xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่มงบฯ สร้าง “รั้วกั้นชายแดนไทย-มาเลย์” เป็นเรื่องสมควรทำมานานแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




คอลัมน์: จุดคบไฟใต้/ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
 



ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีเรื่องราวให้เขียนถึงปัญหา “ไฟใต้” ที่โชนแสงระลอกใหม่มาตั้งแต่ต้นปี 2547 แม้วันนี้จะล่วงเลยมา 17 ปีแล้วก็ตาม เพราะอย่างไรเสียก็มีเหตุให้เขียนกันได้แบบอสงไขยเลยทีเดียว เนื่องจากทั้งรัฐบาลและกองทัพที่รับผิดชอบโดยตรงก็ยังไม่มีท่าทีที่ยืนยันว่าจะทำให้มอดดับได้เมื่อไหร่

แถมมาเลเซียยังยินยอมให้ใช้รัฐกลันตันเป็นฐานที่ตั้งที่มั่นคงของ บีอาร์เอ็น และเปิดทางสะดวกให้ใช้อีกหลายรัฐ เช่น ตรังตานู ปาหัง เกดะห์ เป็นต้น เป็นที่เคลื่อนไหวทั้งด้านการบ่มเพาะและระดมเงินสนับสนุนได้อย่างสะดวกของ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย ไม่ว่าจะกลุ่มใหม่และกลุ่มเก่า

ล่าสุดแม้แต่ กัสตูรี มะโกตา ผู้ขบวนการนำพูโลที่ถูกมองว่าไร้ศักยภาพ เพราะไม่มีสมาชิกติดอาวุธเคลื่อนไหวในจังหวัดชายแดนภาคใต้มานาน ยังกลับแสดงความโอหังออกมาตีเกราะเคาะไม้ว่า พร้อมจะทำสงครามแบ่งแยกดินแดนครั้งใหม่ โดยส่งกองกำลังติดอาวุธที่ชำนาญด้านเครื่องยิงระเบิดเข้ามาปฏิบัติการพื้นที่

เรื่องนี้หน่วยงานความมั่นคงไทยอาจหัวเราะก๊ากใหญ่ เพราะเห็นว่าผู้นำพูโลเคยแสดงละครถนัดแบบนี้อยู่บ่อยๆ แต่เชื่อไหมว่าในสายตาของ องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) หรือ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) หรือ เจนีวาคอลล์ กระทั่ง องค์การสหประชาชาติ (UN) กลับไม่คิดเช่นนั้น

เพราะถ้าองค์กรนานาชาติเหล่านี้มีอารมณ์อยากจะร่วมหัวเราะกับหน่วยงานความมั่นคงไทย ทำไม ไอซีอาร์ซี ยังต้องเล่นบทดิ้นรนทุกวิถีทางที่จะทำให้สามารถยังตั้งสำนักงานอยู่ในชายแดนใต้ได้อีกต่อไป เพื่อหวังจะได้สะดวกในการปฏิบัติงานเตรียมรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

วันนี้มีเรื่องที่รัฐบาลควรต้องให้ความสนใจยิ่งคือ การประชุม คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ นั่งหัวโต๊ะได้พิจารณาอนุมัติงบฯ 642 ล้านให้สร้าง “รั้ว” ชายแดนไทย-มาเลเซี และอีก 642 ล้านสร้าง “เขื่อน” กั้นแม่น้ำสุไหงโก-ลกเพิ่มเติม

ความจริงรั้วที่ชายแดนด้าน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ผู้เขียนเคยเขียนถึงมาตั้งแต่ปี 2550 เพื่อชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นต่อการป้องกันการก่อการร้าย แม้ต้องใช้ 10,000 ล้านก็สมควรทำ เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ค่อนข้างถาวร ดีกว่าทุ่มดับไฟใต้ปีละ 30,000 ล้านแบบผลาญงบฯ ไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าจะยุติได้เมื่อไหร่

แท้จริงการมีรั้วกั้นตามแนวชายแดนที่ อ.สุไหงโก-ลก อ.ตากใบ และ อ.แว้ง จ.นราธิวาส ยังช่วยแก้ปัญหาอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น การค้ามนุษย์ ยาเสพติด สินค้าหนีภาษี การค้าอาวุธ กระทั่งผู้หลบหนีเข้าเมืองที่กำลังตื่นตระหนกกันในช่วงโควิด-19 ในเวลานี้ด้วย แต่ที่ผ่านมา กลับไม่เคยคิดที่จะทำให้เป็นจริงเป็นจัง

ความจริงแล้วเรื่องความมั่นคงของประเทศอย่าได้นำเรื่อง “อัตลักษณ์” คนในพื้นที่เป็นตัวตั้ง เพราะจะกลายเป็นนำไปใช้อ้างต่างๆ นานาได้ โดยเฉพาะขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้หยิบเอาไปใช้อย่างได้ผลมาตลอด ดังนั้น การเดินหน้าดับไฟใต้เวลานี้จึงควรต้องก้าวข้ามเรื่องนี้ไปก่อน

เช่นเดียวกับที่มักอ้างเรื่อง “วิถีชีวิต” ที่ผู้คนตามแนวชายแดนเดินข้ามคลองไปมาหาสู่กันมาเป็นร้อยปีแล้วจึงไม่ควรไปปิดกั้น ทั้งที่รู้กันอยู่ว่าเป็นช่องทางให้แก่สินค้าและแรงงานเถื่อนมาตลอด และผู้ได้ประโยชน์มากกว่าชาวบ้านก็คือโจรกับเจ้าหน้าที่รัฐ

ข้ออ้างเรื่องอัตลักษณ์และวิถีชีวิตจึงกลายเป็นปัญหาที่ถูกปล่อยปละละเลยให้หมักหมมมานาน ถ้าเปรียบเป็นคนที่มีชีวิตจิตใจก็น่าจะเป็นมะเร็งร้ายเรื้อรังมานานแล้ว แต่กลับไม่กล้าที่จะรักษาด้วยการผ่าตัดเอาเนื้อร้ายทิ้งไป เวลานี้จึงทำได้แค่ใช้วิธีการรักษาตามอาการที่ปะทุให้เห็นเท่านั้น

โครงการเป็นประโยชน์ต่อการดับไฟใต้ต้องเร่งทำ ส่วนที่ไม่ตอบโจทย์ที่มีอยู่มากมายหลายโครงการ แม้จะอนุมัติหลักการไปแล้วก็สมควรต้องยกเลิก ซึ่งเท่าที่รู้เวลานี้มีการยกเลิกโครงการที่ไม่ตอบโจทย์ของ “อดีตผู้นำ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ไปบ้างแล้ว นั่นถือเป็นเรื่องถูกต้อง

ที่ผ่านๆ มามีหลายหน่วยงานใช้งบฯ กันแบบอีลุ่ยฉุยแฉกไม่ก่อประโยชน์ต่อประชาชน ตัวอย่างชัดๆ ได้แก่ โครงการไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ที่ทั้ง “พลเอก” คนหนึ่งทำไว้ หรือเสาไฟฟ้าโซลาร์เชลล์ที่ “ผู้บริหาร ศอ.บต.” ในยุคหนึ่งผลักดัน เวลานี้ล้วนแต่กลายเป็นขยะกองใหญ่ที่ประจานถึงความล้มเหลวของการใช้งบประมาณ เป็นต้น

อีกเรื่องที่จัดว่าสำคัญมากและต้องเกาะติดคือ ณ เวลานี้สำนักงาน ไอซีอาร์ซี ที่ถูกไล่พ้น จ.ปัตตานี กำลังจะได้ที่ตั้งแห่งใหม่ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งชัดเจนว่าไม่ต้องขนของกลับกรุงเทพฯ เพราะสามารถโน้มน้าวให้ พี่ใหญ่-พล.อ.ประวิตร เห็นดีเห็นงามด้วยแล้ว

จึงมีคำถามคือ อะไรการันตีว่า ไอซีอาร์ซี จะยังประโยชน์ต่อมาตรการดับไฟใต้ ในเมื่อได้เข้ามาปฏิบัติการในชายแดนใต้ตั้งแต่ปี 2559 และรายงานที่ทำส่งถึงสำนักงานใหญ่และ ยูเอ็น ก็มีแต่ “ด้านลบ” ทั้งชายแดนใต้และต่อประเทศไทยทั้งสิ้น เช่น ซ้อมทรมาน ละเมิดสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติการอาร์มคอนฟิกซ์ เป็นต้น

ในขณะที่เรื่องราวดีๆ ที่ก่อประโยชน์ต่อประชาชนที่หน่วยงานอย่าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต. ดำเนินการไว้มากมาย ไอซีอาร์ซี กลับไม่เคยสนใจหยิบยกนำไปรายงานแม้เพียงกระผีกริ้น แล้วอย่างนี้ พล.อ.ประวิตร จะหวังประโยชน์จากการให้สามารถตั้งสำนักงานไว้ในพื้นที่ต่อไปได้

ข่าวว่า กระทรวงต่างประเทศ ที่เคยดูแลรับผิดชอบหลัก เวลานี้ได้มอบหน้าที่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รับไปตัดสินใจแทนเรื่องการคงอยู่ของสำนักงาน ไอซีอาร์ซี ในชายแดนใต้แทนแล้ว จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า ในที่สุดแล้วผลของการตัดสินใจจะออกมาอย่างไร

วันนี้จึงไม่สามารถปล่อยให้ ไอซีอาร์ซี ปฏิบัติการได้อย่างอิสระชนิดอยู่เหนือการควบคุมของฝ่ายความมั่นคง หรืออยู่เหนืออธิปไตยแห่งดินแดนของไทยได้อีกต่อไป เพราะผลงานที่ผ่านมาต้องถือว่าได้ก่ออันตรายไม่แตกต่าง บีอาร์เอ็น ที่เป็นศัตรูหมายเลข 1 ของชาติเลยทีเดียว

จึงต้องจับตากันต่อไปว่า “ท่านผู้นำ สมช.” ในยุคที่มีแต่ “นายพลอกหัก” จากตำแหน่งใหญ่ๆ ในกองทัพได้ถูกส่งมานั่งบริหารจะมีน้ำยาแค่ไหนในการต่อกรกับ “ไอซีอาร์ซี” ที่ก็มีแบ็กระดับ “นายพลเกษียณ” เป็นที่ปรึกษา แถมยังมี “ชาติมหาอำนาจ” คอยให้การหนุนหลังอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น