xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อรัฐไทยยอมติดปีกให้ “บีอาร์เอ็น” บนโต๊ะเจรจา จน “โอไอซี” รับรองสถานะแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  

คอลัมน์: จุดคบไฟใต้/ โดย… ไชยยงค์
มณีพิลึก

  



ยังมีเหตุร้ายต่อเนื่องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล่าสุด ทหารพรานพลีชีพไปอีก 2 ศพที่ จ.นราธิวาส และ อส.ใน จ.ปัตตานี 1 ศพ อีกทั้งมีประกบยิงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เสียชีวิตอีก 1 ศพ ขณะที่คนร้ายชิงปืนพกสั้นไปด้วย 1 กระบอก ซึ่งจากการสืบสวนของตำรวจเชื่อว่าเป็นปฏิบัติการของ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ส่วนการยิงแล้วชิงปืนถือเป็นเหตุปกติของปฏิบัติการทุกครั้ง

ต่อไปนี้การฆ่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่ว่าจะทหาร ตำรวจ กองกำลังท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผรส.และ ชรบ. เพื่อปล้นชิงอาวุธปืนอาจเกิดถี่ขึ้น เพราะมีคำสั่งจาก “แกนนำ” ขบวนการบีอารเอ็น ที่ปักหลักอยู่ในฐานที่มั่นรัฐกลันตันของมาเลเซีย ให้เน้นการ “ปล้นชิงอาวุธปืน” เพื่อทดแทนปืนที่เสียหายชำรุด

ข่าวก็คือข่าว อาจจะมีทั้งเท็จ และจริง เพราะฉะนั้น หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ก็อย่าได้เห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระไปเสียทั้งหมด เพราะตราบใดที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนยังเคลื่อนไหว และยังมีฐานที่มั่นอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อคอยสั่งการให้กองกำลังติดอาวุธในชายแดนใต้ปฏิบัติการทั้งทาง “ทหาร” และ “การเมือง” อาวุธจึงยังเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะ “ปืนสั้น” ที่เหมาะกับการซุกซ่อนพกพา

โดยเฉพาะอาวุธที่อยู่ในมือของกองกำลังท้องถิ่นอย่าง “ชรบ.” ไม่ว่าจะเป็นปืนสั้นหรือปืนยาวล้วนแต่ต้องมีแผนระวังป้องกันให้ดี เพราะเปลี่ยนมือได้ง่ายที่สุด

สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจที่ต้องนำมาเขียนถึงเพื่อการขยายความคือ “เอกสารประชาสัมพันธ์” ของบีอาร์เอ็นที่ตั้งใจเผยแพร่เพื่อสื่อสารกับชาวโลก โดยพาะกับชาวมุสลิมในชายแดนใต้

เป็นการสื่อสารในวาระครบรอบ “การเจรจา” ระหว่างผู้แทนรัฐไทยกับผู้แทนบีอาร์เอ็นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ระหว่างตัวแทน 2 ฝ่าย โดยมีตัวแทนรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก

เนื้อหาเจรจาคงไม่ต้องหยิบยกมาเขียนถึงเพราะยังไม่ได้ลงลึกในสาระสำคัญ เป็นเพียงการสานต่อเหตุที่หยุดชะงักไปเป็นปีจากโควิด-19 ระบาด แม้ไม่สามารถตั้งโต๊ะพูดคุยกันได้ แต่ทั้ง 2 ฝ่ายยังพูดคุยในทางลับมาโดยตลอด และภาพวันที่ 3 กุมภาพันธ์นั่นคือการเจรจาที่ต้องการจะเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้

เชื่อว่าฝ่ายบีอาร์เอ็นต้องการให้คนทั้งโลกได้รับรู้ความเคลื่อนไหวนี้มากกว่ารัฐไทย เพราะได้ประโยชน์จากการเผยแพร่ข่าวสารไปเต็มๆ เพราะนอกจากจะได้สื่อสารกับสังคมมุสลิมทั้งในพื้นที่และระดับโลกแล้วยังส่งผลให้ องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC)
และ สหประชาชาติ (UN) รวมถึง คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) กับ เจนีวาคอลล์ ได้รับรู้ไปพร้อมๆ กันด้วย

ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เห็นการมี “ตัวตน” ที่สมบูรณ์แบบขององค์กรแบ่งแยกดินแดนที่กำลังก้าวสู่ความเป็นสากล

ถือเป็นอีกครั้งที่เอกสารเผยแพร่ถูกตีตราชัดแจ้งว่าเป็นของ “บีอาร์เอ็น” และผู้ที่อ่านแถลงการณ์ก็คือ “วาเฮะ หะยีอาแซ” ผู้เคยถูกตัดชื่อออกจากความเป็นแกนนำองค์กรเพื่อให้มาทำหน้าที่เจรจาตามความประสงค์ของรัฐไทยที่ต้องการคุยกับระดับตัวจริงเสียงจริงเท่านั้น

แต่หลังจากได้เป็น 1 ใน 6 ของตัวแทนผู้เจรจาฝ่ายบีอาร์เอ็นแล้ว เขาจะกลับไปมีอำนาจนำในองค์กรเพื่อที่จะตอบ “เยส” หรือ “โน” ในที่ประชุมขบวนการได้หรือไม่นั้น เรื่องนี้อีกไม่ช้านานก็จะรู้ได้กัน

อีกประเด็นที่บีอาร์เอ็นต้องการสื่อสารกับสังคมมุสลิมในพื้นที่และระดับโลกคือ ขณะที่รัฐบาลพยายามบอกกับคนไทยว่าเป็นกระบวนการ “พูดคุยสันติสุข” แต่ไม่เคยมีสักครั้งเดียวที่บีอาร์เอ็นไม่ใช้คำว่า “เจรจา” เพื่อสื่อแสดงว่าเป็นการ “เจรจาสันติภาพ” และเป็นเรื่องราวระดับ “สากล” ที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ

เนื่องเพราะเป็นปกติที่ทุกประเทศเมื่อมีปัญหา “แบ่งแยกดินแดน” และ “ขัดกันด้วยอาวุธ” ก็ต้องนำขึ้นสู่ “โต๊ะเจรจาสันติภาพ” มีแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้นที่พยายามสร้างวาทกรรมปลอมๆ เพื่อหลอกตัวเองและคนไทยว่าเป็นการ “พูดคุยสันติสุข” ที่ไม่มีผลต่อการยกระดับบีอาร์เอ็นไปสู่เวทีสากลโลก

อีกประเด็นสำคัญตามนัยที่บีอาร์เอ็นออกมาสื่อสารกับโลกคือ “ขอบคุณมาเลเซีย” ที่ช่วยอำนวยความสะดวกเพราะนับแต่เข้าสู่โหมดเจรจาก็ไม่เคยถูก “กดดัน” จากรัฐบาลมาเลเซียอีกต่อไป ถือว่าทั้งรัฐไทยและรัฐมาเลเซียบรรลุข้อตกลงในการ “เจราจาสันติภาพ” กันแล้ว จึงสรุปได้ว่าเกมนี้บีอาร์เอ็นมีแต่ได้กับได้

เช่นเดียวกัน เมื่อโต๊ะเจรจาเดินต่อไปได้
มาเลเซียก็จะลอยตัวเหนือปัญหาการแบ่งแยกดินแดนระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็น ไม่ต้องถูก “กดดัน” จากรัฐบาลไทยว่า ให้ที่พักพิงกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เป็นผู้บงการก่อการร้ายในภาคใต้ของไทย

ดังนั้น นับแต่นี้สิ่งที่ต้องติดตามคือ ความเคลื่อนไหวของบีอาร์เอ็นในโลกของการสื่อสารที่มีแต่จะเพิ่มสาระสำคัญมากขึ้น ส่วนในชายแดนใต้การก่อเหตุรายวันอาจจะลดลง แล้วเปลี่ยนไปเป็นสื่อสารด้วย “ป้ายผ้า” และ “ใบปลิว” รวมทั้งงานด้านไอโอต่างๆ จะมากขึ้นตามลำดับ เพื่อตอบโจทย์การเจรจาสันติภาพนั้นเอง

ที่สำคัญที่สุดวันนี้เหมือนมี “ตราตั้ง” จาก โอไอซี เป็นหลักประกันกับสังคมโลกแล้วว่า บีอาร์เอ็นคือตัวแทนของ “มุสลิมภาคใต้ของไทย” ที่มีตัวแทนเจรจาสันติภาพเพื่อการหาทางออกจากความขัดแย้งมาอย่างยางนาน

เมื่อทุกอย่างเดินมาถึงขั้นนี้แล้ว คนไทยมีแต่ต้องติดตามรัฐบาลบิ๊กตู่ กองทัพ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ว่าจะยุติหาทางความรุนแรงบนแผ่นดินไฟใต้ด้วยวิธีไหน หรือ “เจรจา” อย่างไรให้บีอาร์เอ็นยอมยุติปฏิบัติการด้วยอาวุธเหมือนห้วง 17 ปีที่ผ่านมาที่สูญเสียไปกว่า 7 พันชีวิต บาดเจ็บหลายหมื่น ไม่นับทรัพย์สินจำนวนมหาศาล

ที่สำคัญคือต้องเป็นการเจรจาสันติภาพที่จะเดินหน้าต่อไปในแบบที่ไทยจะต้อง “ไม่เสียดินแดน” ไม่เกิด “เขตปกครองพิเศษ” ตามความต้องการของบีอาร์เอ็นได้อย่างไร

แต่อย่างไรก็ตาม จากการได้ “พุดคุย” กับกลุ่มแนวร่วมบีอาร์เอ็นในพื้นที่ พวกเขากล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เรื่องการ “พูดคุย” ทั้งในพื้นที่และในต่างประเทศกับตัวแทนขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มต่างๆ ที่ผ่านมานั่นเป็นแค่ “เสื้อผ้ามือสอง” ที่ไม่มีความหมายแต่อย่างใด

ความจริงการเลือกหาเสื้อผ้ากระสอบ หรือสินค้ามือสองถือเป็นวัฒนธรรมคนใต้ไปแล้ว ส่วนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะไปตีความหมายอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง บอกได้เบื้องต้นแต่เพียงว่าอะไรที่เป็นของ “มือสอง” แทบไม่มีราคาค่างวดสักเท่าไหร่ แล้วก็มักเป็นของใช้ “แก้ขัด” เท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น