xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “โอไอซี” ร่วมประสานมือ “ไอซีอาร์ซี-เจนีวาคอลล์” หนุนยุทธศาสาตร์ใหม่บีอาร์เอ็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  

จุดคบไฟใต้ / โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก



ยังจำเป็นต้องเขียนถึง ขบวนการบีอาร์เอ็น ที่เวลานี้ได้รับการหนุนเกื้อจาก ไอซีอาร์ซี และ เจนีวาคอลล์ รวมถึงองค์กรต่างชาติอื่นๆ ที่เข้าไปเพ่นพ่านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป เพราะสถานการณ์ไฟใต้ยังไม่มีทีท่าจะยุติลงได้

ขณะที่บีอาร์เอ็นเองก็แค่ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี จากเรื่องที่เน้นงานด้าน “การทหาร” ก็พลิกเป็นงาน “การเมือง” เท่านั้น แต่ธงนำยังเหมือนเดิมคือ การต้องการยึดครอง 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ถ้าไม่ได้ในรูปของ “เอกราช” ก็ขอแค่ “เขตปกครองตนเอง” ก็ยังได้

การที่เวลานี้เหตุร้ายรายวันลดความรุนแรงลง ไม่มีอะไรยืนยันว่าบรรดา “แนวร่วม” บีอาร์เอ็นไม่ว่าจะเป็นระดับเยาวชน กระทั่งอาร์เคเค หรือกองกำลังติดอาวุธได้ถูกทางการวิสามัญ จับกุมหรือกวาดต้อนเข้ารายงานตัวได้หมดแล้ว

ยิ่งในกระบวนการ “พูดคุยสันติสุข” เพื่อหาทางดับไฟใต้ระหว่างตัวแทนรัฐไทย กับตัวแทนขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งมอบหมายให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกนั้น เวลานี้ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เนื่องจากโควิด-19 ฝั่งแผ่นดินเสือเหลืองยังรุนแรงอย่างไม่หยุดหย่อน โอกาสที่จะตั้งโต๊ะเจรจาอะไรแทบเป็นไปไม่ได้

จะมีก็แต่การพูดคุยในพื้นที่กับตัวแทนบางกลุ่มเท่านั้นที่ยังทำได้ ซึ่งเวลานี้มีภาพของคณะพูดคุยฝ่ายไทยพยายามยื่น “ไฟฉาย” ให้โจรช่วยส่องทางเพื่อจะได้เดินตาม ทั้งที่ทางออกที่บีอาร์เอ็นต้องการกลับไม่ใช่หนทางเดียวกันกับที่คนในพื้นที่ต้องการ

อย่างเดียวที่เป็นไปได้ว่าได้ทำให้เหตุร้ายรายวันลดลงคือ เจ้าหน้าที่รัฐออกตรวจตราเข้มตามแนวแนวชายแดน เพื่อป้องกันผู้คนที่จะหนีล็อกดาวน์จากจากฝั่งมาเลเซียเข้ามา ซึ่งนั่นได้ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของแนวร่วมเป็นไปไม่สะดวกเหมือนเก่า

ณ วันนี้ทั้งแนวร่วมและอาร์เคเคยังคงอยู่ในที่มั่นที่ปลอดภัย อาจไม่มีความเคลื่อนไหวด้านการฝึกอาวุธ แต่ไม่ได้หยุด “บ่มเพาะ” เยาวชนชายหญิงรุ่นใหม่แบบซึมลึกเข้าสู่ขบวนการแน่นอน ซึ่งเป็นการสั่งการของ “แกนนำ” ขบวนการจากฐานที่มั่นในกลันตันของมาเลเซีย

ประเด็นเร่งบ่มเพาะสังเกตได้จากความเคลื่อนไหวบางประการคือ การช่วยเหลือเด็กกำพร้าที่ไม่มีหน่วยงานรัฐใดๆ อยู่เบื้องหลัง หรือสนับสนุนให้ “เปอมูดอ” แต่งงานกันเพื่อสร้างครอบครัวปฏิวัติใหม่ๆ ส่วนระดับ “อูลามา” หรือนักการศาสนาให้เดินสายบรรยายธรรมในหัวข้อสามัคคีคือพลัง แตกแยกคือการล่มสลาย เป็นต้น

เหล่านี้แค่ “น้ำจิ้ม” หรอกนะ เพราะยังมีรูปแบบการบ่มเพาะอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งก็เพียงพอจะชี้ได้ว่าสถานการณ์ไฟใต้ยังไม่มีทีท่าจะสงบลงได้ แต่เปลี่ยนรูปแบบปฏิบัติจากภาพที่เคยสื่อแสดงแบบบ้านๆ ได้ถูกยกระดับให้เป็นสากลมากขึ้น

ที่ต้องจับตาใกล้ชิดคือ บีอาร์เอ็นได้ร่วมมือกับเอ็นจีโอนานาชาติ ซึ่งล้วนมีอิทธิพลหรือเกาะเกี่ยวอยู่กับองค์การสหประชาชาติ ตัวอย่างก็ไอซีอาร์เอ็น กับเจนีวาคอลล์ที่กล่าวถึงไปแล้ว พวกนี้เข้าสู่ชายแดนใต้เพื่อตระเตรียมเป็น “คนกลาง” หากสถานการณ์สุกงอมจนมีการเจรจาเกิดขึ้นระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็น

ขอบอกกล่าวไว้ตรงนี้ด้วยว่า เวลานี้บีอาร์เอ็นมีการ “ผลัดใบ” อีกระลอกแล้ว ด้วยการปรับเปลี่ยนตำแหน่งแกนนำระดับสูงหลายคน ผู้สันทัดด้านการทหารอย่าง ดุลเลาะ แวมะนอ และ อดุลย์ มุณี ถูกดันขึ้นไปนั่งเป็นที่ปรึกษา แล้วตั้งผู้นำจิตวิญญาณและประธานขบวนการใหม่

ซึ่งที่จริงทั้ง 2 คนแกนนำบีอาร์เอ็นที่ว่านี้ต่างนับได้ว่าเป็น “ผู้รู้ด้านศาสนา” ระดับสำคัญ จึงเชื่อว่าจะสร้างความเข้มแข็งให้แก่ขบวนการยิ่งกว่าเมื่อครั้งที่ สะแปอิง บาซอ ยังนั่งเป็นประธาน และมี มะแซ อุเซ็ง นั่งเป็นเลขาธิการของขบวนการ

จึงต้องจับตาต่อไปว่ายุทธศาสตร์ใหม่บีอาร์เอ็น นอกจากจะเน้นหนักการสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ๆ พร้อมๆ กับใช้ศาสนาจูงใจและชี้นำมวลชนอย่างที่ว่ามานั้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมเรื่องราวด้านเชื้อชาติและประวัติศาสตร์ที่เคยถูกให้ให้เห็นการกดขี่มาอย่างยาวนานจากรัฐสยามได้ดีในระดับไหน

ความจริงแล้วที่เรื่องศาสนายังคงต้องถือเป็นจุดอ่อนของภาครัฐ หรือไม่ต่างจาก “งูแพ้เชือกกล้วย” เพราะไม่ว่าเรื่องอะไรถ้าเกี่ยวพันศาสนารัฐบาลจะส่งสัญญาณให้ถอยทันที เนื่องจากเห็นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แถมจะได้เห็นเสมอๆ ว่าผู้นำศาสนาเองก็มักจะต่อรองได้แบบคืบจะเอาศอกเอาวาตลอดเวลา

ถ้าลำพังบีอาร์เอ็นอย่างเดียว เชื่อว่าน่าจะใช้วิธีการได้อย่างไม่น่าวิตกกังวลอะไร แต่เมื่อเพิ่มองค์กรต่างชาติเข้ามาด้วย ยิ่งต้องกลัวและต้องแก้กันอย่างใส่ใจมากขึ้น เพราะนอกจากเจนีวาคอลล์และไอซีอาร์ซีแล้ว วันนี้ยังมีมีท่าว่า องค์การความร่วมมืออิสลาม
(โอไอซี)
จะตามต่อมาด้วย

โดยในการประชุมของโอไอซีเมื่อวันที่ 27-28 พ.ย.2563 มีเอกสารข้อที่ 29 เกี่ยวกับสภารัฐมนตรีต่างประเทศมีสาระสำคัญโยงถึงปัญหาชายแดนใต้ของไทยว่า ให้แนะนำความพยายามก่อนหน้านี้ในกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยและมาราปาตานี และขอเรียกร้องให้มาราปาตานีสนับสนุนขบวนการเจรจาสันติภาพต่อไป

โดยย้ำการสนับสนุนความต่อเนื่องของกระบวนการสันติภาพระหว่างรัฐไทยและ Barisan Revolousi Nasional melayu patani (BRN) ในฐานะตัวแทนของชุมชนมุสลิมในภาคใต้ของไทย โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายดำเนินการสร้างความเชื่อมั่นและการเจรจาต่อไป

เรื่องนี้น่ากลัวนะ เพราะโอไอซียอมรับ “ตัวตน” ของขบวนการบีอาร์เอ็นแล้ว และยังกล่าวถึงในฐานะ “ตัวแทน” ของชุมชนมุสลิมในภาคใต้ของไทยด้วย

ดังนั้น หน่วยงานไหนหรือใครที่ยังไม่ยอมรับว่าขบวนการบีอาร์เอ็นมี “ตัวตน” และเป็น “ผู้ก่อการร้าย” ในชายแดนใต้ล้วนแต่เป็นผู้ที่ต้องพิจารณาตัวเองว่า “สมควรตาย” ได้หรือยัง

เช่นเดียวกับหน่วยงานรับผิดชอบ “ภัยความมั่นคง” ไม่ว่า กอ.รมน. หรือ สมช. ที่รู้ทุกเรื่อง แต่ยังพยายามปิดบังอำพราง แม้ในที่ประชุมที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงนั่งหัวโต๊ะ เวลาต้องรายงานสถานการณ์ไฟใต้มักพูดแบบอ้อมๆ แอ้มๆ ไปไหนมาสามวาสองศอก เพราะเกรงใจกระทรวงต่างประเทศ และนายพลที่ปรึกษาโอไอซีจนไม่กล้าที่จะพูดความจริง

คนไทยคงต้องเขียนชื่อ “หน่วยงาน” และ “ผู้นำ” เหล่านี้ติดข้างฝาไว้เลย เพราะในอนาคตถ้าสถานการณ์เดินไปตามที่ว่าไว้ เราจะได้หันมาดูว่าหน่วยงานไทยและคนไทยพวกนี้แหละที่มีส่วนทำให้บีอาร์เอ็นร่วมมือกับองค์กรต่างด้าวทั้งหัวแดงหัวดำทำร้าย “แผ่นดินปลายด้ามขวาน”


กำลังโหลดความคิดเห็น