xs
xsm
sm
md
lg

สถานการณ์น้ำท่วม จ.ยะลา พบปริมาณน้ำฝนสะสมมากสุดในรอบ 33 ปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยะลา - คืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วม จ.ยะลา พบปริมาณน้ำฝนสะสมมากสุดในรอบ 33 ปี ด้านผู้ว่าฯ สั่งการทุกอำเภอเร่งสำรวจพื้นที่และช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน

วันนี้ (7 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดที่ จ.ยะลา โดยฝนได้หยุดตกตั้งแต่ช่วงเที่ยงวัน ทำให้ระดับน้ำบางพื้นที่ที่รอระบายลงสู่แม่น้ำปัตตานีลดลงแล้ว แต่ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานียังคงทรงตัวและไหลลงสู่เขื่อนชลประทานปัตตานี

โดยนายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วย นายชูศักดิ์ สุทธิ ผู้อำนวยการชลประทานจังหวัดยะลา ได้เดินทางไปร่วมประชุมหารือกับหัวหน่วยส่วนโครงการชลประทานปัตตานี เพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำปัตตานี ซึ่งไหลจาก จ.ยะลา จะเข้าสู่พื้นที่ จ.ปัตตานี โดยจากการประชุมหารือทราบว่าขณะนี้ทางเขื่อนชลประทานปัตตานีได้ผันน้ำออกผ่านประตูระบายน้ำในปริมาณ 1,750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คิดเป็น 151 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยเปิดประตูระบายน้ำอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์ระดับจะลดลง


ขณะที่ จ.ยะลา ซึ่งประสบเหตุอุทกภัยเป็นครั้งแรกของปี 2564 ตั้งแต่ช่วงวันที่ 4-6 มกราคม 2564 เป็นต้นมา ทางกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา ได้รายงานพื้นที่ประสบอุทกภัยแล้วทั้ง 8 อำเภอกว่า 119 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 3,284 ครัวเรือน จำนวน 14,190 คน มีถนนได้รับความเสียหาย 24 สาย สะพาน 5 แห่ง พื้นที่ทางการเกษตรมากกว่า 50 ไร่ สัตว์เลี้ยงทางปศุสัตว์กว่า 1,500 ตัว ยังไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดยะลาในครั้งนี้ จากการวิเคราะห์ตามสภาพพื้นที่และการพยากรณ์อากาศที่มีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ พบว่าในครั้งนี้มีปริมาณน้ำฝนตกสะสมมากสุดในรอบ 33 ปี จากการที่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา มากสุดถึง 140 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อวันที่ 7 มค.64 โดยส่วนใหญ่เป็นปริมาณน้ำฝนตกสะสมในเขตพื้นที่ป่าฮาลาบาลา และเขตแนวเทือกเขารอยต่อประเทศมาเลเซีย ทำให้มวลน้ำไหลลงมาสู่เขื่อนบางลาง

อีกทั้งในพื้นที่ อ.เบตง อ.ธารโต และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ก็มีปริมาณน้ำฝนที่สะสมมากเช่นกัน จึงทำให้เขื่อนบางลางมีปริมาณน้ำที่จุดสูงสุดถึง 104 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ต้องมีการระบายน้ำออกจากเขื่อนบางลาง ทางประตูระบายน้ำสปรินเวย์ และทางเครื่องกำเนิดไฟฟ้าปกติรวมวันละ 40 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน


และมวลน้ำที่ระบายได้ไหลลงสู่แม่ปัตตานี ทำให้มวลน้ำมาสมทบกับปริมาณน้ำฝนสะสมที่ตกในพื้นที่ใต้เขื่อนบางลาง อย่าง อ.บันนังสตา อ.กรงปินัง อ.เมืองยะลา อ.ยะหา ที่มีแหล่งน้ำคลองธรรมชาติไหลลงแม่น้ำปัตตานี เพื่อผ่านเขต อ.เมืองยะลา เข้าสู่โครงการระบายน้ำชลประทานปัตตานี ทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ริมแม่น้ำปัตตานี พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งหากฝนได้หยุดตกต่อเนื่อง ก็จะทำให้สถานการณ์สามารถคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว แต่หากมีฝนต่ออยู่ในพื้นที่ ก็อาจจะส่งผลกระทบกับพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากเป็นระยเวลา 2-3 วัน

ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้สั่งการเร่งด่วนไปยังทุกอำเภอที่ได้รับผลกระทบ ให้สำรวจความเดือดร้อนของราษฏรในพื้นที่ และดำเนินการจัดสรรงบประมาณเร่งด่วนในการเข้าช่วยเหลือประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นจนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายลงไป








กำลังโหลดความคิดเห็น