ยะลา - ศอ.บต.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมเร่งแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ปีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
วันนี้ (29 ม.ค.) ที่ห้องประชุมน้อมเกล้า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานการประชุมพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี นายอิสระ ละอองสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ตลอดจนผู้แทนจากสถาบันการศึกษา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันวิจัยยาง ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาอาพืช สถานีพัฒนาที่ดิน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม รวมทั้งได้มีการประชุมผ่านระบบ Zoom กับหน่วยงานในสังกัดซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและเกี่ยวข้องในเรื่องยางได้ร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
สืบเนื่องจากการระบาดของโรคใบร่วงยางพารา เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อคอลเลตโตริกัม (Colletotrichum Leaf Disease) ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากผลผลิตยางพาราน้อยลง เกษตรกรไม่สามารถป้องกันรักษาการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราด้วยตนเอง ศอ.บต. จึงได้จัดการประชุมหารือในครั้งนี้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางในการแก้ไขปัญหา และหาสาเหตุของการเกิดโรคระบาด ตลอดจนหาวิธีการยับยั้งไม่ให้โรคระบาดนี้กระจายเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ศอ.บต. จะเป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกันกับทุกภาคส่วน
นายกฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และเกิดการร่วงอย่างรุนแรงในยางพารา พื้นที่การแพร่ระบาดขณะนี้เกิดขึ้นใน 5 ประเทศ โดยประเทศอินโดนีเซียหนักที่สุด ประเทศไทยอยู่อันดับ 2 ในส่วนของสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการ 3 มาตรการหลักเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประกอบด้วยมาตรการป้องกัน โดยได้ให้ความรู้แลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ รวมทั้งจะอบรมพนักงาน เกษตรกร และผู้เกี่ยวข้อง จัดทำและแจกจ่ายเอกสารแผ่นพับ ด้านการศึกษาวิจัยได้มีการสำรวจและติดตามพื้นที่เกิดโรค ศึกษาหาเชื้อสาเหตุ และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มาตรการเผชิญเหตุและการยับยั้งเชื้อรวมถึงมาตรการแก้ไขหรือฟื้นฟู ได้มีการปรับปรุงพันธุ์ยางพาราต้านทานโรคใบร่วงชนิดใหม่อีกด้วย
ด้าน พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เผยว่า วันนี้ทาง ศอ.บต. ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การยางแห่งประเทศไทย สถาบันการศึกษาในพื้นที่และจังหวัดทั้ง 5 จังหวัด หน่วยงานในจังหวัด ส่วนงานของสภาเกษตรรวมทั้งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาโรคระบาดใบร่วงในยางพารา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการระบาดอย่างหนักและรุนแรง เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2562 และปี 2563 ทั้งปี ขณะนี้ในพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาสมีการระบาดเข้ามาแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่การทำสวนยางได้รับผลกระทบ 770,000 ไร่ จาก 900,000 ไร่ของยางพาราในจังหวัดนราธิวาส เพราะฉะนั้นผลกระทบค่อนข้างรุนแรง โดยในพื้นที่ที่มีการระบาดปริมาณน้ำยางลดลงประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งประชาชนในพื้นที่ 70-80 เปอร์เซ็นต์ เป็นพี่น้องเกษตรกรที่ทำสวนยางหรือกรีดยาง
วันนี้ทุกภาคส่วนจึงเร่งหาทางแก้ไข โดย ศอ.บต. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การยางแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ร่วมมือกันชี้แจงในการวิเคราะห์หาเชื้อ ได้ตรวจพบอะไรบ้าง พบปัจจัยอะไรที่ทำให้การระบาดมันขยายตัว และพบแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างไร และจะนำไปสู่ประเด็นต่อไปคือ ในระยะสั้นเร่งด่วนต้องทำอย่างไร เบื้องต้น ทางสถาบันวิจัยยางจะร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยที่ได้ทำการวิจัยสารชีวภัณฑ์ จะนำไปขยายผลหลายพื้นที่ รวมทั้งร่วมมือกันใช้สารเหล่านี้เพื่อให้เกิดการยับยั้งโรคให้เร็วที่สุด
ในส่วนระยะยาว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งจัดหางบประมาณต่างๆ มาเพื่อบำรุงรักษา ซึ่งจำเป็นต้องฟื้นสภาพโดยเร็ว รวมทั้งปรับเปลี่ยนเทคนิคกระบวนการทำสวนยาง รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจะร่วมกันอย่างสุดความสามารถที่จะยับยั้งและฟื้นฟูสภาพให้เร็วที่สุด โดย ศอ.บต. จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยง หนุนเสริมและเติมเต็ม