xs
xsm
sm
md
lg

ปรับ ครม.! อีกวาระชี้ชะตา “ทิศทางภาคใต้” และ “ประชาธิปัตย์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย... ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

และแล้วการเมืองก็เดินเข้าสู่โหมดกำหนด “วาระภาคใต้” อย่างสำคัญยิ่งอีกคราครั้ง ไม่เฉพาะส่งผลต่อการขับเคลื่อนทิศทางพัฒนาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการชี้ชะตาอนาคตพรรคการเมืองขวัญใจบรรดาคุณเท่งคุณทองด้วย

นั่นคือการปรับ ครม.รัฐบาลบิ๊กตู่ 2/4 ภาคใต้จะมี “รัฐมนตรี” เพิ่มหรือไม่ แล้วจะทำให้ “ประชาธิปัตย์” ยิ่งเสื่อมหรือเปล่า?!

มาทบทวนกันก่อนหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ใน ครม.ที่ประกอบด้วย 35 ชีวิต แต่มีคนใต้ได้เข้าร่วมเพียง 5 คน ประกอบด้วย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม และนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย

จัดกลุ่มได้เป็น 3 จากพรรคประชาธิปัตย์ 1 จากพรรคภูมิใจไทย 1 โควตาพิเศษในฐานะเนติบริกร แต่หากจัดสัดส่วนจะได้ว่า 4 กระจุกอยู่ในภาคใต้ตอนล่างในฐานะคน จ.สงขลา มีเพียง 1 อยู่ภาคใต้ตอนบนคน จ.พังงา

ผลพวงคดีการเมือง กปปส.ที่ศาลตัดสินเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ทำให้ 3 รัฐมนตรีหลุดเก้าอี้คือ นายถาวร เสนเนียม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาฯ และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอส ส่งผลต้องปรับ ครม.ระลอกใหม่

เวลานี้โผรัฐมนตรีใหม่จำนวนหนึ่งอยู่ในกระเป๋าบิ๊กตู่เรียบร้อยแล้ว แต่ที่ต้องจับตาพิเศษคือสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ที่นัดประชุมตัดสินใจกันบ่ายสองของ 12 มีนาคม 2564

จึงเป็นที่ระทึกประเด็นหนึ่ง แรงสั่นไหวใน พรรคพลังประชารัฐ ของ ส.ส.กลุ่มด้ามขวานเพิ่งได้เพิ่มจากเลือกตั้งซ่อมที่นครศรีธรรมราช รวมเป็น 14 ตัวเลขนี้จะกดดันให้ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีต ส.ส.สงขลา และอดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ผู้เป็นเพื่อนร่วมรุน จปร.23 กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นั่งรัฐมนตรีอีก 1 เก้าอี้หรือไม่

ที่ระทึกอีกประเด็นหนึ่งคือ พรรคประชาธิปัตย์ จะส่งใครไปนั่งรัฐมนตรีแทนนายถาวร เท่าที่มีชื่อเป็นแคนดิเดต ได้แก่ 1) นายสินิตย์ เลิศไกร ส.ส.สุราษฎร์ธานี 2) นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง 3) นายประกอบ รัตนพันธ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช 4) นางกันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา 5) นายวิรัช ร่มเย็น อดีต ส.ส.ระนอง 6) นายเจือ ราชสีห์ และ 7) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง

ตามข้อบังคับพรรคกำหนดบุคคลที่จะส่งไปดำรงตำแหน่งการเมืองไว้ว่า ต้องผ่านการลงมติลับถึง 2 ขั้นตอน คือ ที่ประชุม กก.บห.เลือกก่อน แล้วส่งเข้าที่ประชุมร่วม กก.บห.กับ ส.ส.พรรค นอกจากนี้ ยังให้น้ำหนักกับ ส.ส.ปัจจุบันที่มีความอาวุโสและไม่เคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อน

แม้ชื่อชั้นนายเจือ จะถูกชงโดยนายถาวรเจ้าของตำแหน่งเดิม ส่วนนายสาทิตย์ แม้จะเป็นอดีต กก.บห.พรรค กับนายวิรัช จะมีความอาวุโสก็ตาม แต่ทั้ง 3 ก็เป็นเพียง ส.ส.สอบตก จึงเหลือเพียง 4 คนแรกให้จับตาด้วยอาวุโสเท่าเทียมกัน โดยเป็น ส.ส.มาแล้วคนละ 5 สมัย ทว่า เมื่อพิจารณาบริบทแวดล้อมประกอบ สุดท้ายน่าจะได้ชิงดำเพียง 2 คนแรกเท่านั้น

เหตุที่ต้องจับตาคู่ชิงดำเป็นพิเศษคือ นายสินิตย์ เลิศไกร ได้รับแรงสนับสนุนอย่างสำคัญยิ่งจากนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค อดีตหัวหน้าพรรค อดีตรองนายกฯ และรัฐมนตรีหลายกระทรวง ทั้งยังเป็นแกนนำกลุ่ม และ ส.ส.สุราษฎร์ธานีหลายสมัย ถึงขั้นระบุที่จะนำเรื่องนี้ไปหารือกับหัวหน้าและ กก.บห.พรรคแล้วด้วย ส่วน นายนริศ ขำนุรักษ์ มีความใกล้ชิดกับนายจุรินทร์ ผู้เป็นหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน

ความระทึกทั้ง 2 ประเด็นไม่เพียงแค่สั่นไหวต่อสถานการณ์ทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังมีผลที่จะสั่นคลอนทิศทางการขับเคลื่อนภาคใต้ในวันข้างหน้าอีกด้วย เนื่องจากแผ่นดินด้ามขวานถูกกำหนดให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ด้านการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางต่างๆ มากมายและต่อเนื่องมานาน แต่หลายสิบปีมานี้กลับแทบไม่มีนักการเมืองทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ไฟแรงที่โดดเด่นคอยชี้นำ

ต้องไม่ลืมว่าภาคใต้ถูกหว่านโปรยให้สร้างอภิมหาเมกะโปรเจกต์ไว้มากมาย ล่าสุด ถึงขั้นใช้กฎหมายพิเศษเข้าผลักดัน ตอนบนใช้ พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจกำหนดให้เป็น SEC ที่ต่อเนื่องมาจาก EEC ภาคตะวันออก ตอนกลางกำลังออก พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทองเพื่อขุดคลองไทย ส่วนตอนล่างพลิกไปหยิบเอา พ.ร.บ.ศอ.บต.มาทำเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจแจ้งเกิดเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต

มิพักต้องกล่าวถึงโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อีกมากมายมหาศาลในภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นแลนด์บริดจ์เชื่อม 2 ฝั่งมหาสมุทร ท่าเรือน้ำลึก ถนนมอเตอร์เวย์ ระบบท่อก๊าซ-น้ำมัน โรงไฟฟ้าก๊าซ-ถ่านหิน-แสงแดด-ลม-ชีวมวล เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ สัมปทานเหมือง-ระเบิดเขา ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงล้วนเป็นแค่โครงการพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาของทั้งกลุ่มทุนไทยและทุนโลกบาล

สำหรับ “วาระแห่งชาติ” ของภาคใต้เคยมีการประมวลภาพไว้ว่าน่าจะถูกพัฒนาเชื่อมโยงและส่งผ่ามข้ามระดับโลกด้วยความเป็น “ศูนย์กลางพลังงานโลก” และ “ศูนย์กลางขนส่งโลก” ซึ่งก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะเป็นจริงได้แค่ไหน

จึงไม่แปลกที่ประเด็นเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ต่อรองทางการเมืองในวาระที่จะต้องเร่งปรับ ครม.เร็ววันนี้ ในฟากฝั่ง พรรคพลังประชารัฐ กลุ่ม ส.ส.ด้ามขวานต้องการเพิ่มอีก 1 เก้าอี้รัฐมนตรีให้แก่ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล ที่นอกจากบารมีทางการเมืองแล้ว เขายังเคยร่วมเป็นแก่นแกนขับเคลื่อนอภิมหาเมกะโปรเจกต์ขุดคลองไทยมาด้วย

จึงอย่าแปลกใจที่ฟากฝั่ง พรรคประชาธิปัตย์ จะหยิบยกความเป็นกลุ่มก้อน 6 ส.ส.สุราษฎร์ธานี ที่ชนะเลือกตั้งมาแบบยกจังหวัดไปใช้ต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีให้แก่ นายสินิตย์ เลิศไกร นอกจากจะเป็นความเหมาะสมดังที่ว่าแล้ว ยังช่วยกระจายบทบาทพรรคต่อการชี้นำทิศทางการพัฒนาแบบไม่ให้กระจุกตัวอยู่แต่ในภาคใต้ตอนล่างด้วย

ถ้าประสบผลต่อไปภาคใต้ก็จะมีรัฐมนตรีเพิ่มจาก 5 เป็น 6 ที่สำคัญจะไม่เกิดการกระจุกตัวอยู่ในภาคใต้ตอนล่างเหมือนที่ผ่านมา อย่างน้อยคนภาคใต้ตอนบนก็ฉีกยิ้มเพิ่มได้ เพราะมีรัฐมนตรีชาวสุราษฎร์ธานีเพิ่มขึ้นอีก 1 จากที่ชาวพังงามีอยู่แล้ว 1 ส่วนชาวสงขลาก็จะได้ภูมิใจเหมือนเดิมว่ายังมี 4 รัฐมนตรีที่จะช่วยกันขับคลื่อนการพัฒนาบ้านเมืองต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น