xs
xsm
sm
md
lg

ปังปุริเย่ ! อานิสงส์โควิด-19 แม่เต่ามะเฟืองพาเหรดขึ้นวางไข่ทุบสถิติของทุกปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ปังปุริเย่ ยุคโควิด-19 ระบาด ธรรมชาติฟื้นฟู แม่เต่ามะเฟืองพาเหรดขึ้นวางไข่ พังงา-ภูเก็ต ทุบสถิติทิ้งห่างไม่เห็นฝุ่นของทุกปี แนวโน้มยังมาอีก ขณะที่ลูกเต่าทยอยฟักออกจากรังคลานกลับลงทะเลแล้วจำนวนมาก


ปีนี้นับเป็นปีทองของการขึ้นมาวางไข่ของแม่เต่ามะเฟืองในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และพังงา หลังจากที่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาด ทำให้นักท่องเที่ยวที่เคยมาเที่ยวตามชายหาดหายไปเกือบหมด แต่ในความโชคร้ายของคน ก็เป็นความโชคดีของธรรมชาติที่ได้ใช้โอกาสนี้ในการฟื้นฟูตัวเองให้กลับมาสวยงามและสมบูรณ์อีกครั้ง รวมทั้งแม่เต่ามะเฟือง ที่ใช้ความเงียบสงบของชายหาดเป็นแหล่งวางไข่ ต่างก็พากันขึ้นมาวางไข่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงปีที่ผ่านมา และปีนี้ถือว่าปังมากๆ


ในช่วงฤดูวางไข่ปีที่ผ่านมา แม่เต่ามะเฟืองทำลายสถิติการขึ้นวางไข่มากที่สุดในรอบ 10 ปีมาแล้ว โดยมีแม่เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่มากถึง 13 รัง มีลูกเต่าฟักเป็นตัวว่ายน้ำกลับลงทะเลจำนวนมาก แต่ปีนี้ปังยิ่งกว่า เมื่อพบว่ามีแม่เต่ามะเฟืองพาเหรดขึ้นมาวางไข่จนถึงตอนนี้มากถึง 18 รัง โดยแม่เต่าตัวหนึ่งสามารถขึ้นวางไข่ได้หลายรัง จนถึงขณะนี้มีลูกเต่าลืมตาดูโลกแล้วจำนวนหลายรัง ขณะที่แม่เต่าก็ยังพาเหรดขึ้นวางไข่อย่างต่อเนื่อง หรือนี่คือการกลับมาทวงคืนความเงียบสงบของธรรมชาติที่เคยถูกมนุษย์บุกรุกเข้ามาใช้ประโยชน์ รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ธรรมชาติที่เคยถูกทำลายด้วยการท่องเที่ยวได้กลับมาฟื้นฟู ชายหาดเงียบสงบ หลังนักท่องเที่ยวไม่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว แม่เต่าที่พร้อมจะวางไข่ไม่ถูกรบกวนทั้งจากคนและแสงไฟจากโรงแรมต่างๆ เหมือนในอดีตที่ผ่านมาก่อนที่การท่องเที่ยวจะเจริญและเติบโตอย่างรวดเร็ว


ในอดีตประเทศไทยมีประชากรเต่าทะเลเป็นจำนวนมาก เต่าทะเลวางไข่ตลอดแนวชายหาดของประเทศ มีการใช้ประโยชน์จากเต่าทะเลในหลายๆ ด้าน เช่น ใช้เนื้อและไข่เป็นอาหาร กระดองนำไปเป็นเครื่องประดับและเครื่องตกแต่ง นอกจากนั้น มีการเปิดประมูลเก็บฟองไข่เต่าทะเลเพื่อการค้า โดยผู้ประมูลสามารถเก็บไข่เต่าทะเลนำไปขาย โดยมีเงื่อนไขในการนำไข่เต่าทะเล 20% ไปเพาะฟักเพื่อปล่อยกลับลงสู่ทะเล อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขดังกล่าวไม่สามารถชดเชยประชากรในธรรมชาติได้ เนื่องจากอัตรารอดของลูกเต่าทะเลในธรรมชาติน้อยมาก เต่าทะเลจึงลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับปัญหาจากการติดเครื่องมือประมง เช่น อวนลาก ซึ่งเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้จำนวนรังไข่เต่าทะเลลดลงจากประมาณ 2,000 รัง ในปี พ.ศ.2500 เหลือเพียงไม่เกิน 500 รัง หรือประมาณ 20% เมื่อเทียบกับสถิติการวางไข่ในปี พ.ศ.2535


หลังจากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างรวดเร็วในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ชายหาดซึ่งเคยเป็นแหล่งวางไข่เต่าทะเลถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการก่อสร้างโรงแรม บ้านเรือนริมชายฝั่ง มีกิจกรรมในบริเวณชายหาดหลากหลาย นอกจากนั้น ยังมีการเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติของชายหาด ทำให้สูญเสียศักยภาพการเป็นแหล่งวางไข่เต่าทะเล และส่งผลให้จำนวนรังไข่เต่าทะเลลดลงอย่างต่อเนื่อง


ปัจจุบันเหลือพ่อแม่พันธุ์เต่ามะเฟืองมาผสมพันธุ์และวางไข่ในประเทศไทยปีละไม่ถึง 10 ตัว โดยสถิติการวางไข่เต่ามะเฟืองลดลงจาก 250-300 รังเหลือเพียง 10-20 รัง ลดลงมากกว่า 95% ในช่วงเวลา 50 ปี ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่น้อยลงก็เนื่องจากการการท่องเที่ยว โดยมีแหล่งวางไข่ที่สำคัญบริเวณชายหาดของแผ่นดินใหญ่ฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดพังงา และภูเก็ต


กำลังโหลดความคิดเห็น