xs
xsm
sm
md
lg

ส.ประมงพื้นบ้านกลุ่มตันหยงเปาว์ แจงกรณีถูกกล่าวหาบริหารงานไม่เป็นธรรม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัตตานี - นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านกลุ่มตันหยงเปาว์ จ.ปัตตานี แจงกรณีถูกกล่าวหาการบริหารงานไม่เป็นธรรม ถึงงบประมาณของรัฐสู่วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ตันหยงเปาว์

วันนี้ (28 ต.ค.) จากเหตการณ์ที่ นายดอเลาะ อาแว ประธานกลุ่มชุมชนอนุรักษ์ปกป้องทะเลชายฝั่งบ้านตันหยงเปาว์ ได้ออกมาร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนในพื้นที่ ถึงกรณีงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐได้ลงพื้นที่จำนวนหลายล้าน แต่ชาวบ้านบางกลุ่มที่อยู่ในชุมชนไม่เคยได้รับมานานกว่า 3 ปีแล้ว และไม่สามารถเข้าถึงโอกาสจากงบประมาณที่ลงมาในพื้นที่ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ชาวบ้านที่นี่ต้องการพึ่งงบประมาณของรัฐ และเรื่องปลากุเลาตันหยงเปาว์เป็นปลาปลอม โดยมีชาวบ้านกว่า 100 คน ยืนยันว่าคนตันหยงเปาว์ไม่มีใครทำประมงปลากุเลา จึงได้ออกมาร้องเรียนผ่านไปยังสื่อมวลชนในพื้นที่ให้มาตรวจสอบ

ล่าสุด นายมะสุกรี มะสะนิง นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านกลุ่มตันหยงเปาว์ จังหวัดปัตตานี หนึ่งในวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย ที่ได้ผลิตปลากุเลาเค็มในพื้นที่ตันหลงเปาว์ ได้ออกมาชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ว่า ใครที่ติดตามปัญหาประมงของปัตตานี จะรู้ว่าผลจากการทำประมงด้วยเครื่องมือทำลายล้างของเรือใหญ่อย่างอวนรุนในอดีต ทำให้อ่าวปัตตานีเสื่อมโทรมลง ชาวบ้านขาดแหล่งทำกิน จึงรวมตัวกันในนามสมาคมชาวประมงพื้นบ้าน ต่อสู้เรียกร้องอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ท้อแท้ถึงขนาดอพยพไปเป็นแรงงานที่มาเลเซีย

จนในที่สุดภาครัฐได้ออกกฎหมายประกาศห้ามใช้ เช่น ห้ามใช้เครื่องมืออวนรุน ประกอบกับเครื่องยนต์ในจังหวัดปัตตานี ห้ามใช้อุปกรณ์บางประเภทในเขตปะการังเทียม และห้ามใช้เครื่องมืออวนลากในเขต 3 ไมล์ทะเล หลังจากนั้น ชุมชนได้ร่วมมือร่วมใจฟื้นฟูจนอ่าวปัตตานีกลับคืนความสมบูรณ์ จึงนำมาสู่การแปรรูปอาหารทะเล ซึ่งเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจประมงพื้นบ้านของโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

นายมะสุกรี มะสะนิง กล่าวอีกว่า พี่น้องประมงเริ่มเป็นเครือข่ายมาตั้งแต่ปี 2536 จากนั้นได้ต่อยอดทำธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเดือนเมษายน 2560 ชื่อ “วิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย” แปลว่า คนชายทะเล มีเป้าหมายสูงสุด คือ เป็นต้นแบบในการผลิตอาหารทะเลแปรรูปที่เป็นสินค้าจากประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี

ดังนั้น วิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย เกิดจากการรวมตัวกันของชาวประมงพื้นบ้าน จังหวัดปัตตานี ที่ประสบปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ สืบเนื่องจากตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาชาวบ้านประมงพื้นบ้านได้ถูกรุกรานจากเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการทำลายสูง จนส่งผลให้ทรัพยากรเกิดความเสื่อมโทรมเป็นอย่างมาก กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านจึงได้มีการรวมตัวกันขึ้นเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากร จนทำให้ทรัพยากรฟื้นตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แต่ถึงแม้ว่าชาวประมงพื้นบ้านจะสามารถจับสัตว์น้ำได้มากขึ้น ในทางกลับกันชาวประมงพื้นบ้านไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะราคาสัตว์น้ำคุมด้วยพ่อค้าคนกลาง และเมื่อ 10 ปีที่แล้วปลากุเลา มีราคากิโลกรัมละ 160 บาท ก่อนทำธุรกิจแปรรูปอาหารทะเลเมื่อปี 2560 ในขณะต้นทุนการผลิตมีราคาที่สูงขึ้น


จึงทำให้ทางวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย ได้ร่วมหารือกับ ศอ.บต. ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะ ศอ.บต. ถือเป็นหน่วยงานการพัฒนาและมีนโยบายการช่วยเหลือกลุ่มคนที่ประสบกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้โครงการ “เศรษฐกิจมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ทางวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย จึงได้เข้าร่วมในโครงการดังกล่าว สิ่งที่ปรากฏหลังจากมีการแปรรูปขึ้นมานั้น ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่า 40 เปอร์เซ็นต์จากการขายอาหารทะเลสด จากเดินปลากุเลาจะอยู่ในราคาที่ 160 บาท ทางกลุ่มรับซื้อ 230 บาท ปลาอินทรี เดิมอยู่ที่ราคา 120-130 บาท ทางกลุ่มรับซื้ออยู่ในราคา 230 บาท และกุ้งเคยเดิมจะอยู่ในราคา 7 บาท แต่ทางกลุ่มรับซื้ออยู่ที่ 13-15 บาท ซึ่งราคาเพิ่มเป็นเท่าตัว

ที่ทางวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัยกำหนดขึ้นเพื่อพี่น้องประชาชนได้รับราคาการจำหน่ายอาหารสดในราคาที่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น และให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน ทำให้ชาวบ้านบางกลุ่มได้รับข่าวสารที่ผิดพลาด ให้มีความเข้าใจผิดและได้กล่าวว่า ปลากุเลาของวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัยเป็นปลากุเลาปลอม เพราะไม่ได้จับที่หมู่บ้านตันหยงเปาว์

ดังนั้น ขอชี้แจงว่า ในฐานะที่เป็นองค์กรชาวบ้านที่ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน ถ้าหมู่บ้านไหนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือข้างเคียง ทางวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัยรับซื้อทั้งหมด และอยู่ภายใต้ราคาที่ทางวิสาหกิจ กำหนดขึ้นมาให้ชาวบ้านได้รับราคาที่เป็นธรรม แต่สำคัญที่สุดคือเป็นฝีมือของ “โอรังปันตัยตันหยงเปาว์” ที่ได้ประณีตถึงกระบวนการผลิตปลากุเลาเค็มให้มีรสชาติอร่อย และกว่าจะได้ผลผลิตนั้นต้องใช้ระยะเวลา 30-35 วัน ซึ่งทางวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย ตั้งใจผลิตขึ้นมาเพื่อปราศจากสารเคมีในทุกกระบวนการผลิต และนี่คือ ปลากุเลาเค็มของตันหยงเปาว์

ในส่วนของเรื่องการได้รับการดูแลจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่องนั้น นายมะสุกรี มะสะนิง นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านกลุ่มตันหยงเปาว์ จังหวัดปัตตานี ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลโดย ศอ.บต. ได้เข้ามาดูแลทุกกลุ่ม ไม่ใช่เฉพาะเพียงแค่วิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัยเท่านั้น เพราะ ศอ.บต. มีเป้าหมายหลักคือ ต้องกำจัดความยากจนให้ได้ และให้ประชาชนได้รับความสงบสุข สิ่งนี้คือเป้าหมายหลักของ ศอ.บต.

และในส่วนของภายใต้การทำโครงการนั้นจะต้องมีรายละเอียดถึงความพร้อมของกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน ซึ่งตรงนี้อาจไม่เข้าใจตรงกันได้ บางกลุ่มที่ได้จัดตั้งขึ้นมีเป้าหมายอย่างเดียวคือ ต้องการงบประมาณ ทั้งที่ผลงานยังไม่ได้ปรากฏขึ้น จึงทำให้หลายกลุ่มไม่เข้าใจตรงกัน ซึ่งนำมาสู่การร้องเรียนขึ้นในวันนี้

ที่ผ่านมา ทางวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัยมีความพยายามทำมาตลอดนั้น คือจะเป็นวิสาหกิจชุมชนต้นแบบในแง่ของการดำเนินงาน ความร่วมมือ รวมถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งทางวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย ได้หารือกับรัฐบาลมาตลอด และเน้นย้ำเสมอว่า จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และจะเดินไปพร้อมกัน ถ้าชาวบ้านมีปัญหาเรื่องอะไรสามารถมาขอคำปรึกษาหารือร่วมกัน นั่นคือสิ่งที่เป็นเป้าหมายสูงสุดของโครงการฯ ที่ทางวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัยทำขึ้นมา เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากของชาวบ้านดีขึ้น มีความสงบสุข ความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นในอดีตนั้นจะต้องละลายหายไป ทุกคนจะอยู่พร้อมกันในครอบครัว สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเต็มที่ คือเป้าหมายของเราที่เรียกว่า “วิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย”


กำลังโหลดความคิดเห็น