ปัตตานี - ชาวประมงพื้นบ้านปัตตานีสุดดีใจ ออกวางอวนในทะเลบริเวณหน้าบ้านได้ “กุ้งไซส์จัมโบ้” นำขายได้รายคาดี เป็นผลจากที่ทุกฝ่ายช่วยกันรณรงค์ฟื้นฟู ด้วยการไม่ใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย
วันนี้ (9 ธ.ค.) บรรยากาศการทำประมงของชาวประมงพื้นบ้าน ในพื้นที่ปะนาเระ และสายบุรี จ.ปัตตานี บริเวณทะเลอ่าวไทย หน้าบ้านสามารถวางอวนจับกุ้งทะเลได้ไซส์ใหญ่ โดยเฉพาะกุ้งกุลาดำ สามารถทำเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ การออกเรือทำประมงหลังจากพายุฝนสงบลง เพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ ทำให้ชาวประมงดีใจ เพราะมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะขายกุ้งได้ราคาดี ขนาด 1.5 ขีดขึ้นไป ราคาประมาณกิโลกรัมละ 400-600 บาท บางไซส์มีน้ำหนักที่ 4 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก ราคาก็สูงตามไปด้วย
ซึ่งทุกวันนี้ชาวประมงสามารถจับกุ้งไซส์ขนาดดังกล่าวเฉลี่ยรายละ 2-3 กิโลกรัม จำนวนเฉลี่ยต่อวันประมาณ 50-70 กิโลกรัม เนื่องจากช่วงนี้ชาวประมงบางพื้นที่ยังไม่สามารถออกเรือทำประมงได้ เพราะมีตะกอนดินทับถมปากแม่น้ำ ทำให้ปากคลองปิดไม่สามารถนำเรือออกไปได้ นับเป็นปัญหาซ้ำซากเป็นประจำทุกปี ชาวประมงจึงได้เรียกร้องให้รัฐเข้ามาวางแนวทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน ที่นอกเหนือจากการลอกทรายออกเป็นประจำทุกปี
นายทศพล พลรัตน นักวิชาการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝังจังหวัดปัตตานี กล่าวถึงกรณีชาวประมงสามารถจับกุ้งกุลาดำไซส์ใหญ่ หรือจัมโบ้ได้นั้น ต้องแสดงความยินดีกับชาวประมงด้วย และแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในอ่าวไทย ที่มีกุ้งไซส์พ่อแม่พันธุ์อยู่จำนวนเพิ่มขึ้น นับเป็นความสำเร็จของทุกฝ่ายที่ได้ช่วยกันรณรงค์ฟื้นฟูด้วยการไม่ใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย ร่วมกันสร้างปะการังเทียม และมีการปล่อยพันธุ์ลูกกุ้งจากศูนย์วิจัยพัฒนาสัตว์น้ำชายฝั่ง มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 10 กว่าปี จึงทำให้ผลผลิตออกสู่สายตาชาวประมงอย่างปฏิเสธไม่ได้
นายทศพล ยังกล่าวอีกว่า นับตั้งแต่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งปัตตานี ได้เริ่มดำเนินการผลิตพันธุ์กุ้งกุลาดำ ขนาด 0.5-1.0 กรัม หรือขนาด 1,000-2,000 ตัวต่อกิโลกรัม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2563 พบว่าในกระบวนการเพิ่มผลผลิตกุ้งกุลาดำในแหล่งน้ำธรรมชาติของ จ.ปัตตานี เป็นผลงานสำคัญชิ้นหนึ่งของกรมประมง ที่ได้สร้างเอกลักษณ์อันโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของราษฎร และชาวประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานี และตามแนวชายฝั่งทะเล 6 อำเภอของ จ.ปัตตานี ได้แก่ อ.หนองจิก เมืองปัตตานี ยะหริ่ง ปะนาเระ สายบุรี และ อ.ไม้แก่น เป็นอย่างมาก
จากการติดตามผลการจับกุ้งกุลาดำในปีนี้ พบว่า ชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับกุ้งกุลาดำ ขนาด 100-300 กรัม ได้เป็นจำนวนมาก แต่ละครั้งที่ชาวประมงออกจับกุ้งกุลาดำ จะได้ผลผลิตกุ้งกุลาดำตั้งแต่ 3-20 กิโลกรัมต่อวัน โดยปริมาณกุ้งที่จับได้มากที่สุดมีน้ำหนัก 20 กิโลกรัมต่อครั้งที่ออกเรือวางอวน ราคาในการจำหน่ายแบ่งขนาดกุ้งที่จับได้เป็น 2 ขนาด คือ กุ้งกุลาดำที่มีขนาดตั้งแต่ 150 กรัมขึ้นไป ราคาจำหน่ายประมาณ 400-600 บาท กุ้งกุลาดำขนาดต่ำกว่า 150 กรัม ราคาจำหน่ายประมาณ 350 บาท
จากการสำรวจข้อมูลผลผลิตครั้งนี้ พบว่าในพื้นที่ 6 อำเภอตามแนวชายฝั่งทะเล ชาวประมงสามารถจับพันธุ์กุ้งกุลาดำได้ในช่วง 4 เดือนของฤดูมรสุม ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงมีนาคม 2563 คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 5,292,000 บาท จากการดำเนินงานด้วยเงินงบประมาณ 1,800,000 บาท ในปีงบประมาณ 2563