัน
ส่วนข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ทางคณะกรรมาธิการฯ จะนำเข้าที่ประชุมเพื่อหาทางแก้ปัญหาต่อไป แต่ที่เร่งด่วนที่สุดจะเร่งรัดให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ติดตั้งมิเตอร์วัดปริมาณน้ำมันแบบเรียลไทม์ เพื่อง่ายในการตรวจสอบปริมาณน้ำมันในสต๊อก แก้ปัญหาการลักลอบค้าน้ำมันผิดกฎหมาย