ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “หมอสุภัทร” ผอ.รพ.จะนะ เตือนชาวนาระวัง “โรคหอยคัน” ระบาด ซึ่งเป็นตัวอ่อนพยาธิใบไม้ในเลือดชนิดหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในตัวหอยคันในนาข้าว หลังมีชาวนาในพื้นที่ 7 ตำบลของ อ.จะนะ มีปัญหาเป็นผื่นคัน เข้ารับการรักษาแล้ว 233 คน
วันนี้ (11 พ.ย.) ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ได้มีชาวบ้านจำนวนมากกว่า 200 คน ซึ่งเป็นชาวนา ประสบกับปัญหาดำนาแล้วเกิดผดผื่นคัน และเป็นตุ่มตามแขนขา ตลอดช่วงเวลาประมาณเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลทำนาของภาคใต้ และชาวนาส่วนใหญ่ยังคงทำนาแบบดั้งเดิม โดยอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ไม่มีใครทราบว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ และมีการตั้งข้อสังเกต ทั้งในส่วนของน้ำเสียจากครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม และเชื้อปรสิตจากหอยในนานั้น
ล่าสุด เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ เปิดเผยว่า ในช่วงเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา ได้มีชาวนาในพื้นที่ 7 ตำบลของ อ.จะนะ มาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจะนะ ด้วยอาการเดียวกัน คือ เป็นผดผื่นคันตามร่างกายมากถึง 233 คน โดยเฉพาะที่แขนและขา ซึ่งเป็นส่วนที่สัมผัสกับน้ำในนาโดยตรง และคาดว่าอาจจะมีจำนวนมากกว่านี้ แต่อาการอาจจะไม่ถึงขั้นรุนแรง หรือรอให้หายไปเอง จึงไม่ได้มาพบแพทย์ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นพบเป็นครั้งแรก และมีผู้ป่วยจำนวนมากในรอบ 20 ปี
โดยผื่นคันที่เกิดขึ้นนั้น จากการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สำนักโรคจากการประกอบอาชีพ กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งสถาบันโรคผิวหนังภาคใต้ จ.ตรัง และคณะแพทย์จากโรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมกันมาสอบสวนโรค และหาสาเหตุ รวมทั้งจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ทำแผนที่การระบาด และการนำตัวอย่างน้ำ และหอยในนาไปตรวจ ซึ่งมีผู้ป่วย 4 คน ยินดีให้ทำ skin biopsy หรือผ่าเอาเนื้อผิวหนังไปตรวจโดยกล้องจุลทรรศน์
จึงพบว่ามาจากตัวอ่อนพยาธิใบไม้ในเลือดที่อยู่ในตัวหอยคัน ซึ่งเป็นหอยขนาดเล็กที่อยู่ในนาข้าว หรืออาจจะเรียกสั้นๆ ว่า “โรคหอยคัน” เนื่องจากผลการตรวจผู้ป่วยพบตัวอ่อนพยาธิ 3 คน จากที่ส่งตรวจไป 4 คน และในน้ำที่ส่งตรวจก็พบเชื้อพยาธิตัวนี้ด้วย ส่วนหอยที่อยู่ในนาข้าวอีก 2 ชนิด คือ หอยเชอรี่ และหอยโข่ง ในตอนนี้ยังไม่พบตัวอ่อนของพยาธิดังกล่าว
ส่วนอาการคัน หรือผื่น เกิดจากตัวอ่อนของพยาธิที่ไชเข้าไปสู่ผิวหนังของคนไข้ แต่พยาธินี้เป็นพยาธิใบไม้ในเลือดที่เติบโตได้จำเพาะเฉพาะในสัตว์ (Animal Schistome) ไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยในคนได้ เมื่อชอนไชเข้าสู่ร่างกายของคน พยาธิก็จะตายหลังจากไชไประยะเวลาหนึ่งที่บริเวณชั้นผิวหนัง และการไชไปตามผิวหนัง ก็จะกระตุ้นให้เกิดผื่น และอาการคัน ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยพบว่าคนไข้ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นได้เองหลังผ่านไป 1-2 อาทิตย์ และการใช้ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ทั่วไปก็สามารถช่วยให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้น ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปที่มีเภสัชกรเป็นผู้ควบคุม
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ เปิดเผยอีกว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าอะไรเป็นปัจจัยทำให้เกิดการระบาดของเชื้อพยาธิในครั้งนี้ หรือเพราะว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เอื้อต่อการเติบโตของหอย และเชื้อพยาธิ หรือการไหลหมุนเวียนของน้ำ หรือของเสียจากสารเคมี หรือแม้กระทั่งห่วงโซ่อาหารที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งต้องร่วมกันหลายภาคส่วนในการระดมความคิดเห็น และหาแนวทางแก้ปัญหาที่อาจจะส่งผลต่อเนื่องกับชาวนาในระยะยาว