กระบี่ - ฮือฮา! นักท่องเที่ยวพบปลาหมึกยักษ์หายาก สีแดงทั้งตัวโผล่ชายหาดหลังเกาะปอดะ ยาวประมาณ 2 ฟุต หนักกว่า 2 กก.เจ้าของบริษัททัวร์นำไปปล่อยทะเลลึก นักวิชาการเผยเป็นหมึกไดม่อนหายาก เคยพบครั้งแรกเมื่อ 30 ปีก่อน
กำลังกลายเป็นที่ฮือฮาในกลุ่มผู้ประกอบการนำเที่ยว จ.กระบี่ เมื่อนักท่องเที่ยวเจอปลาหมึกตัวสีแดงขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 2 ฟุต หนักกว่า 2 กก. หลังโผล่ขึ้นมาบริเวณน้ำตื้นบนอ่าวบุหยา ใกล้กับเกาะปอดะ ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ สร้างความตื่นเต้นแก่นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการนำเที่ยวเป็นอย่างมาก ต่างพากันถ่ายภาพเป็นทีระลึก เนื่องจากไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน จากนั้นผู้ประกอบการเรือนำเที่ยวจึงได้นำไปปล่อยกลางทะเล ก่อนที่หมึกตัวดังกล่าวได้ดำน้ำหายไป
นายอภิวัฒน์ เหลืองอ่อน อายุ 36 ปี เจ้าของ บริษัทนำเที่ยวกระบี่ จิงเฉิง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ที่นำหมึกดังกล่าวไปปล่อยกลางทะเล เปิดเผยว่า เจอหมึกตัวดังกล่าวเมื่อประมาณ กลางเดือนที่ผ่านมา ขณะนำนักท่องเที่ยวไปดำน้ำตื้นที่บริเวณอ่าวบุหยา ซึ่งอยู่ด้านหลังเกาะปอดะ ขณะที่นักท่องเที่ยวกำลังเล่นน้ำชายหาด ปรากฏว่า มีปลาหมึกตัวดังกล่าวลักษณะสีแดงทั้งตัว เวียนว่ายหากินบริเวณน้ำตื้นชายหาด นักท่องเที่ยวพากันมามุงดูด้วยความตื่นเต้น เนื่องจากไม่เคยพบเห็นมาก่อน ขณะที่ตนทำบริษัททัวร์มากว่า 10 ปี ก็เพิ่งเคยเจอเป็นครั้งแรก ที่ผ่านมา เคยเห็นแต่ในสารคดีญี่ปุ่น หลังจากที่ทุกคนถ่ายภาพเรียบร้อยจึงได้นำหมึกตัวดังกล่าวไปปล่อยกลางทะเล ห่างจากชายหาดอ่าวบุหยาประมาณ 100 เมตร เพื่อให้กลับไปที่อยู่ของมัน
ขณะที่นายรากิยา ปราบดิน กรรมการสมาคมชาวประมงจังหวัดกระบี่ ซึ่งประกอบอาชีพเรือไดหมึกมาหลายสิบปี กล่าวว่า คาดว่าหมึกตัวดังกล่าวจะเป็นหมึกค้างคาว อยู่ในทะเลลึก ที่ผ่านมา นานๆ ครั้งจึงจะพบแต่ไม่นิยมนำมากินเป็นอาหาร เพราะเนื้อเหนียวและแข็ง
ด้าน ดร.อนุวัฒน์ นทีวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า หมึกดังกล่าวเป็นหมึกไดม่อน (Diamond squid) เป็นหมึกที่อาศัยในทะเลลึกเขตร้อน หรือเขตอบอุ่น ตัวที่พบน่าจะยังเล็กอยู่ ส่วนตัวใหญ่จะมีความยาวประมาณ 2-3 เมตร คาดว่าน่าจะหลงเข้ามาในช่วงสภาพน้ำทะเลเปลี่ยนแปลง
ซึ่งในประเทศไทยตนพบครั้งแรกที่ฝั่งทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ส่วนฝั่งอ่าวไทยยังไม่มีรายงานการพบหมึกดังกล่าว และได้มีการทำบันทึกเอาไว้ที่ศูนย์วิจัยฯ พบได้ทั่วโลก โดยหมึกไดม่อน อาศัยอยู่ในทะเลลึก หรือมหาสมุทร บางครั้งว่ายน้ำเข้ามาใกล้ชายฝั่ง มักอยู่กันเป็นคู่ผัวเมีย ญี่ปุ่นจับเป็นหมึกเศรษฐกิจ