ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ศอ.บต.จ่อปัดฝุ่น เตรียมผลักดันการแปรรูปไก่ฮาลาลเพื่อการส่งออก ให้เป็น “ศูนย์กลางผลิตอาหารฮาลาลเพื่อโลกมุสลิม” พร้อมรองรับการสร้างอาชีพในพื้นที่ชายแดนใต้
นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมด้วยผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ประธานมูลนิธิเพื่อการแพทย์และสาธารณกุศล หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดยะลา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมการแปรรูปไก่ฮาลาลเพื่อการส่งออก กับผู้แทนบริษัท A.C.F. & Container Frozen Farm Company Limited นำโดย นายชาลี มาสะและ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.ซี.เอฟ.แอนด์ คอนเทนเนอร์ โฟรเซน ฟาร์ม จำกัด และ ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ห้องประชุมเจริญจิตต์ ณ สงขลา ศอ.บต.
ทั้งนี้ ศอ.บต. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน “เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดชายแดนใต้” คือแหล่งผลิตอาหารฮาลาลที่สำคัญ ประกอบด้วย จ.ปัตตานี ยะลา และ จ.นราธิวาส คือ Muslim Area ที่มุสลิมทั่วโลกรู้จัก OIC รับรองว่าเป็นจังหวัดมุสลิมในประเทศไทย เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดใต้คือ “ครัวแห่งอาหารฮาลาล” จึงได้มีการประชุมหารือในครั้งนี้
โดยการหารือขับเคลื่อนแปรรูปไก่ฮาลาลเพื่อการส่งออก เพื่อสร้างแหล่งอาหาร สร้างรายได้ สร้างอาชีพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก ผลิตทางการเกษตรเพื่อแปรรูป และบริโภคทำให้ผลผลิตของไทยติดอันดับ 1-5 ของโลกทุกผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ข้าว น้ำตาล ไก่สดแช่แข็ง อาหารทะเลแช่แข็ง ผลไม้แปรรูป ผลไม้แช่แข็ง
นอกจากนั้น ผลไม้สด เช่น ทุเรียน มังคุด ก็ยังเป็นผลไม้ติดอันดับ 1 ของโลกเช่นกัน และในทั่วโลกมีประชากรมุสลิมกว่า 2,000 ล้านคน มุสลิมทุกคนต้องบริโภคอาหารฮาลาล ทั้งนี้ ไก่คือวัตถุดิบในการประกอบอาหารที่สำคัญ และประเทศไทยมีศักยภาพอย่างมากในการเป็นผู้นำในการผลิต และส่งออกอาหารฮาลาล พร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลเพื่อโลกมุสลิม HALAL FOOD HUB
ในการนี้ ผู้แทนบริษัท เอ.ซี.เอฟ.แอนด์ คอนเทนเนอร์ โฟรเซน ฟาร์ม จำกัด ได้นำเสนอโมเดล Halal Kitchen of the world : Pattani-Yala-Narathiwat Halal Supply Chain Ecosystem เกี่ยวกับไก่ทั้งระบบ ณ พื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาล อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ว่า บริษัทในกลุ่ม ACF ตระหนักถึงตลาดอาหารฮาลาลที่มีความจำเป็นสำหรับประชากรมุสลิมทั่วโลก ดังที่มุสลิมทราบกันดีว่าเป็นการบริโภคที่ศาสนาอิสลามได้กำหนด และในเหตุการณ์ปัจจุบัน เมื่อโลกประสบต่อสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ซึ่งอาหารที่สะอาด และเป็นอาหารที่มีผลดีต่อสุขภาพ อาหาร Halal คือเป้าหมายสำคัญ เป็น Healthy Food ที่ต้องการสินค้าอาหารที่ผ่านการรับรองมาตรฐานฮาลาล นั่นคืออาหารที่ผ่านการตรวจสอบในด้านความสะอาด ถูกสุขลักษณะ สุขอนามัยที่ดีต่อการบริโภค ต่อจากนั้นคือการตรวจสอบตามมาตรฐานที่สถาบัน มาตรฐานกำหนดมา หลังจาก COVID-19 ตลาดอาหารฮาลาลจะขยายความต้องการอย่างมากที่สุด โดยการสร้าง 1 อำเภอ 1 ฟาร์ม กระจายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งฟาร์มเลี้ยงไก่เบตง ฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อ ฟาร์มเลี้ยงไก่บ้าน และฟาร์มเลี้ยงไก่ KKU 1 จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะตอบสนองเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนในครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และ ศอ.บต. เพื่อสามารถสร้างรายได้ในระยะเวลา 5-10 ปี พร้อมกับการสร้างงานกว่า 10,000 คน และที่สำคัญพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดนใต้ จะได้เป็น 1 ฟาร์ม 1 อำเภอ “ศูนย์กลางผลิตอาหารฮาลาลเพื่อโลกมุสลิม” เป็นครัวฮาลาลของโลก