xs
xsm
sm
md
lg

ครบรอบ “เหตุการณ์ตากใบ” จับตาความเคลื่อนไหว “บีอาร์เอ็น”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 

คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ / โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก
 


  
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วง ต.ค.2563 มีหลายเหตุการณ์ นับตั้งแต่ 1 ต.ค.เรื่อยมามีเหตุแนวร่วม บีอาร์เอ็น ต้องการ “สื่อสาร” ถึง พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาค 4 คนใหม่ว่า ขบวนการยัง “มีตัวตน” และความพร้อมที่จะก่อเหตุ ทั้งที่หลายพื้นที่มีกองกำลัง “ชป.จรยุทธ์” ปฏิบัติการอยู่ก็ตาม  


จึงต้องจับตา 25 ต.ค.นี้ครบรอบ “วันสัญลักษณ์” บีอาร์เอ็นจะมีปฏิบัติการกระตุ้นเตือนสังคมหรือไม่ เพื่อตอกย้ำ “เหตุการณ์ตากใบทมิฬ” ในปี 2547 ที่มีมุสลิมเสียชีวิต 84 ศพและถูกจับกุมกว่า 1,300 คน หลังรวมตัวประท้วงหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส แล้วถูกกวาดต้อนขึ้นรถบรรทุกทหารไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารที่ จ.ปัตตานี
 
แม้โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเชื่อว่าไม่ใช่ความตั้งใจของเจ้าหน้าที่ และแม้รัฐจะเยียวยาให้ทั้งครอบครัวผู้สูญเสียและผู้พิการครบถ้วนแล้ว แต่ตลอด 16 ปีบีอาร์เอ็นได้นำไปเป็นประเด็นโจมตีเสมอมา โดยเฉพาะในโลกมุสลิม ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าฝ่ายรัฐยังแก้ไขไม่สำเร็จ
 
ดังนั้น จึงยังประมาทไม่ได้ว่า ณ ห้วงเวลาจนถึงสิ้น ต.ค.นี้จะไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นใน 
3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย
 
อย่าเชื่อว่ากลุ่มติดอาวุธบีอาร์เอ็นไม่มีศักยภาพก่อเหตุแล้ว และอย่าเชื่อว่า ชป.จรยุทธ์ ควบคุมพื้นที่ได้แล้ว
!!  เนื่องเพราะ 2 ปีที่มุ่งเน้นใช้ “ยาแรง” ทั้งกฎหมายและกองกำลังเข้าควบคุมพื้นที่ มีการตรวจค้นและจับกุมเข้มข้น ภายใต้การบัญชาการของอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 คนก่อน โดยสามารถวิสามัญ “อาร์เคเค” ไปได้ราว 20 ศพ แต่ตัวเลขที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีอยู่กลับระบุว่าในพื้นที่มี “อาร์เคเค” ถึงกว่า 3,000 คน 
นั่นแสดงว่าบีอาร์เอ็นยังมีกองกำลังติดอาวุธอีกมาก แถมไม่มีข้อมูลว่าช่วง 2 ปีมานี้ผลิต “นักรบหน้าขาว” เข้าสู่ขบวนการได้อีกกี่มากน้อย?!
 
จึงเป็นเรื่องที่ “แม่ทัพเกรียง” ต้องแสดงความสามารถในการป้องกันเหตุและความสูญเสียให้ได้ ที่สำคัญต้องลงไปเชี่ยว “งานข่าว” และ “สายข่าว” อย่างยิ่งยวด
 อย่างไรก็ดี เมื่อ 22 ต.ค.2563 “แม่ทัพเกรียง” ได้เรียกประชุมหน่วยขึ้นตรงกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีการแถลงนโยบายและแนวทางให้ทุกหน่วยรับทราบ โดยเฉพาะมีการประกาศแนวทาง “ดับไฟใต้” ไปแล้ว 

เนื้อหาที่แถลงยังคง นโยบายเดิม 5 ข้อ ที่ “บิ๊กเดฟ” พล.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ อดีตแม่ทัพภาค 4 คนก่อนที่เวลานี้ไปนั่งเป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ.ได้ใช้มาช่วง 2 ปี จึงเป็นการสานต่องานที่เคยทำมา ที่สำคัญ “บิ๊กเกรียง” ก็ร่วมปฏิบัติการมาตลอดในฐานะรองแม่ทัพภาค 4 
สิ่งที่ นโยบาย 5 ข้อ มุ่งเน้น ประกอบด้วย ควบคุมพื้นที่ บังคับใช้กฎหมาย แก้ปัญหายาเสพติด ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ส่งเสริมเพื่อเพื่อพัฒนาความมั่นคงและงานสร้างความเข้าใจ แม้ไม่มีอะไรใหม่ แต่ที่ใหม่คือมีการเปลี่ยนตัวแม่ทัพภาค 4 ตามด้วยปรับเปลี่ยน รองแม่ทัพ, รอง ผอ.กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า, ผบ.ฉก. และอื่นๆ 

และที่ขาดไม่ได้คือเรื่อง “ภัยแทรกซ้อน” แม้ว่าเจ้าของตำรับยาขนาดนี้คือ “เสธ.แตน” พล.อ.จตุพร กลัมพสุต ที่เกษียณไปแล้ว แต่นโยบายนี้ยังคงอยู่คู่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อให้ “แม่ทัพ” แต่ละคนรับไปสานต่อ
 
นโยบาย 
5 ข้อ ถือเป็นแนวทางให้หน่วยขึ้นตรงนำไปปฏิบัติที่ครอบคลุมทุกปัญหาของชายแดนใต้ แต่จะทำได้หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่นโยบายอย่างเดียว สิ่งสำคัญอยู่ที่ “ตัวบุคคล” ตั้งแม่ทัพนายกองไล่เรียงจนถึงลูกหาบ ที่สำคัญยิ่งคือต้องจริงจัง มุ่งมั่นและ “ไม่แสวงหากำไร” จากงบประมาณแผ่นดิน

เห็นด้วยกับ “บิ๊กเกรียง” ที่เน้นเฟ้นหาผู้นำหน่วยว่าต้องเป็น “คนดี” มาก่อน เพราะถ้าได้คนดีมาเป็นผู้นำปัญหาภายในหน่วยจะแก้ง่ายขึ้น แต่ก็นั่นแหละเท่าที่พบเห็นมาคนดีมักจะไม่อยู่ในร่างเดียวกับ “คนเก่ง” และ “คนกล้า” ดังนั้น จึงต้องมีการผสมผสานเพื่อให้ความสัมฤทธิผลเกิดขึ้น  


อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้มีเรื่องที่น่าห่วงใยมากคือ “ภัยแทรกซ้อน” จาก “องค์กรต่างชาติ” ที่เข้ามาปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ ซึ่งต่างมีหน้าฉากของการเป็นผู้หวังดีเพื่อสร้าง “สันติภาพ” และ “สันติสุข” แต่หลังฉากกลับต้องมีการวิเคราะห์ให้ลึกซึ้ง
 
ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)” ที่กลายเป็นเชื้อโรคเกาะกระดูกชนิดไล่ไม่ไป หรือตัวแทนจากสหภาพยุโรป (EU) รวมถึงจากประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ที่พาเหรดเข้ามายังชายแดนใต้เหมือนกับเห็นพื้นที่ตรงนี้เป็น “ของหวาน”
 
รวมทั้ง “ความขัดแย้ง” ในเรื่อง “ศาสนา” ระหว่างบางองค์กรไทยพุทธ กับบางองค์กรหรือบางกลุ่มมุสลิม ซึ่งวันนี้บานปลายกลายเป็นคดีฟ้องร้องกันแล้วในหลายจังหวัด ซึ่งถือเป็นการถ่างช่องว่างระหว่างพุทธกับมุสลิมบนแผ่นดินปลายด้ามขวาน

เหล่านี้คือ “ภัยแทรกซ้อน” ที่น่ากลัวกว่าประเด็นอื่นๆ อย่างประเด็นยาเสพติดถึงจับได้ไม่หมด แต่ถ้าขยันจับก็ทำให้ลดลง แถมสามารถนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดได้ แต่ประเด็นองค์กรต่างชาติและความขัดแย้งทางศาสนา น่าห่วงว่าจะมีกลุ่มผู้อยู่เบื้องหลังนำไปขยายผลต่อ

“การแทรกแซงขององค์กรต่างชาติ” กับ “ความขัดแย้งทางศาสนา” ถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับชายแดนใต้ ซึ่งกำลังลุกลามเข้าไปแทนที่ “เสียงปืน” และ “เสียงระเบิด” จึงถือเป็นเรื่องที่ “บิ๊กเกรียง” ต้องใส่ใจและจริงจัง?!?!
  



กำลังโหลดความคิดเห็น