ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ลูกเต่ามะเฟืองฟักออกมาในรอบ 20 ปีของหาดกะตะ จ.ภูเก็ต รอดชีวิต 34 ตัว ปล่อยลงสู่ทะเลแล้ว ตายคาหลุม 32 ตัว นอกจากนี้ ยังมีไข่ที่ไม่ได้รับการผสมประมาณ 14 ฟอง
เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ที่บริเวณชายหาดกะตะ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ลูกเต่ามะเฟืองที่ฟักออกมาเป็นตัวในรอบ 20 ปีของหาดกะตะ ประมาณ 30 ตัว ต่างพากันเดินลงทะเล ภายหลังเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 ( สทช.10) โดยศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลจังหวัดภูเก็ต (ศอทล.ภูเก็ต) ได้ช่วยกันทำการขุดหลุมที่มีไข่ของแม่เต่าปีใหม่ซึ่งขึ้นมาวางไข่ไว้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา เนื่องจากมีการสังเกตพบการยุบของหลุมไข่เต่า ซึ่งบ่งชี้ว่าลูกเต่าฟักออกจากไข่แล้ว แต่ปรากฏว่าไม่สามารถดันตัวออกจากหลุมได้
ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยชีวิตลูกเต่าจึงจำเป็นที่จะต้องทำการขุดขึ้นมา ท่ามกลางประชาชนชาวภูเก็ตและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต มาร่วมลุ้นและเป็นกำลังใจกันเป็นจำนวนมาก โดยมี นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วย น.ส.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีฯ และผู้เกี่ยวข้องร่วมสังเกตการณ์ด้วย
นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) กล่าวว่า สำหรับไข่เต่ามะเฟืองหลุมนี้เป็นไข่ของแม่เต่ามะเฟืองที่ขึ้นมาฟักไว้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 จึงเรียกว่า “แม่ปีใหม่” ซึ่งในครั้งนี้พบว่า มีไข่ดี จำนวน 80 ฟอง โดยมีชีวิต จำนวน 30 ตัว และตายคาหลุม จำนวน 32 ตัว มีอัตราการฟักอยู่ที่ 82% และมีอัตราการรอดอยู่ที่ประมาณ 40% โดยมีตัวอ่อนที่ไม่แข็งแรงและต้องอยู่ในตู้ไอซียูหรือตู้ปฐมพยาบาลประมาณ 4 ตัว นอกจากนี้ ยังมีไข่ที่ไม่ได้รับการผสมประมาณ 14 ฟอง
นายก้องเกียรติ กล่าวด้วยว่า ปัจจัยที่มีผลทำให้มีตัวอ่อนตายมากถึง 32 ตัว เนื่องมาจากความแข็งแรงของเต่าเอง และความหนาแน่นของทราย เนื่องจากทรายบริเวณนี้จะค้อนข้างมีความหนาแน่นมาก ทำให้ลูกเต่าที่ไม่แข็งแรงไม่สามารถดันทะลุความแน่นของทรายขึ้นมาได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวอ่อนที่ไม่แข็งแรงที่ต้องอยู่ในตู้ไอซียูหรือตู้ปฐมพยาบาลประมาณ 4 ตัว ช่วงเช้าของวันนี้ (27ก.พ.) ได้มีการปล่อยลงสู่ทะเลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว