จากกรณีที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และชาวบ้านจาก อ.จะนะ จ.สงขลา จำนวน 50 คน ได้เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้รัฐบาลยกเลิกโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต หรือเมืองต้นแบบที่ 4 ในพื้นที่ 3 ตำบลของ อ.จะนะ จ.สงขลา คือ นาทับ ตลิ่งชัน และสะกอม
วันนี้ (14 ธ.ค.) ผู้แทนรัฐบาล ประกอบด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เจรจากับตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้ข้อสรุปพร้อมทั้งลงนามในบันทึกข้อตกลงผลการเจรจาการแก้ไขปัญหา โดยมีตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นลงนาม ประกอบด้วยนายรุ่งเรือง ระหมันยะ นางจันทิมา ชัยบุตรดี และนายประยงค์ ดอกลำไย รายละเอียดดังนี้
1.รัฐบาลต้องมีมติยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ยุติโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้า รวมถึงการแก้ไขผังเมืองและการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA หรือ EHIA ทันที
1.1 คณะกรรมการผังเมืองและกรมโยธาธิการและผังเมืองต้องยกเลิกกระบวนการแก้ไขผังเมืองรวม จ.สงขลา พ.ศ.2559 โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ตาม ม.35 แห่ง พ.ร.บ.ผังเมือง พ.ศ.2562
1.2 หน่วยงานรัฐและเอกชนเจ้าของโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ต้องไม่ดำเนินกระบวนการใดๆ ที่เกี่ยวกับโครงการจนกว่า การดำเนินการตามข้อ 2 แล้วเสร็จ
2.รัฐบาลต้องจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) จ.สงขลา
2.1 ต้องตั้งคณะทำงานซึ่งมีสัดส่วนของภาคประชาชนและนักวิชาการในสัดส่วนที่ประชาชนเสนออย่างเหมาะสม เพื่อวางกรอบการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ร่วมกัน โดยกระบวนการทำงานให้ดำเนินการประเมินศักยภาพทรัพยากรและพัฒนาต่อยอดจากทรัพยากรของท้องถิ่น และในการศึกษานี้ต้องไม่มี ศอ.บต.เป็นผู้มีส่วนในการดำเนินการจัดทำ
2.2 การคัดเลือกผู้ที่จะมาดำเนินการศึกษา การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายและให้เป็นไปตามหลักการข้อ 2
2.3 ในกระบวนการศึกษา คณะอนุกรรมการกำกับติดตามและแก้ไขปัญหาโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ต้องมีการระบุหน้าที่ในการกำกับติดตาม โดยมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลการศึกษา ตรวจสอบ และให้ข้อเสนอแนะต่อผู้ดำเนินการศึกษาได้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการข้อ 2
2.4 กระบวนการตรวจสอบและการให้ความเห็นชอบต่อรายงานการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และนักวิชาการที่ประชาชนคัดเลือกด้วย โดยให้เป็นไปตามหลักการข้อ 2