xs
xsm
sm
md
lg

ปปง.รับ 7 คดีบุกรุกอ่าวบ้านดอนสร้างคอกหอยแครงเป็นคดีพิเศษ พร้อมเดินหน้าตรวจยึดทรัพย์นายทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สุราษฎร์ธานี - ปปง.รับ 7 คดีบุกรุกอ่าวบ้านดอน สร้างคอกหอยแครงเป็นคดีพิเศษตามกฎหมายฟอกเงิน พร้อมเดินหน้าตรวจทรัพย์สินและเส้นทางการเงินของผู้ประกอบการเลี้ยงหอยแครงเถื่อน คาด ก.พ.นี้ คืบหน้าทั้ง 7 คดี

วันนี้ (19 ม.ค.) ความคืบหน้ากรณีศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล.ได้ยกทีมกว่า 100 นาย ตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยและแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณะอ่าวบ้านดอน ณ วัดชลธาร ต.บางไทร อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อดำเนินการทวงคืนพื้นที่ทางทะเลนำกลับมาให้ประชาชนมีสิทธิใช้ร่วมกัน จากผู้ประกอบการบุกรุกครอบปักไม้ไผ่กั้นเป็นคอกเลี้ยงหอยแครง พร้อมก่อสร้างขนำหรูกลางทะเล มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท


ล่าสุด วันนี้ (19 ม.ค.) นายปิยะ ศรีวิกะ ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการงานคดี 3 กองคดี 3 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พล.ร.ต.สุรศักดิ์ ประทานวรปัญญา ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนสอบสวนและกฎหมาย ศรชล.(สสก.ศรชล.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงเรือไปตรวจสอบตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างและคอกหอยที่เป็นเป้าหมายสำคัญในเขต อ.เมือง และ อ.พุนพิน เพื่อเตรียมยึดทรัพย์และเรียกภาษีย้อนหลัง หลังจาก ปปง.ได้รับเป็นคดีพิเศษตามกฎหมายฟอกเงินต่อผู้ประกอบการเลี้ยงหอยแครง จำนวน 7 ราย ที่ก่อนหน้านี้ได้ออกมาแสดงตนเป็นเจ้าของคอกหอยและขนำหรู พร้อมคัดค้านการรื้อถอนขนำออกจากทะเลตามคำสั่งทางปกครอง พร้อมขอเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

โดยมีเป้าหมายเข้าตรวจสอบทรัพย์สิน จำนวน 8 เป้าหมาย ในพื้นที่อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี และอำเภอพุนพิน เป้าหมายเป็นขนำสีแดงหรูที่ก่อสร้างด้วยมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ทางผู้ประกอบการได้ดำเนินการรื้อถอนตัวอาคารออกไปแล้วกว่าร้อยละ 80 พร้อมปรับสภาพตัวขนำให้เล็กลงใช้เป็นที่เฝ้าหอยแครง


นายปิยะ ศรีวิก ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการงานคดี 3 กองคดี 3 สำนักงาน ปปง. กล่าวว่า กฎหมายฟอกเงินเป็นกฎหมายพิเศษสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรม สร้างขึ้นมาไม่ให้มีการใช้เงินจากการกระทำความผิด จากความผิดมูลฐานจะกำหนดไว้ตามกฎหมายฟอกเงินมี 29 มูลฐาน ในกรณีนี้เป็นการบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเลี้ยงหอยแครงเข้าลักษณะแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้า หมายความว่า กรณีนี้เป็นความผิดมูลฐานที่ 15 ซึ่ง ศรชล.และพนักงานสอบสวนตรวจพบความผิดมูลฐาน ได้รายงานไปที่สำนักงาน ปปง. นำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการ ปปง. เพื่อขอมติว่า การกระทำเหล่านี้จะต้องถูกตรวจหรือไม่ ซึ่งทางคณะกรรมการได้ประชุมและมีความเห็นว่า พฤติการณ์เป็นการกระทำความผิดมูลฐานตามกฎหมาย ปปง. จึงได้เดินทางมาตรวจสอบเพื่อจะให้ดูว่าการกระทำความผิดเหล่านี้ทำให้เกิดทรัพย์สินงอกเงยขึ้นมาหรือไม่ ทรัพย์สินจากการบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเลี้ยงหอย และเงินที่ได้มาจากการขายหอยก็ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด จะต้องตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบ

หากพบมีพยานหลักฐานว่า เงินที่ได้มาจากการขายหอยแครงแล้วจะต้องถูกตรวจยึดอายัด ดังนั้น จึงขอฝากเตือนถึงผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของคอกหอย ว่า พฤติการณ์ที่มีการพบกระทำความผิดที่เข้าไปอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือใช้ประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต มันเป็นความผิดมูลฐานของกฎหมายฟอกเงินจะต้องถูกยึดอายัดทรัพย์สินและอาจโดนคดีอาญาไปพร้อมๆ กัน ซึ่งขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วทั้ง 7 ราย จะดำเนินการได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

“การลงพื้นที่อ่าวบ้านดอนวันนี้ รู้สึกตกใจและน่าใจหายเพราะว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาท้องถิ่น แต่เป็นปัญหาของประเทศ พื้นที่ 200,000 กว่าไร่ ชาวบ้านที่เขาไม่มีทุนรอน ชาวบ้านที่เขาไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ เขาไม่สามารถที่จะเข้าไปถึงการแบ่งปันทรัพยากรธรรมชาติ ตามวิถีชุมชนได้เลย มันกลับกลายเป็นของนายทุน ซึ่งนายทุนเหล่านี้ถ้ามองในรูปการแล้วเชื่อได้ว่าเป็นผู้กระทำความผิดมูลฐานของ ปปง.จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย” นายปิยะ กล่าวในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น