xs
xsm
sm
md
lg

จากปัตตานีถึงนนทบุรี! ลูกหลาน “ชุมชนสุเหร่าแดง” ร่วมกันต่อลมหายใจภาษามลายู

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ชุมชนสุเหร่าแดง จ.นนทบุรี ลูกหลานชาวมลายูปัตตานี ซึ่งมาตั้งรกรากสมัยรัชกาลที่ 1 หันมาอนุรักษ์ภาษา หวังต่อลมหายใจของภาษามลายู หลังลบเลือนตามกาลเวลา

เพจ “ลูกศิลป์” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์แห่งคณะไอซีที มหาวิทยาลัยศิลปากร เผยแพร่บทความเรื่อง “ลมหายใจ ‘ภาษามลายู’ แห่งชุมชนสุเหร่าแดง” โดยเป็นการเล่าเรื่องของผู้เขียนที่เข้าไปตามหา “ลมหายใจของภาษามลายู” ที่สุเหร่าแดงท่าอิฐ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จ.นนทบุรี อายุกว่า 100 ปี ซึ่งตั้งอยู่กลางบ้านเรือนของชาวมุสลิมที่มาจากปัตตานีและมาเลเซียเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1

เพจลูกศิลป์ยกคำให้สัมภาษณ์ของ “ไฟซอล สวนดี” ที่เป็นทั้งผู้ดูแลและให้ความรู้เกี่ยวกับสุเหร่าว่า คนที่นี่ไม่พูดภาษามลายูกันแล้ว แต่คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ยังพูดกันอยู่ ซึ่งปัจจุบันนี้ ชุมชนพยายามอนุรักษ์ภาษามลายูเอาไว้ โดยเชิญอาจารย์พิเศษจากมาเลเซีย มาสอนภาษามลายูที่มัสยิดทุกวันเสาร์ สำหรับผู้ที่สนใจจะเรียนรู้ภาษามลายู และจัดการเรียนการสอนของภาษามลายูในโรงเรียนท่าอิฐศึกษา เป็นหลักสูตรบังคับพื้นฐาน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาไปจนถึงมัธยมศึกษา

ผู้เขียนบทความดังกล่าวได้ทดลองเรียนภาษามลายูด้วย ครูบอกว่า ที่ตัวเธอมาสอนภาษามลายู เพราะเกิดและโตมาในครอบครัวของชาวมลายู และที่บ้านก็ยังพูดภาษามลายูกัน ซึ่งมันก็เป็นเรื่องดีถ้าตัวเธอได้สอนในสิ่งที่ตัวเองถนัด

“ครูรู้สึกดีมากๆ ที่มียังมีคนสนใจภาษานี้อยู่ อย่างน้อยสิ่งที่พวกครูพยายามอนุรักษ์มาก็ไม่สูญเปล่า การที่เราเกิดมามีเชื้อสายมลายูแต่กลับพูดภาษามลายูไม่ได้มันเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เพราะถือว่าภาษาเหล่านี้เป็นกำไรชีวิตด้วยซ้ำ”

ผู้เขียนระบุว่า เมื่อได้ฟังก็ฉุกคิดได้ว่า เมื่อเกิดการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย วิถีชีวิต และผู้คนเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ภาษาท้องถิ่นถูกหลงลืม เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชุมชนนั้นๆ ก็จะถูกลบเลือนตามไปด้วย ยิ่งเราไม่อนุรักษ์ไว้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งสูญหายไปมากเท่านั้น

“นั่นจึงเป็นเหตุผลที่พวกเขา ชุมชนสุเหร่าแดงท่าอิฐพยายาม ‘ต่อลมหายใจของภาษามลายู’ ให้กลับคืนสู่ชุมชนแห่งนี้”

อ่านเรื่องราวทั้งหมดได้ที่ https://www.facebook.com/looksilp/posts/3576989529004342


กำลังโหลดความคิดเห็น