xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.บต.-ม.อ.ปัตตานี ต้อนรับทีมคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ฯ ม.เกษตรศาสตร์ เดินหน้าพัฒนาการเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ศอ.บต.ร่วมกับ ม.อ.ปัตตานี ต้อนรับทีมงานคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.เกษตรศาสตร์ เพื่อเดินหน้าพัฒนาการเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจสู่ตลาดโลก

วันนี้ (27 พ.ย.) ที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี พ.อ.นิรินธน์ ปุณโณทก ฝ่ายอำนวยการประจำ รองเลขาธิการ ศอ.บต. กลุ่มงานพัฒนาเศรษฐกิจ ศอ.บต. ร่วมต้อนรับ ผศ.ดร.สุริยัน ธัญกิจานุกิจ คณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะลงพื้นที่ จ.ปัตตานี เพื่อเยี่ยมชม และรับฟังบรรยายการพัฒนาศักยภาพพื้นที่ต่อการเลี้ยงสัตว์น้ำทะเล เช่น ปูทะเล ปลิงทะเล และสาหร่ายทะเล โดยมี ผศ.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ ม.อ.ปัตตานี รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี ผศ.ดร.มนูญ ศิรินุพงศ์ ผอ.สน.ส่งเสริมและบริการวิชาการ ม.อ.ปัตตานี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ มีการบรรยายเรื่องศักยภาพการเลี้ยงปูทะเล ปลิงทะเล และสาหร่ายทะเลในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อนำเสนอศักยภาพพื้นที่ ถึงสภาพปัญหาด้านต่างๆ เช่น สภาพดิน อากาศ วิธีการดูเลี้ยง การพัฒนาสายพันธุ์ การขุนปู/ปูนิ่ม การอนุบาล และการตลาด ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาพื้นที่ จ.ปัตตานี มาต่อยอดการส่งเสริมอาชีพของชาวประมงให้ยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การตลาดโลก และนำเข้าสู่การเรียนการสอนในหลักสูตรในรายวิชาการ พร้อมต่อยอดสู่ชุมชนต่อไป


รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า พื้นที่ จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่นากุ้งร้างบริเวณชายฝั่งทะเล ทำให้เหมาะต่อการเลี้ยงปูทะเล ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าปูทะเล และมีความต้องการตลาดสูง ตั้งเป้าพัฒนาปูทะเลให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่สร้างผลผลิตได้ 5,000 ล้านบาท 2 หมื่นตัน ภายในระยะเวลา 5 ปี จะเกิดการจ้างงานสร้างอาชีพกว่าหมื่นคน

อย่างไรก็ตาม ทางด้าน พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้ลงพื้นที่ฟาร์มเพาะพันธุ์ปูทะเลที่ อ.ยะหริ่ง เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2563 พร้อมได้ให้สัมภาษณ์ว่า ต้องการให้ปูทะเลเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกหนึ่งชนิด ปัญหาปากท้องเป็นปัญหาที่รอไม่ได้ รอให้ราคายาง ปาล์มมีราคาแพงไม่ได้ แต่ทำทุกตารางนิ้วของบ้านให้มีรายได้เลี้ยงชีพ คนที่ทำอาชีพประมง หรือสวนยางเป็นหลักก็ดำเนินการต่อไป แต่อาชีพเสริมที่เพิ่มเข้ามาคือการขายมะพร้าวป้อนโรงงาน และการเลี้ยงปูทะเลเพื่อจำหน่าย โดย ศอ.บต. หวังส่งเสริมทุกอาชีพ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เข้ากระเป๋าหลายช่องทาง ทุกบ้าน ทุกวัน เพราะเชื่อว่าการทำอาชีพมากกว่า 1 อาชีพจะชดเชยรายได้ให้กันได้






กำลังโหลดความคิดเห็น