สตูล - รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ทำหนังสือด่วนที่สุดเตือนทุกอำเภอพร้อมรับมือพายุโซนร้อน “โนอึล” เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันระหว่างวันที่ 18-20 ก.ย.นี้
วันนี้ (17 ก.ย.) นายศักดา วิทยาศิริกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูล ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 17 กันยายน 2563 ถึงผู้อำนวยการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยอำเภอทุกแห่ง ประชาสัมพันธ์จังหวัดสตูล โครงการชลประทานสตูล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งหัวหน้าอุทยานฯ ทุกแห่ง ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยงประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศฉบับที่ 3 ลงวันที่ 16 กันยายน 2563
แจ้งว่า พายุโซนร้อน “โนอึล” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ตอนกลาง และจะเคลื่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในวันที่ 18-20 กันยายน สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมาก กับมีลมบางพื้นที่ปริมาณฝนสะสมทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัย
ส่วนคลื่นลมทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2 เมตร ทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร โดยมีพื้นที่เฝ้าระวัง ดังนี้ สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังในวันที่ 18-20 กันยายน ในภาคใต้จังหวัดชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล สถานการณ์คลื่นลมแรงวันที่ 17-20 กันยายน 2563 ภาคใต้จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ระหว่างวันที่ดังกล่าว ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากทางราชการ เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกหนัก ปริมาณฝนตกสะสม และพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ลาดเชิงเขาอาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง พร้อมให้แจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเลให้เฝ้าระวังอันตรายจากคลื่นลมแรง
รวมถึงการออกประกาศหรือติดตั้งสัญญาณการแจ้งเตือนบริเวณชายฝั่งทะเลสำหรับชาวเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสารให้ตรวจอุปกรณ์ความปลอดภัยให้มีความพร้อมก่อนออกเดินเรือ และแนะนำการเดินเรือด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
พร้อมทั้งวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์จากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ สภาวะอากาศปริมาณน้ำฝนและปัจจัยสภาพความเสี่ยงในพื้นที่เพื่อประสานและบูรณาการหน่วยงานเครือข่าย จิตอาสา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตรียมความพร้อมทรัพยากรเครื่องจักรกลสาธารณภัย และแผนเผชิญเหตุ รวมถึงกำลังเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อมบรรเทาสาธารณภัยปฏิบัติงานอำนวยความสะดวก และช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง