ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – พนักงานสอบสวนเรียกพ่อของเด็กเข้าให้ปากคำเพิ่ม นำเด็กชี้จุดที่เคยพบกับ “ผอ.ร.ร.เทพา” ด้านแม่นำหลักฐานการแชตกับลูกสาวไปให้ตำรวจ ผู้การภาค 9 ยันเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา แม่เผยเคยเจรจากับ ผอ.ร.ร.เทพาแล้วก่อนแจ้งความไม่เอาเรื่องให้ลาออกแต่ไม่เป็นผล
ความคืบหน้ากรณี นายสายัณร์ ชาลีผล อายุ 60 ปี ผู้อำนวยการโรงเรียนเทพา ใน อ.เทพา จ.สงขลา ชักอาวุธปืนออกมาหน้าเสาธง คาดมาจากปัญหาส่วนตัวที่มีความสัมพันธ์กับนักเรียนหญิง หลังจากที่แม่ของเด็กได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจ สภ.เทพา ซึ่งทำให้มีคำสั่งย้ายไปช่วยราชการที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 16 ชั่วคราวระหว่างการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงนั้น
วันนี้ (5 ก.พ.) แม่ของเด็กคนดังกล่าว เปิดเผยว่า จากการพูดคุยกับลูกสาวบอกว่ามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ ผอ.คนนี้จริงและหลายครั้ง หนึ่งในนั้นเกิดขึ้นที่บ้านพัก ผอ.ภายในโรงเรียน ซึ่งความสัมพันธ์เริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และลูกสาวก็บอกว่าชอบพอกับ ผอ.จากความใกล้ชิด และที่ผ่านมา ผอ.ยังให้เงินใช้ด้วย
“เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ได้เข้าไปพูดคุยกับ ผอ.คนนี้ที่โรงเรียนแล้ว เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง แต่ ผอ.ก็ปฏิเสธตลอดว่าไม่ได้มีอะไรกัน ซึ่งสวนทางกับที่ลูกสาวบอก และที่ไปพบก็เพื่อที่จะให้ ผอ.แสดงความรับผิดชอบโดยให้ลาออกจากการเป็น ผอ.และให้ออกไปจากพื้นที่เท่านั้น ไม่ได้ต้องการเรียกร้องเงินหรือค่าเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น แต่ ผอ.กลับปฏิเสธไม่ยอมรับ จึงต้องเข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีจนถึงที่สุดโดยไม่ยอมความ”
ด้านการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ พนักงานสอบสวนได้เรียกพ่อของเด็กเข้าให้ปากคำเพิ่มเติม และนำผู้เสียหายไปชี้จุดต่างๆ ที่เคยพบกับนายสายัณร์ แต่ไม่มีการเปิดเผยในรายละเอียดว่าที่ใดบ้าง นอกจากนี้ แม่ของเด็กได้นำหลักฐานข้อความการแชตระหว่างนายสายัณร์ และผู้เสียหายไปมอบให้แก่ตำรวจ
พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เปิดเผยว่า คดีนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐาน รวมทั้งผลตรวจจากโรงพยาบาลว่า เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือไม่ และให้ทีมสหวิชาชีพเข้าสอบปากคำผู้เสียหาย และเรื่องของอาวุธปืนที่ได้ดำเนินคดีเช่นกันในข้อหาพกพา ซึ่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ไปยังบ้านพักของผู้เสียหายเพื่อช่วยเหลือเยียวยา ทั้งตัวเด็กและครอบครัว รวมทั้งมีการจัดนักจิตวิทยามาดูแลสภาพจิตใจของเด็กที่เป็นผู้เสียหาย ซึ่งสำคัญที่สุด