xs
xsm
sm
md
lg

หวังส่งออก “ปูทะเล” 5 ล้านบาทต่อปี สร้างรายได้ให้ชายแดนใต้ทดแทนราคายาง-ปาล์มตกต่ำ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ศอ.บต.ผลักดัน “ปูทะเล” เป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่ชายแดนใต้ ม.อ.ปัตตานี ตั้งเป้าให้พื้นที่ส่งออกปูทะเลมูลค่ากว่า 5 ล้านบาทต่อปี

ที่ จ.ปัตตานี พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ตรวจดูความคืบหน้าการก่อสร้างโรงฟักลูกปู ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และบ่อเลี้ยงปู ต.บางปู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ภายหลังที่ ศอ.บต.ส่งเสริม สนับสนุนการเลี้ยงปูทะเล เพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจ เป็นอีกหนึ่งอาชีพของประชาชนชายฝั่งทะเล นอกเหนือจากอาชีพประมง หวังให้มีรายได้หลายช่องทาง

พล.ร.ต.สมเกียรติ เปิดเผยว่า ต้องการให้ปูทะเลเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกหนึ่งชนิด ปัญหาปากท้องเป็นปัญหาที่รอไม่ได้ รอให้ราคายาง ปาล์ม มีราคาแพงไม่ได้ แต่ทำทุกตารางนิ้วของบ้านให้มีรายได้เลี้ยงชีพ คนที่ทำอาชีพประมงหรือสวนยางเป็นหลักก็ดำเนินการต่อไป แต่อาชีพเสริมที่เพิ่มเข้ามาคือ การขายมะพร้าวป้อนโรงงาน และการเลี้ยงปูทะเลเพื่อจำหน่าย โดย ศอ.บต.หวังส่งเสริมทุกอาชีพ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เข้ากระเป๋าหลายช่องทางทุกบ้านทุกวัน เพราะเชื่อว่าการทำอาชีพมากกว่า 1 อาชีพจะชดเชยรายได้ให้กันได้

“ม.อ.ปัตตานีได้สนับสนุนให้ดำเนินการสร้างโรงฟักเลี้ยงลูกปู เพื่อหวังให้เป็นศูนย์จำหน่ายลูกปูที่มีคุณภาพและราคาถูกแก่ชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อให้ซื้อไปเพาะเลี้ยงจำหน่ายในราคาต้นทุนต่ำ แต่ได้กำไรดี โดย รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งเป้าให้พื้นที่และประเทศไทยส่งออกปูทะเลมูลค่า 5 ล้านบาท รองจากประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศส่งออกปูทะเล มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี” เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าว

ด้าน นายวรวุฒิ พิทักษ์สันติกุล ผอ.ศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนจังหวัดปัตตานี‎ เผยถึงการส่งเสริมการเลี้ยงปูทะเลเพื่อจำหน่ายของชาวบ้าน ต.บางปู ว่า การนำร่องเลี้ยงปูทะเลขณะนี้ดำเนินไปในทิศทางที่ชาวบ้านพอใจและสุขใจ เพราะเลี้ยงปูทะเลเพื่อจำหน่าย ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการอนุรักษ์ ดูแลทรัพยากรชายฝั่งป่าชายเลนให้อุดมสมบูรณ์ สร้างรายได้เป็นอาชีพเสริมแก่กลุ่มเลี้ยงปูในพื้นที่ ประมาณเดือนละ 50,000-60,000 บาทต่อกลุ่ม เพียงซื้อลูกปูตัวละ 10 บาท นำมาเพาะเลี้ยงเป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้โตเต็มที่ นำมาคัดแยกจำหน่ายกิโลกรัมละ 500-600 บาท เป็นประจำทุกสัปดาห์


กำลังโหลดความคิดเห็น