กลุ่มช่างภาพถ่ายนกทั่วประเทศได้เฮ หลังจาก “นกแต้วแล้วลาย” ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีพังงา ท้องที่ อ.คุระบุรี และ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ได้ออกมาหากิน จับคู่เพื่อทำรังวางไข่ในฤดูผสมพันธุ์ ทำให้ช่างภาพสายถ่ายนกทั่วประเทศต่างเดินทางมาเก็บภาพนกแต้วแล้วลายที่ออกมาอวดโฉม สีสันสวยงาม ให้บรรดาช่างภาพได้เก็บไว้เป็นความประทับใจ ภายในป่าธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติศรีพังงา
“นกแต้วแล้วลาย” เป็นนกประจำถิ่น พบได้เฉพาะในป่าดงดิบทางภาคใต้ของประเทศไทย และกระจายเป็นหย่อมๆ ในประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย นกแต้วแล้วลาย ขนาด 21-24 เซนติเมตร เป็นนกแต้วแล้วขนาดกลาง ตัวผู้และตัวเมียต่างกัน แต่สวยงามกันคนละแบบ คิ้วสีเหลืองสดขับเน้นปลายคิ้วด้วยสีแดงชาด กระหม่อมคาดแถบดำ คอขาวแบบปุยหิมะ ใบหน้าเข้มดุดันด้วยแถบดำคาดตาด สีข้างลาย และปีกสีน้ำตาล คาดด้วยแถบขาวยาวตลอดแนวโดดเด่น และหางสีฟ้า ตัวผู้ต่างจากตัวเมียที่อก และท้องเป็นสีน้ำเงินเข้ม ไม่มีลาย ลูกนกคล้ายตัวเมีย แต่สีจืดชืดกว่ามาก
การสร้างรังจะสร้างเหนือพื้นดิน ซึ่งอาจจะสูงถึง 3 เมตรจากพื้น รังซุกตามง่ามไม้กลุ่มปาล์ม เช่น หวาย นกใช้รากไม้ และกิ่งไม้แห้งขัดสานเป็นโครง แล้วบุด้วยใบไม้แห้ง ตัวเมียวางไข่ 3-4 ใบ ซึ่งหากอยากจะเห็น “นกแต้วแล้วลาย” อัญมณีเม็ดงามตัวนี้ สามารถลองไปเดินดูนกตามเส้นทางในเขตอุทยานแห่งชาติศรีพังงา จ.พังงา กันได้เลย