xs
xsm
sm
md
lg

เปิดลำดับเหตุการณ์ในกระบวนการยุติธรรม กรณีทหารพรานกราดยิงประชาชนที่ปุโละปุโยเมื่อ 8 ปีก่อน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัตตานี - มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เผยลำดับเหตุการณ์ในกระบวนการยุติธรรม จากกรณีที่ทหารพรานกราดยิงประชาชนขณะกำลังเดินทางไปละหมาดศพ ในพื้นที่ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้โพสต์ไทม์ไลน์เหตุทหารใช้อาวุธสงครามกราดยิงชาวบ้านที่อาสาไปละหมาดคนตายในพื้นที่หมู่บ้านข้างเคียง เป็นไปตามประเพณี และวัฒนธรรมของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้รถยนต์กระบะเป็นพาหนะ จนเป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิตทันที 4 ศพ และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 5 ราย โดยได้มีการระบุเรื่องราวลำดับเหตุการณ์ทั้งหมดดังนี้

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2555 เวลาประมาณ 20.30 น. เจ้าหน้าที่ทหารพรานประจำฐานปฏิบัติการทหารพรานที่ 4302 ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ได้ใช้อาวุธปืนสงครามยิงเข้าใส่รถยนต์ของชาวบ้าน ซึ่งมีผู้อยู่ในรถ จำนวน 9 คน ขณะกำลังเดินทางออกจากหมู่บ้านกาหยี หมู่ 1 ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ได้เพียง 500 เมตร เพื่อไปละหมาดศพ (การละหมาดให้ผู้เสียชีวิต) ที่บ้านทุ่งโพธิ์ หมู่ 4 ต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 5 ราย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อธิบายว่าเป็นความเข้าใจผิด (สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมในสำนักข่าวออนไลน์ต่างๆ)

วันที่ 31 ก.ค.2556 เวลา 13.30 น. ศาลจังหวัดปัตตานี มีคำสั่งคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพ คดีหมายเลขดำที่ ช.5/2555 กรณีชาวบ้าน 4 ศพ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ศาลมีคำสั่งสรุปว่า จากพยานหลักฐานทำให้เห็นเหตุการณ์ สาเหตุมาจากเป็นเหตุการณ์ที่สืบเนื่องมาจากมีคนร้ายยิงฐานกองร้อย 4302 บ้านน้ำดำ หมู่ 2 ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เจ้าหน้าที่ทหารพรานได้ออกติดตามผู้ก่อเหตุ เมื่อมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุพบรถกระบะที่ผู้เสียชีวิตโดยสารมา ต่อมา ได้ใช้อาวุธปืนยิงไปที่รถคันดังกล่าว และป่าข้างทาง ต่อมาหน่วยทหารเข้ามาสมทบ และมีการใช้อาวุธปืนยิงไปที่รถคันดังกล่าวอีก

เห็นว่าเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ในการติดตามผู้ต้องสงสัย เมื่อนำมาประกอบกับรายงานชันสูตรบาดแผลศพของผู้ตายทั้ง 4 ที่ระบุว่า ผู้ตายทั้ง 4 เสียชีวิตเพราะถูกกระสุนปืนยิง และพบรูกระสุนปืนทะลุรถกระบะหลายแห่ง เชื่อว่าผู้ตายทั้ง 4 ถูกกระสุนปืนยิงถึงแก่ความตายในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งนี้ ตามขั้นตอนทางกฎหมาย ภายหลังจากศาลมีคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ศาลจะส่งสำนวนคดีดังกล่าวไปยังพนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับคดีอาญาต่อไป

อนึ่ง หากผู้กระทำความผิดอาญาเป็นเจ้าหน้าที่ทหารทั้งหมด คดีจะอยู่ในอำนาจศาลทหาร (เว้นแต่ผู้กระทำความผิดเป็นทหารกับพลเรือน คดีจึงจะอยู่ภายใต้อำนาจของศาลยุติธรรม (พลเรือน) ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2489 ม.13 ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีลงโทษผู้กระทำความผิดกฎหมายทหาร หรือกฎหมายอื่นในทางอาญา ในคดีที่ผู้กระทำความผิดเป็นทหาร มาตรา 49 ศาลทหารในเวลาปกติ อัยการทหาร หรือผู้เสียหายที่เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร (ทหาร) สามารถเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาที่ศาลทหารได้ แต่ในเวลาไม่ปกติ (ภายใต้การประกาศกฎอัยการศึก) อัยการทหารเท่านั้นเป็นโจทก์ ผู้เสียหายต้องมอบคดีให้อัยการทหารเป็นโจทก์ฟ้องคดีแทน ผู้เสียหายไม่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาลทหารได้เอง)

ต่อมา โจทก์ฟ้องในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.519/2558 ซึ่งเป็นคดีที่ชาวบ้าน 5 คน ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อศาลปกครองสงขลา และต่อมามีการโอนคดีมายังศาลจังหวัดปัตตานี เริ่มดำเนินคดีที่ศาลจังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2558 โจทก์ทั้ง 5 ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 27.6 ล้านบาท จากกรณีโจทก์ทั้ง 5 ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2555 ทหารพรานใช้อาวุธปืนสงครามยิงเข้าใส่รถยนต์ของชาวบ้าน ซึ่งมีผู้อยู่ในรถ จำนวน 9 คน ขณะกำลังเดินทางออกจากหมู่บ้านกาหยี หมู่ 1 ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ได้เพียง 500 เมตร เพื่อไปละหมาดศพ (การละหมาดขอพรให้ผู้เสียชีวิต) ที่บ้านทุ่งโพธิ์ หมู่ 4 ต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 5 ราย

บทสรุปสุดท้ายศาลพิพากษาถึงที่สุด โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหาย หรือสินไหมทดแทนจากกองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเงินทั้งสิ้น 5,633,000บาท (ห้าล้านหกแสนสามหมื่นสามพันบาทถ้วน) โดยแบ่งสัดส่วนให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวนเงิน 186,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 919,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 3,535,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 4 จำนวน 875,000 บาท และให้แก่โจทก์ที่ 5 จำนวน 118,000 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น