xs
xsm
sm
md
lg

รู้เราต้องรู้เขา! รู้เท่าทันแผนกระชากดินแดน BRN โจทย์ดับไฟใต้ที่ท้าทาย “แม่ทัพภาคที่ 4” คนใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

    



จุดคบไฟใต้ : โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
   



ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่มีมีเสียงปืน เสียงระเบิด แต่ก็มีเรื่องน่าสนใจที่ต้องติดตามกันยาวๆ เพราะอาจจะเป็นเงื่อนไขที่ “บีอาร์เอ็น” ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะเพื่อการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคต

นั่นคือ การที่ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ลงมาในพื้นที่ จ.ยะลา เพื่อพูดคุยกับ “ผู้นำศาสนา” แต่กลับไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องการ “ดับไฟใต้” ว่า ผู้นำศาสนาจะให้ความร่วมมืออย่างไร

สิ่งที่ได้รับฟังจากข้อเสนอผู้นำศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้กลับเป็นเรื่องการเรียกร้องจากรัฐ ซึ่งจะเป็นแบบนี้เหมือนเดิมแทบทุกครั้ง ทุกเวทีที่มีการพูดคุยกันของตัวแทนรัฐบาลและผู้นำศาสนา โดยข้อเรียกร้องหลายข้อนั้นเหมือนกับข้อเรียกร้อง 7 ประการของ “หะยีสุหลง โต๊ะมีนา” ที่เคยเสนอไว้เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2490 เช่น ให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาไทย

ส่วนข้อเสนออื่นๆ นั้นก็เช่น ให้วันศุกร์เป็นวันหยุดของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นัยว่า เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้คณะกรรมการอิสลามเป็นผู้บริหารกิจกรรมฮัจญ์ จัดทำป้ายหมู่บ้าน 3 ภาษา ยกระดับศูนย์กลางฮาลาลอย่างจริงจัง


แน่นอน ย่อมมีคนไม่เห็นด้วย หลังข้อเสนอทั้งหมดของผู้นำศาสนาในพื้นที่ปรากฏออกไปก็มีปฏิกิริยาจากคนไทยพุทธในพื้นที่ในทำนองที่ว่า เป็นข้อเรียกร้องที่มากเกินไปและไม่เกรงใจคนในพื้นที่อีกส่วนหนึ่งที่เป็นไทยพุทธ เป็นข้อเสนอเสมือนไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องของพหุวัฒนธรรมแต่อย่างใด

มีคำถามตามมาว่า ถ้าคนไทยพุทธจะขอให้วันพระเป็นวันหยุดด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับการให้คนไทยพุทธได้มีโอกาสเข้าวัดมากขึ้น หรือให้ภาษีถิ่นใต้เป็นภาษาทางราชการ เพื่อที่จะรักษาอัตลักษณ์ของคนใต้เอาไว้ รัฐบาลจะว่าอย่างไร และถ้าทุกภาคส่วนของประเทศจะเอาเอาเรื่องอัตลักษณ์มาเป็นจุดหมาย มาเป็นข้ออ้าง รัฐบาลหรือฝ่ายความมั่นคงจะว่าอย่างไร

เรื่องการ “ดับไฟใต้” ต่างหากที่คนไทยพุทธในพื้นที่ต้องการเห็น ต้องการได้ยินจากเวทีของการพูดคุยกันของฝ่ายรัฐบาลและผู้นำศาสนาพื้นที่ พวกเขาคาดหมายว่า ผู้นำศาสนาจะให้ความร่วมมืออย่างไร จะไปพูดคุยกับแกนนำบีอาร์เอ็น ทั้งในพื้นที่และในประเทศมาเลเซียอย่างไร เพื่อให้ยุติการคิดแบ่งแยกดินแดนได้ไหม

จึงอย่าได้สงสัยว่า ทำไม่ยิ่งพูดคุย คณะพูดคุยของรัฐบาลจึงไม่ได้รับการสนองตอบจากกลุ่มคนไทยพุทธ เพราะพวกเขาเห็นว่า ยิ่งพูดคุยนานเท่าไหร่ ยิ่งเสียเปรียบ และสุ่มเสี่ยงต่อการเอื้อประโยชน์ให้แก่ขบวนการบีอาร์เอ็นเท่านั้น และที่สำคัญคือ รู้ๆ กันอยู่ว่าในจำนวนผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีอยู่ ใครเป็นใคร และใครบ้างที่เป็น "ปีกทางศาสนา" ให้แก่บีอาร์เอ็น


นอกจากนี้ สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด นั่นคือ สถิติการก่อการร้ายลดลงเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งถ้าคิดโดยที่ไม่มีฐานข้อมูลอื่นๆ มาสนับสนุน ก็จะเข้าใจได้ไม่ยากว่า การก่อการร้ายที่ลดลงสืบเนื่องจากยุทธการเชิงรุก เข้าปิดล้อม ตรวจค้น จำกัดเสรีภาพของแนวร่วม จนเคลื่อนไหวเพื่อก่อเหตุร้ายไม่ได้เหมือนเดิม

แต่สำหรับหน่วยข่าวที่เข้าถึงขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็นในขั้นสูงก็จะรู้ว่า ที่เหตุร้ายรายวันลดลง มาจาก “บีอาร์เอ็น” ที่ปรับเปลี่ยนยุทธวิธี ลดการใช้ความรุนแรงลง ลดการสร้างอาร์เคเคเพื่อก่อเหตุร้ายลงมาเป็นการใช้การสร้างมวลชน สร้างกองกำลังทหารเด็ก เพื่อเตรียมการในอีก 10 ปี ที่จะมีการก่อการเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

ดังนั้น ถ้ากองทัพ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่ต้องการให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนบรรลุเป้าหมายในอีก 10 ปีข้างหน้า สิ่งที่ต้องทำอย่างเข้มข้นในขณะนี้ คือ ต้องมียุทธศาสตร์ในการทำลายแผนการของบีอาร์เอ็นให้จงได้ โดยเฉพาะการทำลายรากฐานของบีอาร์เอ็นในประเทศมาเลเซีย ผ่านกลไกระดับประเทศ หรือระดับโลก เพื่อให้มาเลเซียและประเทศในกลุ่มโอไอซี รวมถึงเอ็นจีโอในเวทีสากลของสหประชาชาติ หรือ "ยูเอ็น" ให้เลิกสนับสนุนแนวทางการแบ่งแยกดินแดนของบีอาร์เอ็นให้ได้เช่นกัน ส่วนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลานั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องทุบทิ้งโครงสร้างของบีอาร์เอ็น ทั้งโครงสร้างด้านการเมืองในภาคประชาสังคม ค้นหาและทำลายขบวนการเยาวชน ขบวนการเด็กกำพร้า ที่อยู่ในการบ่มเพาะขององค์กรต่างๆ ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ที่สำคัญต้องค้นหาและกำจัดแหล่งที่มาของเงินทุน ที่ให้การสนับสนุนขบวนการ ทั้งที่เต็มใจและที่จำยอม ซึ่งเรื่องแหล่งที่มาของเงินทุนในพื้นที่ไม่ได้สลับซับซ้อน

เพียงแต่ที่ผ่านมา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ารู้แต่ไม่คิดที่จะทำลายและไม่คิดที่จะหาหลักฐานเพื่อเอาผิดกับองค์กรและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับขบวนการบีอาร์เอ็นต่างหาก


ถ้า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าไม่ต้องการให้บีอาร์เอ็นบรรลุเป้าหมายในอีก 10 ปีข้างหน้า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จ และต้องไม่เข้าใจผิดว่า ที่สถานการณ์ความรุนแรงลดลงเป็นเพราะ "ฝีมือของแม่ทัพ" ที่ทำให้แนวร่วมในพื้นที่หัวหด ไม่กล้าออกมาวางระเบิด ไม่กล้าออกมาก่อเหตุ

ความเปลี่ยนแปลงจากการใช้ความรุนแรงมาเป็นการดำเนินงานทางมวลชนของบีอาร์เอ็นในครั้งนี้ ถ้ากองทัพ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รู้เท่าทันบีอาร์เอ็น และมียุทธศาสตร์ ยุทธวิธีในการต่อสู้กับบีอาร์เอ็นที่ถูกต้อง จะเป็นผลดีต่อการดับไฟใต้อย่างยิ่ง 

นอกจากจะทำให้เกิดความสงบอย่างแท้จริง
ยังจะทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ทำงานได้ผล เพราะจะทำให้คนในพื้นที่เกิดความมั่นใจ นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศก็จะมาลงทุนในพื้นที่มากขึ้น เพราะจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าไม่มีเรื่องการก่อการร้ายถือว่าเป็นพื้นที่มีศักยภาพในการลงทุนในหลายมิติด้วยกัน


แผนงานใหญ่ๆ ที่อยู่ในแผนพัฒนาของ ศอ.บต.ที่จะนำมากล่าวถึงมีอยู่ 3 แผนงานที่ ครม.อนุมัติแล้ว นั่นคือ (1) แผนพัฒนาด่านชายแดน 9 ด่านใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ด่านชายแดน อ.สะเดา ปาดังเบซาร์ และด่านบ้านประกอบ อ.นาทวี จ.สงขลา ด่านชายแดนสุไหงโก-ลก ตากใบ และบูเก๊ะตา จ.นราธิวาส ด่านชายแดน อ.เบตง จ.ยะลา และด่านชายแดน อ.ควนโดน และ อ.เมือง จ.สตูล ในวงเงิน 817.89 ล้านบาท ซึ่งด่านชายแดนทั้ง 9 ด่านนี้ หากมีการพัฒนาให้มีความพร้อม เชื่อมโยงด้วยยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องชัดเจน จะเป็นการสร้างมูลค่าการค้าชายแดนให้แก่ประเทศและคนในพื้นอย่างมหาศาล


(2) แผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน และ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ซึ่งเป็นการสร้างเศรษฐกิจฐานรากแก่คนในพื้นที่เป็นการเสริมความมั่นคงให้แก่ครัวเรือน ที่ผู้รับประโยชน์เป็นคนในพื้นที่อย่างแท้จริง

และ (3) แผนพลังงานไฟฟ้าครบวงจร ซึ่งจะมีโรงไฟฟ้าชีวมวลเกิดขึ้น 100 โรง โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุน แต่คนในพื้นที่คือผู้ได้ประโยชน์จากการจ้างงานและการปลูกพืชโตเร็ว เช่น ไม้ไผ่ ไม้โตเร็วอื่นๆ เพื่อป้อนให้โรงไฟฟ้าในการผลิตกระแสไปขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และยังมีผลประโยชน์อื่นๆ ที่คนในพื้นที่จะได้รับจากการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าชุมชน

ปัญหาความยากจนที่เกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหนึ่งเพราะปัญหาการก่อการร้ายจากขบวนการแบ่งแยกดินแดน ถ้าแก้ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนได้ และโดยศักยภาพของ ศอ.บต.ภายใต้การนำของ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. มั่นใจได้ว่าจะทำให้แผ่นดินปลายด้ามขวานดีขึ้นในระดับที่คนในพื้นที่มีความ "มั่นคง" อย่าง "ยั่งยืน"

ก็ได้แต่คาดหวังว่า พล.ต.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ว่าที่แม่ทัพภาคที่ 4 จะเข้าใจยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของบีอาร์เอ็น และทุบทำลายโครงสร้างของบีอาร์เอ็นที่กล่าวมาข้างต้นให้ได้ เพื่อจะได้เห็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้เสียที


กำลังโหลดความคิดเห็น