xs
xsm
sm
md
lg

มติเอกฉันท์ชาวบ้านไม่เอา “สันดอนทราย” ในอ่าวปัตตานี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

    


โดย... อัลอามีน
มะแต และ ดร.อลิสา หะสาเมาะ

     


บริเวณที่ทิ้งตะกอนทรายจากการขุดลอก ซึ่งเกิดเป็นสันดอนทรายใหม่กลางอ่าวปัตตานีตามเส้นสีแดง
จากการที่คณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สำนักกรรมาธิการ 3 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยการสนับสนุนจาก พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ได้จัดทำโครงการศึกษาเรื่อง “สำรวจความต้องการสันดอนทราย จากโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี” โดยลงพื้นที่สำรวจจัดเก็บข้อมูลและประมวลผลตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค.2563 แล้วประมวลผลเสร็จเมื่อวันที่ 18 ม.ค.2564 นั้น

ผลสรุปที่ได้จากโครงการนี้พบว่า ชาวบ้านในชุมชนที่ตอบแบบสอบถาม จำนวน 315 คน ประกอบอาชีพประมง 100% ปรากฏว่าทั้งหมด 100% ไม่ต้องการสันดอนทราย โดยต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบด้วยการนำกองทรายซึ่งเกิดจากวัสดุขุดลอกไปทิ้งนอกอ่าวไทย

“สันดอนทราย”
มีที่มาที่ไปอย่างไร


สำหรับโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานีเพื่อแก้ปัญหาการตื่นเขินเกิดขึ้นจาก 2 หน่วยงานคือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต.เริ่มศึกษาความเป็นไปได้มาตั้งแต่ปี 2558 ต่อมาได้ชงเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ครั้งที่ 1/2560 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหมสมัยรัฐบาล คสช.เป็นประธานพิจารณา

ปรากฏว่า ที่ประชุม คปต.มีมติเห็นชอบในหลักการและอนุมัติงบกลางปี 2560 ตามแผนบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจภายในประเทศ ตามที่กรมเจ้าท่าทำเรื่องเสนอเป็นเงิน 664,994,414 บาท โดยมอบหมายให้คณะทำงานชุดที่มี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้แทนพิเศษรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
(ผทพ.) รับไปดำเนินการตามการร้องขอจากชาวบ้านให้แก้ไขปัญหาเรื่องความตื้นเขินของอ่าวปัตตานี

“อ่าวปัตตานี”
ตั้งอยู่ที่ไหน


“อ่าวปัตตานี” ตั้งอยู่ตอนเหนือของ จ.ปัตตานี มีพื้นที่ 74 ตร.กม. ปากอ่าวเปิดออกสู่อ่าวไทยทางทิศตะวันตก ด้านเหนือจดแหลมโพธิ์ หรือแหลมตาชี ซึ่งเป็นสันทรายยื่นออกไปในทะเลยาว 16 กม. โดยแม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำยะหริ่ง ไหลที่ลงสู่อ่าวปัตตานี ได้พัดพาตะกอนมาทับถมภายในอ่าวทำให้ค่อนข้างตื้นเขิน

มีประชาชนอาศัยอยู่โดยรอบและได้ใช้ประโยชน์จากอ่าวปัตตานีมากกว่า 50,000 คน ประกอบด้วย 8 ตำบลใน 2 อำเภอ คือ ต.แหลมโพธิ์ ต.ตะโละกาโปร์ ต.ยามู ต.บางปู อ.ยะหริ่ง ต.บาราโหม ต.ตันหยงลุโละ ต.บานา ต.รูสะมิแล อ.เมืองปัตตานี ทั้งหมดประกอบอาชีพหลักประมงพื้นบ้าน ทั้งที่ใช้เรือยนต์และไม่ใช้เรือยนต์

“วัสดุจากการขุดลอก” ทิ้งที่ไหน อย่างไร

โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานีเริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียช่วง เม.ย.2560 ถึงกลางปี 2562 ผลการทำประชาคมได้ข้อสรุปว่าวัสดุที่ได้จากการขุดลอกกว่า 11,082,700 ลบ.ม. จะถูกนำไปจัดการ 4 แนวทาง คือ 1) นำออกไปทิ้งในทะเลอ่าวไทยที่ระดับน้ำลึกไม่ต่ำกว่า 15 ม. ห่างจากอ่าวปัตตานีประมาณ 9 กม. 2) นำไปทิ้งบนฝั่ง 3) นำไปทิ้งริมอ่าวปัตตานี และ 4) นำไปเสริมชายหาด

แต่ข้อเท็จจริงที่ได้จากการลงสำรวจภาคสนามพบว่า ผู้รับเหมาและกรมเจ้าท่าไม่ได้นำวัสดุจากการขุดลอกไปทิ้งตามกำหนด โดยรวมมีการนำไปทิ้งทะเลอ่าวไทยเพียงบางส่วน และนำไปทิ้งบนฝั่งเพียงจุดเดียวคือ ส่วนที่ขุดลอกจากร่องน้ำชุมชนบ้านลาโจ๊ะกู นำไปถมนากุ้งร้างของอดีตกำนัน ต.แหลมโพธิ์ สำหรับปริมาณส่วนใหญ่นำไปทิ้งกลางอ่าวปัตตานี และตามแนวบริเวณข้างๆ ร่องน้ำที่ขุดเป็นจุดย่อมๆ ทั้งที่อยู่เหนือผิวน้ำและใต้น้ำ

ปรากฏว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ที่มีการทิ้งตะกอนจากการขุดลอกอ่าวปัตตานีจำนวนมากไปทั้งนั้นกลับกลายเป็นแหล่งทำกินของชาวบ้าน รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำด้วย ทำให้บริเวณนั้นเกิดการตื้นเขิน ซึ่งมีหลักฐานชี้ชัดที่สามารถเห็นได้ด้วยสายตาตามภาพประกอบที่ 1

ข้อมูลน่าสนใจที่ได้รับจากพื้นที่

สำหรับผลสรุปที่ได้จากการสำรวจมีดังนี้ ชาวบ้านที่ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 315 ราย ส่วนใหญ่อยู่ใน ต.แหลมโพธิ์ 237 ราย รองลงมา ต.ตันหยงลุโละ 26 ราย ต.บางปู 24 ราย ต.บาราโหม 12 ราย ต.บานา 9 ราย และ ต.ตะโละกาโปร์ 7 ราย เฉลี่ยอายุ 48 ปี ทุกคนล้วนมีอาชีพทำการประมงพื้นบ้าน แบ่งเป็นชาย 263 ราย คิดเป็น 83.49% และหญิง 52 ราย คิดเป็น 16.15% ลักษณะของเรือประมงมีทั้งใช้เรือยนต์และไม่ใช่เรือยนต์ เช่น การทอดแห วางลอบดักปูตามแนวชายฝั่ง งมหาหอยแครงด้วยมือเปล่า ตกเป็ดปลาดุกทะเล ใช้ตะแครงลากหอยด้วยมือ จับกุ้งและปลาด้วยฉมวกแทงปลา และอื่นๆ

สาเหตุที่ ต.แหลมโพธิ์ มีจำนวนมากกว่าที่อื่นๆ เนื่องจากมีพื้นที่ติดต่อรอบอ่าวปัตตานีเป็นแนวยาวตามการทับถมของสันทรายตั้งแต่อดีตที่ยึดออกไปจนถึงสุดปลายแหลมตาชี รวมระยะทางกว่า 16 กม. ประกอบไปด้วย 4 หมู่บ้าน และมีอาชีพทำประมงพื้นบ้านทั้งในอ่าวปัตตานีและทะเลนอกอ่าวไทย นอกจากนี้พื้นที่ตำบลอื่นๆ นับได้ว่าได้ใช้ประโยชน์ในอ่าวปัตตานีมากที่สุด ขณะที่ตำบลอื่นๆ มีการเปลี่ยนแปลงอาชีพได้ง่ายกว่าเพราะอยู่ใกล้กับชุมชนเมือง

100% ไม่ต้องการ “สันดอนทราย”

ปรากฏว่าทั้ง 315 รายที่ตอบแบบสอบถามระบุชัดเจนว่า ไม่ต้องการสันดอนทราย และต้องการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำสันดอนทรายทั้งหมดออกจากไปจากพื้นที่รอบๆ อ่าวปัตตานี ด้วยส่วนเหตุผลสำคัญเรียงตามลำดับมากไปหาน้อยคือ 1) เนื่องจากทำให้จับสัตว์น้ำได้น้อยลง 2) ขัดขวางเส้นทางเดินเรือ และ 3) ทำให้พื้นที่ทำประมงลดน้อยลง

อีกทั้งยังมีประเด็นอื่นๆ สามารถสรุปข้อคิดเห็นของชาวบ้านได้ดังนี้ (1) รายได้ของครัวเรือนลดลง เนื่องจากจับสัตว์น้ำน้อยลงอย่างมาก และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนบางครอบครัวต้องให้ลูกออกจากเรียนกลางคัน เพราะไม่มีเงินส่งลูกเรียน ในขณะที่บางครอบครัวมีปัญหาครอบครัวตามมา เนื่องจากมีปัญหารายได้ (2) ปัญหาเรือติดกลางสันดอนทรายและทำลายเครื่องมือประมง เช่น อวนขาด เรือพลิกคว่ำ เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่จับสัตว์น้ำและมีรายได้ลดลง

(3) ระบนิเวศเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้แหล่งอาหารของสัตว์น้ำลดลง เช่น หญ้าทะเล แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์วัยอ่อน และ (4) กระแสน้ำไม่แรง เนื่องจากมีสันดอนทรายขัดขวางทางน้ำ ทำให้ระยะเวลาการทำประมงสั้นลงจากเดิม ที่ต้องอาศัยกระแสน้ำในการพัดพาอวนให้ลอยตามกระแสน้ำในการจับสัตว์น้ำ

หลากหลายประเด็น มากมายผลกระทบ

นอกจากนี้ ผลกระทบจากการทิ้งวัสดุขุดลอกผิดแบบ ทำให้โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานีไม่ได้แก้ไขปัญหาความตื้นเขินของอ่าวปัตตานี ชาวบ้านประสบปัญหาดังนี้ 


1) ทรัพยากรสัตว์น้ำทะเลชายฝั่งและแหล่งอาหารของสัตว์น้ำลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ชาวประมงพื้นบ้านจับสัตว์น้ำทะเลลดลงอย่างไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งสาเหตุมาจากทางโครงการได้ทิ้งตะกอนทราย หรือวัสดุขุดลอกไปทับถมบริเวณที่ทำมาหากินของชาวบ้านเป็นบริเวณกว้าง ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ หญ้าทะเล สาหร่ายผมนาง

2) ระบบนิเวศทางทะเลเปลี่ยนแปลงไป จากผลของการทิ้งตะกอนกลางอ่าวปัตตานี มีการเกิดขึ้นของเกาะแก่ง หรือเนินทรายเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านไม่คุ้นชินกับระบบนิเวศใหม่ ชาวประมงพื้นบ้านเล่าว่า ปกติตนเองใช้เวลาในการทำประมง 5-6 ชั่วโมงต่อวัน แต่ตั้งแต่มีการขุดลอกอ่าวปัตตานี ส่งผลกระทบทำให้กระแสน้ำขึ้นน้ำลงเปลี่ยนแปลงไป คือ น้ำขึ้น 3 ชั่วโมง และน้ำลง 3 ชั่วโมง เวลาในการทำประมงน้อยลง เกิดภาวะน้ำเปรี้ยว และนำไปสู่ภาวะน้ำนิ่ง หรือน้ำตาย ส่งผลกระทบต่อการอยู่รอดของสัตว์น้ำและปัญหาแมงกะพรุนไฟกระทบต่อชาวประมงที่ทำอวนลอย

3) การสัญจรทางทะเลมีความลำบากมากขึ้นและมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในการทำประมง เพราะการเกิดขึ้นของสันดอนทรายกลางอ่าว ส่งผลให้เส้นทางสัญจรทางน้ำเดิมที่ชาวบ้านใช้สัญจรในการออกทำการประมง บางพื้นที่ไม่สามารถสัญจรได้ในช่วงเวลาน้ำลงต่ำ จากเดิมมีรายได้วันละ 1,000 บาท ปัจจุบันเหลือ 200-300 บาท

4) รายได้ที่ลดลงจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด
เศรษฐกิจชุมชนได้รับความเดือดร้อนเป็นห่วงโซ่ 
บางครอบครัวถึงขั้นไม่สามารถส่งเงินให้ลูกไปเรียน จนต้องออกจากการเรียนหนังสือกลางคัน นอกจากนี้ ประชาชนรอบอ่าวปัตตานีที่รับจ้างแรงงานในร้านอาหารต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซีย ไม่สามารถเดินทางไปประกอบอาชีพหาโอกาสทางเศรษฐกิจจากประเทศเพื่อนบ้านได้ เนื่องจากการปิดประเทศจากสถานการณ์โรคระบาดโควิค-19


กำลังโหลดความคิดเห็น