xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย มอ.คิดค้น “เครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ” พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต – นักวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คิดค้น เครื่องผลิตกรดไฮโปคลอรัสและไฮโปคลอไรด์สำหรับฆ่าเชื้อ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคม

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปจึงมีความต้องการใช้แอลกอฮอล์ในการฆ่าเชื้อเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาแอลกอฮอล์พุ่งสูงขึ้น และไม่เพียงพอต่อความต้องการ นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้พัฒนานวัตกรรม “เครื่องผลิตกรดไฮโปคลอรัสและไฮโปคลอไรด์สำหรับฆ่าเชื้อ” ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อนำไปใช้ทดแทนแอลกอฮอล์ในการฆ่าเชื้อโควิด-19 สามารถฆ่าเชื้อได้ทุกสภาพพื้นผิว และมีความปลอดภัย โดยอาศัยน้ำและเกลือ


รศ.ดร.วรากร ลิ่มบุตร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ได้ดำเนินการงานวิจัยเครื่องผลิตกรดไฮโปคลอรัสและไฮโปคลอไรด์สำหรับฆ่าเชื้อ ร่วมกับนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กว่า 10 คน โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี ในการดำเนินการ ภายใต้สโลแกน “น้ำยาฆ่าเชื้อไม่ได้มีเพียงเอทานอล” ซึ่งใช้องค์ความรู้จากวิชาเคมีไฟฟ้าในการผลิต ประชาชนทั่วไปสามารถผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อจากเครื่องเองได้ และยังได้ร่วมกับผู้ประกอบการพัฒนาเครื่องผลิตกรดไฮโปคลอรัสและไฮโปคลอไรด์สำหรับฆ่าเชื้อที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งได้แถลงข่าวเปิดตัวความสำเร็จ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา

สำหรับหลักการทำงานของ “เครื่องผลิตกรดไฮโปคลอรัสและไฮโปคลอไรด์” จะเกิดขึ้นเมื่อจ่ายศักย์ไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าให้แก่ขั้วไฟฟ้า แผ่นวัสดุนำไฟฟ้าขั้วแอโนด (ขั้วบวก) ที่จุ่มอยู่ในภาชนะบรรจุสารละลายเกลือแกง จะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันที่บริเวณผิวหน้าได้ผลิตภัณฑ์เป็นกรดกรดไฮโปคลอรัส ที่มีพีเอชอยู่ในช่วง 4.0 ถึง 6.5ซึ่งมีลักษณะเป็นกรดอ่อน มีค่า Oxidation–Reduction potential สูง สำหรับแผ่นวัสดุนำไฟฟ้าขั้วแคโทด (ขั้วลบ) ที่จุ่มอยู่ในขวดบรรจุสารจะเกิดปฏิกิริยารีดักชันที่บริเวณผิวหน้าได้ผลิตภัณฑ์เป็นโซเดียมไฮดรอกไซด์ ซึ่งมีพีเอชอยู่ในช่วง 8 ถึง 14


นอกจากนี้ ยังมีการบริการวิชาการถ่ายทอดองค์ความรู้จากการวิจัยสู่ชุมชนและสังคม ทั้งหน่วยงานราชการและโรงเรียนต่างๆ ใน 9 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ การถ่ายทอดองค์ความรู้ “อุปกรณ์ผลิตกรดไฮโปคลอรัสสำหรับฆ่าเชื้อโรคด้วยตัวเอง” แก่กองร้อยกองบังคับการกองพลพัฒนาที่ 4 ค่ายรัตนพล อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา, การถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการ, การถ่ายทอดองค์ความรู้ “ค่ายคุณธรรมและจริยธรรม SMTE” แก่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

การถ่ายทอดองค์ความรู้ “เครื่องผลิตกรดไฮโปคลอรัสสำหรับฆ่าเชื้อโรคแบบใช้ในครัวเรือน” ณ โรงเรียนส่งเสริมศาสนาวิทยามูลนิธิ (เกาะหมี) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา, การถ่ายทอดองค์ความรู้ ตอนกระตุ้นต่อมคิด สาธิต วอส. ในกิจกรรมสาธิต วอส. พบนักวิทย์ ให้กับนักเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ณ คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และการถ่ายทอดองค์ความรู้ ตอนมหัศจรรย์แห่งเคมีไฟฟ้า ให้กับนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จังหวัดสตูล พร้อมกันนี้ ยังได้มอบเครื่องผลิตกรดไฮโปคลอรัสและไฮโปคลอไรด์สำหรับฆ่าเชื้อ แก่หน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป


รศ.ดร.วรากร ลิ่มบุตร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวต่ออีกว่า การนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดแก่นักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ทำให้นักเรียนได้เล็งเห็นว่าองค์ความรู้ที่ได้จากห้องเรียนนั้นสามารถนำไปสู่นวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์จริงได้ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนแก่เยาวชน ซึ่งองค์ความรู้ในห้องเรียนนอกจากจะสามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์แล้ว ยังสามารถใช้ประโยชน์ในเชิงวิชาการได้อีกด้วย ทั้งนี้ ในอนาคตจะร่วมกับผู้ประกอบการในการต่อยอดและพัฒนาน้ำยาฆ่าเชื้อไฮโปคลอรัสและไฮโปคลอไรด์ เพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น

“รู้สึกภูมิใจ ประทับใจ และตื้นตันใจ ที่สามารถนำองค์ความรู้เล็กๆ จากห้องเรียน มาเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ ทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจ จนได้ผลงานที่สามารถทำคุณประโยชน์ได้ทุกมิติ ทั้งในการเรียนการสอน ชุมชน สังคม และสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้” รศ.ดร.วรากร ลิ่มบุตร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวทิ้งท้าย






กำลังโหลดความคิดเห็น