xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธศาสตร์ใหม่ BRN “จัดตั้งเยาวชน-ซ่อนปมเจรจา” สู่เป้าหมายอิสรภาพ ปลดปล่อย “รัฐปาตานี”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์







จุดคบไฟใต้... ไชยยงค์ มณีพิลึก



หลังปลด 6 แกนนำระดับสูงที่ร่วมคณะกันไปพูดคุยสันติสุขกับตัวแทนรัฐบาลไทย “บีอาร์เอ็น” ซึ่งมีฐานที่มั่นในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ก็ประกาศเปลี่ยนตัวผู้บริหารระดับสั่งการ เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ใหม่ในการทำสงครามสันติภาพ ตามที่ “เจนีวาคอลล์” ร่วมวางแผนให้

เวลานี้ แกนนำระดับสั่งการและผู้นำจิตวิญญาณของบีอาร์เอ็นชุดใหม่เป็นใครบ้าง มีภูมิลำเนาเดิมในชายแดนใต้ที่ใด เกี่ยวโยงนักการเมืองพรรคไหนหรือผู้มีอิทธิพลคนใด ถ้าหน่วยงานความมั่นคงมี “งานข่าว” และ “แหล่งข่าว” ดี ที่เข้าถึงพื้นที่ฝั่งมาเลเซียด้วย น่าจะมีข้อมูลทั้งหมดแล้ว เพราะมีการปรับโครงสร้างขบวนการมาระยะหนึ่งแล้ว

แต่ถ้าบรรดา “ท่านผู้นำ” ยังไม่เชื่อว่าบีอาร์เอ็นคือตัวการจุดไฟใต้ระลอกใหม่ตั้งแต่ปี 2547 แถมงานการข่าวยังเข้าไม่ถึงใจกลางขบวนการ นั่นนับว่าไร้ประโยชน์อย่างยิ่งที่จะเดินหน้าดับไฟใต้กันต่อไป

ประเด็นที่ต้องการสื่อสารถึง ทั้งหน่วยงานและผู้คนในชายแดนใต้ตอนนี้คือ “ยุทธศาสตร์ใหม่” ของบีอาร์เอ็น ภายใต้การหนุนเสริมขององค์กรระหว่างประเทศทั้ง “เจนีวาคอลล์” และ “ไอซีอาร์ซี” รวมถึง “แพทย์ไร้พรมแดน” ที่เข้าไปมีสำนักงานในพื้นที่แบบผลุบๆ โผล่ๆ เป็นเรื่องที่น่าวิตกยิ่ง

ยุทธศาสตร์ใหม่ที่บีอาร์เอ็นประกาศใช้ระหว่างปี 2560-2575 เน้นลดภาพรุนแรงต่อเป้าหมายพลเรือน เพื่อให้สอดรับกับการใช้กระบวนการการสันติภาพเป็นเครื่องมือต่อสู้ ขณะที่ยังคงความเป็น “องค์กรลับ” ไว้ต่อและขับเคลื่อน 3 เรื่องหลักคือ

หนึ่ง จัดตั้ง “กองกำลังเยาวชน” เพื่อให้ทำหน้าที่บางอย่างแทนที่หน่วยคอมมานโดเดิมอย่าง “อาร์เคเค” หรือ “ฮาลีเมา” และโยกให้ชุดเก่าไปเน้นก่อการร้ายต่อเป้าหมายทหาร ตำรวจ และกองกำลังท้องถิ่นติดอาวุธ รวมถึงให้ยันกองกำลังรัฐไม่ให้ถอนออกจากหมู่บ้าน ป่าและเทือกเขา เพื่อให้เห็นว่ายังมีสถานการณ์ความรุนแรง

กองกำลังเยาวชนมาจากผลผลิตความรุนแรงช่วง 17 ปีไฟใต้ระลอกใหม่ ที่ทำให้มีเด็กกำพร้าเกิดขึ้นมากมายนั่นเอง เช่น พ่อแม่ถูกวิสามัญหรือหลบหนีไปต่างประเทศ เด็กเหล่านี้จะมีมูลนิธิหรือองค์กรต่างๆ ใต้ปีกการเมืองของบีอาร์เอ็นเข้าไปดูหรือให้การสนับสนุนอย่างลับๆ

ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐนอกจากเข้าไม่ถึงแล้ว ยังทำได้เพียงดูห่างๆ แบบโลกสวย จึงไม่รู้ว่ามีการ “บ่มเพาะ” อย่างเป็นระบบ ซึ่งคงต้องรอให้เกิดปรากฏการณ์ลุกขึ้นโจมตีกองกำลังรัฐพร้อมๆ กันอย่างที่เคยเป็นข่าวใหญ่เมื่อปี 2547 เสียก่อน จึงจะเข้าใจกระมัง

สอง เร่งขับเคลื่อนกระบวนการ “เจรจาสันติภาพแบบซ่อนปม” ที่ให้มาเลเซียทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ดูได้จากเป้าประสงค์บีอาร์เอ็นต่างลิบลับกับฝ่ายรัฐบาลไทย เพราะมีการทำสงครามสันติภาพในเวทีโลกไปพร้อมกัน โดยจะส่งตัวแทนทั้งคนในและนอกชายแดนใต้เข้าร่วมเพื่อเรียกร้องสิทธิ “กำหนดใจตนเอง” อันจะนำไปสู่เอกราช หรืออย่างน้อยก็ได้เขตปกครองตนเอง

ส่วนรัฐบาลไทยยังตั้งตารอเพียงให้มีการตั้ง “โต๊ะพูดคุยสันติสุข” ตามวงรอบ พร้อมๆ กับมีตัวแทนไปตระเวนแก้ต่างข้อกล่าวหาบีอาร์เอ็นในเวทีต่างๆ หรือในที่ประชุมสหประชาชาติ ปีละ 2 ครั้ง ซึ่งภาพที่ปรากฏแก่สายตาชาวโลกแต่ละครั้งก็มักจะเสียเปรียบหรือเสียงบประมาณไปแบบไม่คุ้มค่า

สาม ถ้าตั้งกองกำลังเยาวชนและเล่นกลกระบวนการเจรจาสันติภาพได้สำเร็จตาม 2 เรื่องแรก นั่นยอมทำให้บีอาร์เอ็นเดินไปสู่กระบวนการ “ปลดปล่อยปาตานี” ได้สะดวกดาย เพราะจะเป็นไปตามแผนที่พี่เลี้ยงอย่างเจนีวาคอลล์ ไอซีอาร์ซี และแพทย์ไร้พรหมแดนวางไว้ และนั่นจะนำไปสู่การเปิดโอกาสให้ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปได้เข้าแทรกแซง

นี่เพียง “น้ำจิ้ม” ของยุทธศาสตร์ใหม่ ซึ่งที่ประชุมบีอาร์เอ็นล่าสุด พ.ย.2563 ยังมีเรื่องที่ควรรับรู้อีกมาก อย่างคำสั่งจากรัฐกลันตันให้รณรงค์เลือกตั้ง อบจ.เฉพาะคนที่มีแนวคิดสอดรับขบวนการ ให้แนวร่วมเข้าไปมีส่วนร่วมชุมนุมต่างๆ แล้วหยิบไฟใต้ไปขยายผล ให้รุกสร้างครอบครัวนักปฏิวัติด้วยการให้ “เปอร์มูดอ” กับ “เปอร์มูดี” แต่งงานกัน หรือพยายามสร้าง “ซิมปาร์ตี้” ช่วยน้ำท่วม ช่วยเด็กกำพร้า เป็นต้น

อีกเรื่องที่จัดว่าสำคัญมากคือ ให้ติดตามหาข่าวการปฏิบัติงานของแม่ทัพภาค 4 คนใหม่คือ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ว่าจัดเป็นสาย “พิราบ” หรือ “เหยี่ยว” เพื่อนำไปกำหนดแผนปฏิบัติการในพื้นที่ต่อไป

ที่นำมาเล่าสู่กันฟังเพราะอยากให้เข้าใจยุทธศาสตร์ใหม่ พร้อมรู้ว่าไม่มีวันที่บีอาร์เอ็นจะยุติปฏิบัติการแบ่งแยกดินแดน ที่สำคัญกว่านั้นคือ อยากให้ทุกท่าน “ตระหนักถึงภัย” และไม่ “หลงกล” ตามแผนที่บีอาร์เอ็นวางไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น