จากนาบอนถึงริมฝั่งเจ้าพระยา โดย.. ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที
ในช่วงปลายสัปดาห์ของเดือนตุลา “เห็นรอยยิ้มชาวสวนยางภาคใต้ยิ้มนี้ยิ้มสั้นๆ ไม่นานเพียง 10 วัน”
“ได้ยินเสียงที่สดชื่นของชาวสวนยางประมาณสักสิบวัน” หลังจากนั้นก็เป็นเสียงถอนหายใจตามร้านกาแฟ ตามกงซี้บ้านพักในสวนยาง!
ราคายางแผ่นรมควันไต่ระดับจาก 60 บาทพุ่งไปถึง 80 บาท ภายใน 2 สัปดาห์ ราคาน้ำยางสดก็ไต่ระดับจาก 50 บาทไปถึง 74 บาท ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นกระชุ่มกระชวยไม่ใช่น้อย ที่ตลอดระยะเวลาสี่ห้าปีมานีี้. ปรากฏการณ์ของราคายางดังกล่าวทำให้หลายฝ่าย “ตื่นเต้น” “แตกตื่น” จนสร้างความเสียหายให้แก่ธุรกิจการซื้อขายการเก็งราคายาง
สหกรณ์ผู้ผลิตยางหรือกลุ่มเกษตรของชุมชนต่างๆ ในท้องถิ่นในชุมชนบาดเจ็บกันมาก ในช่วงที่ยางไต่ราคาก็ไปซื้อกันเอาไว้ ตั้งใจจะขายตอนที่กิโลละ 80 บาท สัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน ราคาก็ร่วงลงมาเรื่อย จากราคา 80 ลงมาที่ 60 บาท ถือเป็นสภาวการณ์ของความผิดปกติไม่ใช่เกิดในประเทศไทยเท่านั้น
แต่เป็นปรากฏการณ์ของระดับภูมิภาค “ที่ตื่นเต้น” และ “แตกตื่น”
จากข้อมูลบอกเราว่าโลกใบนี้ ประเทศไทยพูดได้ว่า เราผลิตน้ำยางพารา (Latex) 80 เปอร์เซ็นต์ เราป้อนขายให้โลกใบนี้ จากสภาพการณ์ของโควิด-19 ที่มีความต้องการของการบริโภคถุงมือยาง ทำให้หลายประเทศดิ้นรนแสวงหาถุงมือยาง เพื่อใช้เป็นสินค้าเพื่อความมั่นคง มีการพูดกันถึงความต้องการ มีคำสั่งซื้อจำนวนมาก จนบริษัทผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ ทั้งในมาเลเซียและประเทศไทย คำสั่งซื้อถุงมือยางเร่งรัดการผลิตไปถึงปีหน้าและเพิ่มกำลังการผลิตกันหลายโรงงาน เพราะความไม่มั่นใจในสถานการณ์ของการควบคุมโรคระบาด ซึ่งก็แน่นอนว่าถุงมือยางทางการแพทย์ ถุงมือยางเพื่อสุขอนามัยทุกประเภทใช้น้ำยางพารา (Latex)
อุตสาหกรรมน้ำยางสดไม่ใช่ยางแห้ง ธรรมชาติของสินค้าตัวนี้ เครื่องจักรที่กวนน้ำยางปั่นน้ำยาง การเก็บรักษา “ยาก” “บูดง่าย” “อ่อนไหวง่าย (sensitive Product)” การเก็บสต๊อกจึงมีข้อจำกัด เมื่อรับซื้อกันเต็มก็คือเต็ม
กำลังความสามารถในการซื้อเก็บในสต๊อกจึงมีข้อจำกัด เมื่อซื้อสต๊อกเต็มอิ่ม ราคาก็นิ่งและหยุดซื้อ!
เหตุแห่งการตื่นของราคายางพาราอีกปัจจัย “พัดราคาสูงดั่งพายุและลงเร็วดั่งพายุ” นั่นคือสภาพปริมาณฝนชุกปีนี้ซัดกระหน่ำกันมาหลายลูก แน่นอนว่าซัดกระหน่ำส่งผลยังประเทศผู้ผลิตยางที่ป้อนโลกใบนี้ ทั้งไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม เขมร พม่าตอนใต้ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา พายุสารพัด “ซังมี” “เมขลา” “บาหวี” “ไม้สัก” “ไห่เฉิน” “โนอึล” “ อัสนี” “ไต้ฝุ่นโซเดล” ซินลากู พายุไต้ฝุ่น “โมลาเบ” ฝนชุกมาก ภาวะของผลผลิตที่น้อย บางโรงงานในภาคใต้กำลังการผลิตของยางหายไปถึง 50 เปอร์เซ็นต์ หลายโรงบอกว่าปีนี้ยางแผ่นรมควันน้อย ถึงวันนี้เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ โรงงานมีกำลังการผลิต 4 เตาอบ วันนี้ยางเข้ามาให้อบไม่ถึง 2 เตากันเลย
ภาวการณ์ขึ้นลงของราคาครั้งนี้เป็นเรื่องใหม่ เป็นประวัติศาสตร์ของวงการค้ายางเลยก็ว่าได้!
การขึ้นลงของราคายางก่อนหน้านี้จะมีการไต่ระดับทั้งขึ้นและลงใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนมีการไต่ระดับวันละ 40 สตางค์บ้าง 50 สตางค์ หรือหนึ่งบาท แต่ครั้งนี้ราคาเหวี่ยงกัน 5 บาท 7 บาท 10 บาท
ครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ราคายางขึ้นสูงสุด 20 บาทภายในระเวลา 10 วันโดยเฉลี่ย
จนผู้เกี่ยวข้องในวงการยาง “ตื่นเต้น” “ดีใจ” กระตุ้นชาวสวนยางให้คาดหวังว่าจะถึง 100 บาท
แต่แล้วเกิดปรากฏการณ์ “10 วันดีใจ..10 วันต่อมาก็ถอนหายใจ”
เส้นทางของยางพาราไทย โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยาง อุปมาเหมือนเดินมาถึงทางถนนสี่แยก ซึ่งเป็นโครงสร้างราคาที่กำหนดความเป็นไปของกลไกราคาของพี่น้องชาวสวนยาง
การผลิตยางของพี่น้องเกษตรกร เมื่อออกจากสวนของประเทศไทย วิ่งมาถึงสี่แยก หากเลี้ยวซ้ายคือ “ขายน้ำยางสด (latex)” หากเลี้ยวขวา “ขายเป็นยางแผ่นรมควัน” หากวิ่งตรงไปข้างหน้าคือ “ขายยางก้อนถ้วย Cup lump เป็นยางแท่ง”
สังเกตได้ว่าเมื่อน้ำยางสดสต๊อกเต็มอิ่ม การผลิตของโรงงานที่ผลิต Latex ทำให้ราคาน้ำยางสดก็จะเริ่มลง และโรงงานผลิต Latex จะขึ้นป้ายงดซื้อน้ำยางสดแก่ลูกค้าขาจร เมื่อราคาน้ำยางสดลงปริมาณการผลิตยางแผ่นจะเพิ่มมากในท้องตลาด
สิ่งเหล่านี้คือสภาพความจริงของโครงสร้างราคาของเกษตรกรบนสี่แยกของโครงสร้างราคาวิ่งตรงเป็น Cuplump เป็นยางแท่ง เลี้ยวซ้ายไปสู่การขายน้ำยางสดเป็นยาง Latex เลี้ยวขวาก็ไปทำยางแผ่นแห้งยางแผ่นรมควัน
ที่เล่าความมาทั้งหมดก็เพื่อบอกเกษตรกรชาวสวนยางให้ได้เห็นภาพของโครงสร้างราคาในแต่ละวัน!
เพื่อจะได้เป็นผู้เลือกในการตัดสินใจหากมีทางเลือกขายวัตถุดิบจากต้นน้ำ ว่าจะไปตรง เลี้ยวซ้าย หรือเลี้ยวขวา
แต่ที่แน่ๆ อยากให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง อย่าได้ผูกชีวิตทางเศรษฐกิจไว้กับยางเส้นเดียว!
โครงการสวนยางยั่งยืน การลดจำนวนต้นยาง ปลูกพืชผสมผสานในสวนยางให้มีความหลากหลาย มีรายได้จากความหลากหลายของพืชพันธุ์ธัญญาหารที่มีมากกว่าต้นยาง คือภูมิคุ้มกันในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ในเมื่อเราควบคุมโลกใบนี้ไม่ได้ ก็จงผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหารให้เพิ่มขึ้นในสวนยาง
เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งในแผ่นดิน มีทั้งไม้ดอก ไม้แดก ไม้ดม ไม้ดื่ม เมื่อพืชพันธุ์ธัญญาหารเหล่านี้งอกงามในสวนยาง
เปลี่ยนภาวะการถอนหายใจจากเรื่องปัญหาราคายางไปให้พลังจอบกันดีไหม คือปลูกและปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน ปลูกทุกพืชที่ลูกต้องกินเพื่อลดรายจ่าย ปลูกและปลูก และอย่าหยุดปลูก เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งใหม่ในโครงการสวนยางยั่งยืน!