xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนยางเฮ! Kick off จ่ายเงินประกันราคายางทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





พังงา - เฮ! จุรินทร์ คิกออฟจ่ายประกันรายได้ยางพาราทั่วประเทศวันนี้ ชาวสวนยางยิ้มรับเงินส่วนต่าง ทั้งบัตรเขียว-บัตรชมพู


เมื่อเวลา 11.30 น. วันนี้ (11 ธ.ค.) ที่ศาลาประชาคมอำเภอท้ายเหมือง จ.พังงา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน Kick off หรือกดปุ่มจ่ายโอนเงินส่วนต่างประกันรายได้ชาวสวนยางพาราปีที่ 2 ตามที่คณะรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบ ทำให้เกษตรกรได้รับเงินส่วนต่างจะมีทั้งเกษตรกรชาวสวนยางที่ถือบัตรสีเขียว หรือผู้มีเอกสารสิทธิ และที่ถือบัตรสีชมพู หรือเกษตรกรผู้ไม่มีเอกสารสิทธิที่ได้ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย

โดยผู้ถือบัตรสีเขียวมีประมาณ 9.6 แสนราย ส่วนผู้ถือบัตรสีชมพูจะมีประมาณ 3.4 แสนราย รวมแล้วจะมีเกษตรกรชาวสวนยางที่จะได้รับสิทธิเงินส่วนต่างประมาณ 1.3 ล้านรายทั่วประเทศ แต่ด้วยการประกาศราคาเกณฑ์กลางงวดนี้จะได้รับการชดเชย 2 ชนิด คือ ยางก้อนถ้วย น้ำยางสดเท่านั้น เพราะยางแผ่นดิบได้ประโยชน์จากราคายางที่สูงทะลุราคาประกันรายได้ไปแล้ว


นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้เกษตรกรชาวสวนยางพารา จะได้รับส่วนต่างพร้อมกันทั่วประเทศ สำหรับโครงการประกันรายได้เกิดจากนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ที่เข้าร่วมรัฐบาล และให้หลักประกันความมั่นคงทางอาชีพเกษตรกรและ แถลงต่อรัฐสภามาแล้วและได้ดำเนินการสำเร็จมาแล้ว 1 ปี ขณะนี้เดินหน้าปีที่ 2 โครงการนี้มีหลักคือถ้าราคายางตกต่ำเกษตรกรจะได้ส่วนต่างมาชดเชย เกษตรกรจะได้เงิน 2 กระเป๋านั่นเอง และการจ่ายเงินส่วนต่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 หรือประกันรายได้ยางพาราปี 2 สำหรับโครงการดังกล่าวนี้ทั่วประเทศจะครอบคลุมเกษตรกรชาวสวนยางพื้นที่ปลูกยางพารากว่า 18 ล้านไร่

โดยยึดหลักเกณฑ์เดิมตามโครงการระยะที่ 1 ประกันรายได้ยาง 3 ชนิด ประกอบด้วยยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม โดยกำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ คือ ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวนไม่เกิน 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน และ ผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวนไม่เกิน 40 กิโลกรัม/ไร่/เดือน สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นสวนยางอายุ 7 ปี ขึ้นไปที่เปิดกรีดยางไปแล้วรายละไม่เกิน 25 ไร่ มีสัดส่วนแบ่งรายได้ระหว่างเจ้าของ 60% และคนกรีดยาง 40% ส่วนระยะเวลาโครงการ เดือนกันยายน 2563-กันยายน 2564


สำหรับจังหวัดพังงา ข้อมูลโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดพังงาพื้นที่สวนยางทั้งหมด 734,430 ไร่ ชาวสวนยางขึ้นทะเบียนและแจ้งพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทยจำนวน 34,095 ราย เนื้อที่สวนยางบัตรสีเขียว 20,694 ราย พื้นที่ 302,904 ไร่ บัตรสีชมพู 13,401 รายพื้นที่ 214,509 ราย โดยเมื่อปีก่อนเกษตรกรชาวสวนยางได้รับเงินช่วยเหลือไปแล้วจำนวน 20,600 ราย ส่วนปีนี้โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2 จ่ายเงินรอบที่ 1 ในวันที่ 11 ธันวาคม 2563 เกษตรกรพังงาได้รับเงินช่วยเหลือ 16,421 ราย แบ่งเป็นบัตรเขียว จำนวน 13,652 ราย บัตรชมพู จำนวน 4179 ราย แต่งวดนี้ชดเชยเฉพาะยางก้อนถ้วยและน้ำยางสด เนื่องจากราคายางแผ่นดิบสูงกว่าราคาประกัน

ขณะที่นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ระบุว่า ส่วนมาตรการเสริมที่นายจุรินทร์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และดูแลกระทรวงเกษตรฯ ผลักดันให้รัฐบาลอนุมัติซึ่งเป็นมาตรการคู่ขนานที่เป็นปัจจัยกระตุ้นราคาที่สำคัญคือ 1.มาตรการกำกับดูแลด้านปริมาณ ผู้ประกอบกิจการยางที่มีปริมาณการรับซื้อตั้งแต่เดือนละ 5,000 กก.ขึ้นไป แจ้งปริมาณการซื้อ ปริมาณการจำหน่าย ปริมาณการใช้ไป ปริมาณคงเหลือ และ สถานที่เก็บสินค้ายางพารา ตลอดจนให้จัดทำบัญชีคุมรายวัน


2.ส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ ระหว่าง ต.ค.62-ก.ย.65 3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อ 5 โครงการ คือ โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ 1 เม.ย.63-31 มี.ค.64 โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพารา วงเงิน 5,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 1 ก.ย.57-31 ธ.ค.67 โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) (20,000 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินงาน ม.ค.63-ธ.ค.64 โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงินสินเชื่อ 25,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ ปี 59-69 โดยสนับสนุนวงเงินชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราร้อยละ 3 ไม่เกิน 600 ล้านบาท




กำลังโหลดความคิดเห็น