พัทลุง - เกษตรกรชาวบ้านขาม ต.ลำสินธุ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง ปลูก ‘แส้’ เป็นพืชแซมสวนยางพารา สร้างเศรษฐกิจ สร้างรายได้สู่ชุมชน
เกษตรกรชาวสวนยางพารานั้น เมื่อต้นยางมีอายุ และอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถกรีดได้แล้ว ก็มีความจำเป็นที่จะต้องโค่นต้นยางเก่าเพื่อปลูกใหม่ทดแทน จึงเป็นช่วงระยะที่เกษตรกรสูญเสียรายได้ยาวนานถึง 7 ปี แต่เพื่อสร้างรายได้ทดแทนแก่ครอบครัว เกษตรกรชาวสวนยางจึงนิยมปลุกขมิ้นแกง ตะไคร้ ข้าวโพด ถั่วชนิดต่างๆ และปลูกกล้วยไข่แซมยาง แต่เกษตรกรชาวสวนบ้านขาม หมู่ 7 ต.ลำสินธุ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง นอกเหนือจากปลูกพืชทั่วๆ ไปแล้ว เกษตรกรชาวสวนยางกว่า 30 ครอบครัว ยังลงทุน “ปลูกแส้” ซึ่งเป็นผักพื้นบ้านเฉพาะถิ่น ปลูกแซมในสวนยางพาราปลูกใหม่ ซึ่งสามารถเก็บผลผลิตขายได้ตลอดปี และมีตลาดที่แน่นอน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี
นายบัวคลาย เพชรโชติ เกษตรกรบ้านเลขที่ 180 หมู่ 7 ต.ลำสินธุ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง ที่ประกอบอาชีพปลูกแส้แซมในสวนยางพาราต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปี เผยว่า “แส้” เป็นพืชผักพื้นบ้านประเภทอาหารที่ปลูกได้เฉพาะถิ่น แต่ที่บ้านขามมีการปลูกแส้เพื่อกินเป็นอาหาร และส่งขายต่อเนื่องมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเกษตรกรชาวสวนยางเพียงหมู่เดียวที่มีการปลูกแส้แซมยางในปัจจุบัน มีเกษตรกรชาวสวนยางหมู่บ้านข้างเคียงก็พยายามที่จะนำไปปลูกแซมยางอยู่บ้าง แต่ประสบปัญหาต้นแส้ใบเล็ก หัวเล็ก ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ปลูกแล้วก็ขายผลผลิตไม่ได้ก็ต้องเลิกไปในที่สุด แต่เกษตรกรชาวสวนยางบ้านขามประมาณ 30 ครอบครัว ยังนิยมปลูกแส้เป็นพืชแซมยางในสวนของตัวเอง และขอใช้พื้นที่สวนยางของเพื่อนบ้าน
ครอบครัวของตนเองนั้นเริ่มปลูกแส้แซมในสวนยางต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปี ปัจจุบันขอใช้พื้นที่สวนยางของเพื่อนบ้านปลูกแส้ จำนวน 3 ไร่ ปลูกปีละ 2 รอบ ได้รับผลผลิตปีละประมาณ 3,000-3,500 กิโลกรัม และมีแม่ค้าในหมู่บ้านรับซื้อส่งขายต่อไปต่างจังหวัด ในราคากิโลกรัมละ 30-40 บาท ปลูกแส้พื้นที่ 3 ไร่ ปลูกแบบหมุนเวียน สามารถเก็บผลผลิตขายมีรายได้ตลอดปี ในแต่ละวันจะถอนต้นแส้ขายวันละ 50-80 กิโลกรัม เนื่องจากแม่ค้าจะต้องรับซื้อแส้ของเกษตรกรรายอื่นด้วย เพราะแม่ค้าก็รับซื้อในปริมาณที่จำกัด หรือวันละประมาณ 200-300 กิโลกรัมเท่านั้น
สำหรับการปลูกแส้นั้นเป็นอาชีพที่ลงทุนน้อย ให้ผลผลิตเร็ว ไม่ต้องใช้น้ำ เริ่มตั้งแต่การเตรียมดินในร่องสวนยางพารา นำพันธุ์แส้ที่เตรียมไว้ลงปลูกกอละ 2-3 หัว ระยะห่างประมาณ 1 คืบ ที่ดิน 1 ไร่ ใช้ต้นพันธุ์ปลูกประมาณ 50 กิโลกรัม ใช้เวลาบำรุงรักษาประมาณ 3 เดือน ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ 2 ครั้ง ก็สามารถถอนต้นแส้ส่งขายได้ไร่ละประมาณ 600 กิโลกรัม เมื่อถอนแล้วก็ต้องนำแส้ไปล้างน้ำ ตรงบริเวณที่มีน้ำไหลเชี่ยว เพื่อให้น้ำได้ช่วยชะล้างดินออกจากหัวของแส้ ต่อจากนั้นก็ต้องคัดเอาใบแส้ที่แห้ง และใบสีแดงออกก่อนที่จะมัดเป็นกำๆ ละ 1 กิโลกรัม ก็จะมีแม่ค้ามารับของที่บ้านทุกวัน
ส่วนปัญหาในการลงทุนปลูกแส้แซมยางนั้น มีพื้นที่จำกัด และใช้ที่ดินปลูกแส้ได้เฉพาะช่วงที่ต้นยางมีอายุ 1-3 ปีเท่านั้น เมื่อยางอายุครบ 3 ปี จะต้องหยุดปลูก และจัดหาพื้นที่ปลูกใหม่ เจ้าของสวนยางบางรายก็ไม่ยินยอมให้ปลูกแส้ในร่องยาง เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองก็ต้องหยุดประกอบอาชีพ และถ้าหากมีพื้นที่ปลูกต่อเนื่อง การปลูกแส้แซมยางก็เป็นอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ดีกว่าประกอบอาชีพอย่างอื่น เพราะลงทุนนี้มีตลาดขายที่แน่นอน