โดย...สุวัฒน์
กิขุนทด
นับเป็นเวลากว่า 80 ปี ที่มีการจัดให้ “พืชกระท่อม” เป็นหนึ่งในยาเสพติดต้องห้าม ทว่า ในอีกมุมหนึ่งของพืชกระท่อมนั้น ในสมัยที่ยังไม่มียาฝรั่ง หรือการแพทย์แผนปัจจุบัน หมอพื้นบ้านจะนำใบกระท่อมมาใช้รักษาโรค ทั้งแก้ท้องเสีย ปวดเบ่ง ท้องเฟ้อ ท้องร่วง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ทำให้นอนหลับ และระงับประสาท
คนในพื้นที่ภาคใต้นิยมใช้ใบกระท่อมเคี้ยวกลืนเพื่อให้ทำงานได้ทนทาน และใช้รักษาโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน แก้ปวดท้อง ไอ เจ็บคอ แก้ปวดฟัน นอกจากนี้ ในประเทศมาเลเซียยังใช้ใบกระท่อมตำพอกแผล และนำใบมาเผาให้ร้อนวางบนท้องรักษาโรคม้ามโต
จากสรรพคุณทางยาหลายชนิดของกระท่อม สถาบันการศึกษาในประเทศไทยหลายแห่งได้ให้ความสนใจศึกษาและวิจัยเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รวมทั้งเพื่อสร้างความมั่นคงด้านยาและฟื้นฟูภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินงานศึกษาวิจัยพืชกระท่อมตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน โดยดำเนินโครงการวิจัยครอบคลุมในมิติวัฒนธรรม พฤติกรรม สุขภาพ วิทยาศาสตร์ และกฎหมาย
ขณะที่หน่วยงานของรัฐ ทั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงสาธารณสุข ต่างมีความพยายามที่จะ “ปลดล็อก” พืชกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดมาตั้งแต่ปี 2546 เพื่อนำมาเป็นพืชสมุนไพร ใช้ทางการแพทย์ การพาณิชย์ อุตสาหกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่างประเทศ เช่นเดียวกับกัญชาที่มีการปลดล็อกไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2563 เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษ และคาดว่ารัฐสภาจะให้ความเห็นชอบ พ.ร.บ.ฉบับนี้ในเร็วๆ นี้
ในส่วนของสถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด (สพส.) สำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม ได้จัดทำ “โครงการศึกษาวิจัยเพื่อสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลพืชกระท่อมพื้นที่นำร่อง ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี” ขึ้นมา ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 โดยมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เข้าร่วมศึกษาวิจัยด้านผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาผลกระทบด้านสังคมและชุมชน โดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV) สำรวจและจัดทำฐานข้อมูลการปลูกพืชกระท่อมใน ต.น้ำพุ เพื่อศึกษาขั้นตอนและกระบวนการควบคุมพืชกระท่อมในชุมชนอย่างมีส่วนร่วมของแต่ละพื้นที่ศึกษานำร่อง
และศึกษาความเป็นไปได้ในกรณีหากจะให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับควบคุมพืชกระท่อมอย่างโปร่งใส เป็นรูปธรรม และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยแต่เดิมพื้นที่หนึ่งของ ต.น้ำพุ ชาวบ้านนิยมปลูกพืชกระท่อมเพื่อบริโภคในครัวเรือนมายาวนาน รวมทั้งยังใช้ใบกระท่อมในพิธีกรรม เช่น ไหว้ครูก่อนตีเหล็กทำมีด ทำเครื่องใช้ หรือไหว้บรรพบุรุษ
นายสงคราม บัวทอง กำนันตำบลน้ำพุ กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลมีนโยบายที่จะปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด ตนได้เข้าร่วมประชุมเรื่องนี้กับ สพส.ในช่วงปี 2559 ตอนนั้น สพส.ต้องการหาพื้นที่ศึกษาและวิจัยเรื่องกระท่อมก่อนที่จะมีการปลดล็อก ตนจึงได้เสนอให้ใช้พื้นที่ ต.บ้านน้ำพุ ซึ่งชาวบ้านก็มีความพร้อมอยากจะให้มีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังว่า กระท่อมเป็นยาเสพติด หรือเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์กันแน่?
“ชาวบ้านส่วนใหญ่ในตำบลน้ำพุปลูกกระท่อม
ใช้กระท่อมในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ใช้กันมานานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ก็ไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นจากการใช้กระท่อม ทั้งเรื่องอาชญากรรม การลักขโมย การทะเลาะวิวาท หรือวัยรุ่นมั่วสุมเสพน้ำกระท่อมก็ไม่มี จึงอยากให้ ต.น้ำพุ เป็นต้นแบบในการจัดการเรื่องกระท่อม อีกทั้งที่ผ่านมา ต.น้ำพุ ก็มีการผ่อนปรนเรื่องกระท่อมอยู่แล้ว เพราะหากผมไปโค่นต้นกระท่อมของชาวบ้านทิ้งก็จะเกิดปัญหาทางการปกครองขึ้นมา” กำนันสงคราม เล่าความเป็นมาของการศึกษาวิจัยกระท่อมที่บ้านน้ำพุ
“ในการศึกษาวิจัยเรื่องกระท่อมที่ ต.น้ำพุ นี้มีโจย์ร่วมกันว่า หากมีการผ่อนปรนให้เคี้ยวกระท่อมในวิถีดั้งเดิมได้ จำนวนใบที่เคี้ยวต่อคนต่อวัน กี่ใบจึงจะเหมาะสม และจำนวนต้นกระท่อมกี่ต้นจึงจะเหมาะสมต่อครัวเรือน รวมทั้งการควบคุมโดยชุมชนมีส่วนร่วมจะมีแนวทาง หรือกระบวนการใดที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาครัฐหากมีการปลดล็อกกระท่อม”
ในปี 2560 จึงเริ่มจัดเวทีประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน โดยเริ่มที่บ้านดอนทราย หมู่ที่ 4 ก่อน และมีข้อตกลงร่วมกันของชาวบ้านว่า ให้ชาวบ้านปลูก หรือมีกระท่อมได้ครัวเรือนหนึ่งไม่เกิน 3 ต้น หากเกินให้ตัดทิ้ง แต่ถ้ามีไม่ถึง 3 ต้น ไม่ให้ปลูกเพิ่ม
หลังจากนั้น จึงขยายผลไปทั้งตำบล โดยหน่วยงานที่ร่วมศึกษาวิจัยได้จัดอบรมการใช้เครื่องมือต่างๆ ในการสำรวจข้อมูลให้แก่คณะกรรมการทุกหมู่บ้าน เพื่อสำรวจข้อมูลร่วมกับหน่วยงาน โดยมีวิธีการ คือ (1) ใช้อากาศยานไร้คนขับจับพิกัด GPS ครัวเรือนที่สำรวจ/ปลูกกระท่อม (2) ใช้แบบสอบถามครัวเรือน (3) สำรวจต้นกระท่อม โดยวัดเส้นรอบวง วัดความสูงของต้นกระท่อม และใช้อากาศยานจับพิกัด GPS ต้นกระท่อม (4) ติดตั้ง Mobile App/QR- code ที่ต้นกระท่อมเพื่อเก็บข้อมูล และขึ้นทะเบียนผู้ปลูกกระท่อม
จากการสำรวจข้อมูลทั้งตำบลพบว่า ใน ต.น้ำพุ มี 6 หมู่บ้าน รวม 1,920 ครัวเรือน มีครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียนปลูกกระท่อม 655 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 34.11 ต้นกระท่อมที่สำรวจพบมีทั้งสิ้น 1,912 ต้น ต้นกระท่อมติด QR-code จำนวน 1,578 ต้น คิดเป็นร้อยละ 82.53 และต้นกระท่อมที่เกินครัวเรือนละ 3 ต้น ซึ่งต้องตัดทำลาย รวม 334 ต้น คิดเป็นร้อยละ 17.47
หลังจากสำรวจข้อมูลในปี 2560 เสร็จแล้ว ในช่วงปลายปีนั้นกระบวนการศึกษาวิจัยและคณะกรรมการหมู่บ้านที่ร่วมสำรวจและวิจัยจึงเริ่มมีการจัดคืนข้อมูลสู่ชุมชน มีการจัดเวทีประชาคม และสร้างกติกาสังคมขึ้นมา
กำนันสงคราม อธิบายว่า ธรรมนูญตำบลคือข้อตกลงร่วมกันของชาวบ้านใน ต.น้ำพุ เพื่อสร้างกฎกติกาขึ้นมาควบคุมการใช้กระท่อมและสร้างชุมชนเข้มแข็งปลอดยาเสพติดพืชกระท่อม โดยได้ผ่านการรับรองจากที่ประชุมเมื่อวันที่ 15 ก.ค.2561 มีการลงนามรับรองทั้งจากผู้ใหญ่บ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน กำนัน ผู้กำกับ
สภ.ท่าชี ผอ.รพ.สต.น้ำพุ นายก อบต.น้ำพุ และผู้แทนองค์กรภาคประชาชน
ธรรมนูญตำบลมีสาระสำคัญ เช่น ห้ามครัวเรือนที่ไม่ปลูกกระท่อมปลูกใหม่โดยเด็ดขาด ห้ามบุคคลในครัวเรือนซื้อขายพืชกระท่อม ห้ามนำพืชกระท่อมออกจากตำบล ห้ามเด็กเยาวชนนั่งมั่วสุมและมีพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการเสพพืชกระท่อม ห้ามมีการผลิต ปรุงน้ำกระท่อม โดยส่วนผสมของยาแก้ไอและยาชนิดอื่น ห้ามปลูกกระท่อมเพิ่มเติมหลังการสำรวจของคณะวิจัยฯ และห้ามผู้ที่ได้รับอนุญาตพกพาใบกระท่อมออกจากพื้นที่ 3 ตำบลในเขตรับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธรท่าชีเกิน 30 ใบ ผู้ใดหรือครอบครัวใดฝ่าฝืนให้คณะกรรมการควบคุมพืชกระท่อมตัดทำลายพืชกระท่อมทั้งหมดโดยไม่มีข้อยกเว้น
นายศุภวัฒน์ กล่อมวิเศษ ชาวบ้านตำบลน้ำพุ ในฐานะผู้ใช้พืชกระท่อมและศึกษาเรื่องกระท่อมมายาวนาน อีกทั้งยังเป็นตัวแทนภาคประชาชนที่ลงนามในธรรมนูญตำบล เปิดเผยว่า หากการศึกษาวิจัยพืชกระท่อมใน ต.น้ำพุ โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้วเสร็จ โดยเฉพาะเรื่องการใช้พืชกระท่อมบำบัดรักษาโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และใช้ทดแทนมอร์ฟีนแก้ปวด มูลค่าของพืชกระท่อมจะสูงขึ้น จะเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของชาวบ้านทดแทนยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ราคาตกลงทุกวัน
“หากมีการปลดล็อกพืชกระท่อมแล้ว ผมอยากให้ชาวบ้านได้ประโยชน์จากการปลูกกระท่อมเพื่อส่งจำหน่ายให้องค์การเภสัชกรรม (อย.) หรือมหาวิทยาลัย เพื่อนำไปผลิตเป็นยารักษาโรค ซึ่งจะช่วยให้ประเทศประหยัดการนำเข้า เพราะจากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยนำเข้ามอร์ฟีนเพื่อใช้ทางการแพทย์ประมาณปีละ 9,000 ล้านบาท” นายศุภวัฒน์ บอกถึงข้อเสนอ
กำนันสงคราม กล่าวเสริมว่า ถ้าปลูกกระท่อม 1 ไร่ ชาวบ้านจะมีรายได้มากกว่าปลูกยางพาราอย่างน้อย 10 เท่า เพราะขณะนี้ยางพาราราคาไม่เกินกิโลกรัมละ 40 บาท ส่วนกระท่อมราคาประมาณกิโลกรัมละ 1,000 บาท ถ้าปลูกกระท่อม 1 ต้น จะมีรายได้ประมาณเดือนละ 3,000 บาทต่อต้น
“กระท่อมเป็นพืชท้องถิ่นที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์มาตั้งแต่รุ่นปู่ทวดจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิจัยด้านสุขภาพและผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆ แล้ว พบว่ามีผลกระทบน้อย นอกจากนี้ จุฬาฯ ก็มาวิจัยด้านสังคมที่ ต.น้ำพุแล้ว พบว่า กระท่อมไม่ได้ทำลายสังคม แต่ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคี ไม่เหมือนกับสุราที่ทำให้ทะเลาะกัน แต่ก็ต้องมีการควบคุมการใช้ เช่น ไม่ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีใช้ ไม่ให้ผสมแบบ 4 คูณ 100”
“หากปลดล็อกพืชกระท่อมแล้ว ผมก็อยากให้พืชกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ ปลูกเพื่อทำยารักษาโรคต่างๆ โดยให้ชาวบ้านปลูกครอบครัวละ 1 ไร่ จะมีรายได้มากกว่าปลูกยางพารา โดยใช้ ต.น้ำพุเป็นต้นแบบ และขยายไปในพื้นที่ที่มีความพร้อม” กำนันสงคราม กล่าว