ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อาชีวภาคใต้ 3 “ตีปีกรับ” ผลิตบุคลากรรับเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคตจะนะ อุตสาหกรรม 9 ประเภท เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าจากทรัพยากรในท้องถิ่น
นายสิทธิพงศ์ นกแอนหมาน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ จ.สงขลา ประธานสถาบันอาชีวศึกษาภาคใต้ 3 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ประชุมผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาคใต้ 3 เตรียมความพร้อมการพัฒนายกระดับด้านการศึกษา เพื่อรองรับการพัฒนาในพื้นที่การขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ ที่ประชุมได้มอบหมายให้สถานศึกษา ดำเนินการจัดทำโครงการเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาในพื้นที่ การขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
นายสิทธิพงศ์ เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบเป็นหลักการการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา 4 อำเภอของ จ.สงขลา ให้มีความเข้มแข็ง ยกระดับให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเฉพาะที่มีความสมบูรณ์ครบวงจร และเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระบบครบวงจรของอนุภูมิภาคใต้ตอนล่าง ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน และเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
“มุ่งเน้นการลงทุนของภาคเอกชนบนพื้นฐานความเชื่อมโยง และการมีส่วนรวมของภาคประชาชน โดยรัฐอำนวยการประสานเชื่อมโยง และเชื่อมต่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นำไปสู่การขยายผลในพื้นที่ใกล้เคียง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนจากการสร้างงาน สร้างรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น ทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มีพื้นที่ปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญของการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมต่อไป” นายสิทธิพงศ์ กล่าว
นายสิทธิพงศ์ ยังกล่าวด้วยว่า แผนปฏิบัติการการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัยและเทคโนโลยีรองรับการพัฒนาเขตพิเศษเฉพาะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางการดำเนินการในปี 2563-2568 ให้สามารถยกระดับการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัยและเทคโนโลยีพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลาประกอบด้วย อ.จะนะ นาทวี เทพา และ อ.สะบ้าย้อย เชื่อมโยงไปยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.สงขลา และ จ.สตูล ให้บังเกิดที่เป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ สอดรับต่อความจำเป็น และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่มีความคิดเห็น ผ่านช่องทางการสื่อสารในทุกวิธีการต่อการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ
นายสิทธิพงศ์ กล่าวอีกว่า สภาพปัญหาปัจจุบันจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ผลผลิตมวลรวมปี 2558 มีมูลค่า 416,997.3 ล้านบาท ร้อยละ 31.5 ของภาคใต้ และร้อยละ 2.9 ของประเทศ โครงสร้างเศรษฐกิจส่วนใหญ่ขึ้นกับภาคเกษตรร้อยละ 22.9 และอุตสาหกรรมร้อยละ 15.3
นายสิทธิพงศ์ กล่าวต่อว่า ภาคใต้ชายแดนยังมีบทบาทเป็นแหล่งอุตสาหกรรมแปรรูปยาง และไม้ยางพารา อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เนื่องด้วยมีพื้นที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ทำให้มีบทบาทสำคัญในการค้าชายแดน และรองรับนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 1.6 ซึ่งค่าเฉลี่ยของภาคใต้ และของประเทศไทย และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากภาคเกษตรที่สินค้าเกษตรแนวโน้มราคาตกต่ำ
“จำเป็นต้องมีการพัฒนากลไกการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่สำคัญให้แก่พื้นที่ เพื่อสร้างความเจริญเติบโตให้แก่เศรษฐกิจของภูมิภาคใต้ชายแดนได้อย่างเป็นรูปธรรม และต่อเนื่อง”
นายสิทธิพงศ์ กล่าวว่า กรอบแนวคิดการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ให้ความสำคัญต่อการผลิตบุคลากรที่สอดคล้องกับแผนความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรที่ตรงตามสาขาวิชา ทักษะ สมรรถนะ และจำนวนที่เพียงพอต่อความต้องการ โดยให้ความสำคัญกับการผลิต และพัฒนาบุคลากรที่คำนึงถึงความต้องการ 3 ส่วน ได้แก่ ความต้องการกำลังการผลิต และพัฒนาบุคลากรในภาพรวมของประเทศ อนุภูมิภาคตามที่รัฐบาลกำหนดให้มี เส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมเพื่อชีวิตที่ดีกว่า เชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ 9 พื้นที่สำคัญ
“โครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา พื้นที่โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เขตประกอบอุตสาหกรรมบานา เขตนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส เขตการค้าชายแดนทั้ง 9 เขตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”
นายสิทธิพงศ์ กล่าวว่า เพื่อให้เกิดการบูรณาการ และสามารถบังเกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม และกำลังการผลิต และพัฒนาเน้นเฉพาะด้านการผลิต และการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมบุคลากรที่มีศักยภาพ เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่การศึกษา การวิจัยและเทคโนโลยีในพื้นที่เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อ.จะนะ
นายสิทธิพงศ์ กล่าวอีกว่า ประสานการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการให้มีความเป็นรูปธรรม เกิดสัมฤทธิผลต่อการพัฒนา ได้กำหนดประเภทอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ เพื่อให้พื้นที่ศูนย์กลางการผลิตสินค้าจากทรัพยากรในท้องถิ่น อุตสาหกรรมแห่งอนาคตตามเป้าหมายการลงทุนภาคอุตสาหกรรมของรัฐบาล การเป็นศูนย์กลางแหล่งผลิตสินค้าที่นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
“ประเภทอุตสาหกรรมผลิตกังหันลม และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า อุตสาหกรรมผลิตรถไฟฟ้า อุตสาหกรรมผลิตแท่นขุดเจาะน้ำมัน อุตสาหกรรมผลิตอาหารแปรรูป ผลิตสินค้าจากยางพารา ผลไม้ ปาล์มน้ำมัน อุตสาหกรรมจากข้าว อุตสาหกรรมฮาลาล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กิจการคมนาคมขนส่งเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ อุตสาหกรรมการคมนาคมขนส่งทางรางและเมืองอัจฉริยะ” นายสิทธิพงศ์ กล่าว
นายสิทธิพงศ์ กล่าวต่อว่า เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ที่มีคุณภาพ ทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ ให้สอดคล้องกับความต้องการของการพัฒนาพื้นที่เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ และพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนการวิจัย การสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต และการต่อยอดในเชิงพาณิชย์
นายสิทธิพงศ์ กล่าวว่า โดยมีเป้าหมายการพัฒนาในระยะเร่งด่วนผลิตวิทยากรต้นแบบ และครูรองรับการพัฒนาพื้นที่เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต 300 คน เพื่อปรับเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบแก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ ส่งเสริมความรู้ องค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรเพื่อให้เป็นมืออาชีพทางการเกษตรและเทคโนโลยี ส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา บุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการ และบุคลากรของรัฐทุกระดับ และประชาชนทั่วไปที่มีความรู้ความสามารถเป็นการเฉพาะด้าน
นายสิทธิพงศ์ กล่าวด้วยว่า ในระยะกลางตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่างๆ ตามประเภทอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ทำหลักสูตรการเรียนการสอน และการฝึกอบรมเพิ่มขึ้นไม่กว่า 60 หลักสูตร และภายใน 5 ปี บุคลากรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ผ่านการอบรมหลักสูตรไม่น้อยกว่า 2 หมื่นราย เด็ก เยาวชนได้เรียนรู้ทักษะการประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมายของพื้นที่ต้นแบบ และจัดตั้งสถาบันการศึกษาเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใน อ.จะนะ ผลิตกำลังอาชีวะ 25,000 คน และกำลังแรงงานระดับปริญญาตรีด้านอุตสาหกรรมราง อุตสาหกรรมขนส่งทางน้ำ และอุตสาหกรรมไฟฟ้าเพิ่มไม่น้อยกว่า 200 คน ซึ่งรองรับแรงงานทั้งหมด 1 แสนคนเป็นอย่างน้อย
“กิจกรรมสนับสนุนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยการสนับสนุนทุนการศึกษา จัดหลักสูตรสาขาขาดแคลน บูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน และการเพิ่มความสามารถภาคเอกชนในการวิจัยและพัฒนาโดยมีนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างจริงจัง” นายสิทธิพงศ์ กล่าวในที่สุด