ปัตตานี - เปิดใจ “ยีแอท่าน้ำ” อดีตแกนนำพูโล กับโครงการโรงไฟฟ้าชีวภาพชุมชน 20 แห่ง ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หวังสร้างอนาคตเศรษฐกิจคนชายแดนใต้
กว่า 5 ปีที่ นายมะแอ สะอะ หรือ “หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ” อดีตแกนนำขบวนการพูโล หลังได้รับการพักโทษ และปล่อยตัวเป็นอิสระ เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2558 ตามนโยบายสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อกระบวนการสันติวิธีในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังได้รับอิสรภาพ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ มีความพยายามช่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ทั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชานแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เน้นขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับรายได้คนจังหวัดชายแดนภาคใต้มีรายได้ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ที่หลายคนเคยได้ยินในช่วงแรกๆ หลังที่ได้รับอิสรภาพ
มาวันนี้ “ยีแอท่าน้ำ” เปิดใจครั้งแรก หลังจากหายไปจากหน้าสื่อทุกแขนงว่า ช่วงแรกๆ ทำทุกอย่างที่รัฐให้ช่วยทำ ตอนนั้นคิดแค่ว่าทำอะไรก็ได้ที่จะสามารถช่วยชาวบ้านได้ก็จะทำ ต่อมา ได้ใช้เวลาระยะหนึ่งนานพอสมควรให้แก่โครงการนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี จนสามารถหานักลงทุนจากประเทศมาเลเซีย พร้อมเข้ามาลงทุนทันที หากภายใต้เงื่อนไขภาครัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ว่าจะปลอดภัยกับรัฐมาร่วมลงทุน สุดท้ายเรื่องเงียบจนถึงปัจจุบัน รัฐไม่มีคำตอบอะไร ก็เลยมาร่วมงานกับโครงการปิดทองหลังพระ จนสามารถพัฒนาระบบน้ำ และเกษตรที่ปะนาเระ และตอนนี้ได้มาเป็นคนกลางประสานงานระหว่างรัฐกับนักธุรกิจ และชุมชนในการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน Biogas จำนวน 20 แห่ง ขนาดรวมทั้งหมด 200 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
บริษัท เอสซีจี พาวเวอร์ จะสร้าง 15 แห่ง BIOTEC จะสร้าง 5 แห่ง ทั้ง 2 บริษัทพร้อมเข้ามาลงทุนทำโรงไฟฟ้าชุมชน Biogas ใช้หญ้าเนเปียกับข้าวฟางเป็นเชื้อเพลิง ได้สถานที่แล้ว ทำเวทีประชาคมแล้ว ชาวบ้านเห็นชอบทุกพื้นที่ และทางบริษัทได้จ่ายค่ามัดจำค่าที่ไปแล้ว 30 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้รอให้พลังงานจังหวัดเห็นชอบการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนนี้ นอกจากจะสามารถแก้ปัญหาการว่างงานให้ชาวบ้านแล้ว เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ด้วย
เพราะหนึ่งในปัญหาของความไม่สงบคือ ชาวบ้านไม่มีงานทำ ทำให้ลูกหลานไม่มีโอกาสทางการศึกษาที่สมควรจะได้รับ และเมื่อชาวบ้านมีงานทำ คนไม่จน มีเงินส่งลูกหลานเรียน ปัญหาความไม่สงบก็จะหมดไปจากพื้นที่ นอกจากชาวบ้านจะสามารถเข้าไปทำงานในโรงไฟฟ้าแล้ว ชาวบ้านจะมีหุ้นส่วนในโรงไฟฟ้าชาวบ้านด้วย 10 เปอร์เซ็นต์ด้วย และปลูกหญ้าขายในราคาตันละ 1,000 บาทอีก
นอกจากนี้ เรายังมีการทำงานร่วมกันอย่างพหุวัฒนธรรม ไม่มีการแบ่งศาสนา เป็นสิ่งยืนยันได้อย่างเด่นชัดว่าความเป็นพหุวัฒนธรรมของคนพื้นที่ยังแน่นเหมือนเดิม ไม่ได้มีปัญหากัน ทุกคนจะได้ประโยชน์จากการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนทั้ง 20 แห่งนี้ ทั้งทางตรง และทางอ้อม เชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นเพราะคนมีงาน การจับจ่ายย่อมดีขึ้น โดยเฉพาะแรงงานที่กลับมาจากมาเลเซีย สามารถมีงานทำได้แน่นอน
อย่างโครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมที่จะนะ ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะมีการสร้างงานให้แก่คนพื้นที่ ข้อแม้จะต้องทำสัญญาให้ชัดเจนว่าจะรับคนพื้นที่ทำงานทุกระดับ ทั้งฝ่ายบริหาร และคนงาน ไม่ใช่แค่คนงานทั่วไปเท่านั้น จำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ ต้องทำสัญญาไว้ระหว่างตัวแทนบริษัท TPI กับตัวแทนชุมชน และมีโอกาสคุยกับบริษัท TPI กรณีที่มาเลเซียจะมาร่วมลงทุนด้วย ที่จะนะ Maser เขาพร้อมเข้ามาลงทุน และยินดีจะขายไฟจากโครงการที่เขาทำอยู่ที่พม่าให้อย่างมิตรภาพ เรื่องนี้ทราบมาว่า Maser จะทำสัญญากับบริษัท TPI 90 ปี แต่ตอนนี้มาเลเซียติดโควิด-19 รอให้ประเทศเปิดเขาพร้อมเดินทางเข้ามาทำสัญญาทันที ก็มีความหวังว่าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจะเกิดขึ้น ซึ่งแม้ไม่ได้เกิดทั้งหมด สามารถเริ่มดำเนินการในบางส่วนก่อนสัก 5 แห่ง ก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับชาวบ้านที่จะมีงานทำในอนาคตอย่างแน่นอน
นายปราโมทย์ เหล่าเจริญวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอสซีจี พาวเวอร์ กล่าวว่า เรายืนยันว่าได้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าอยู่แล้วในตลาดหลักทรัพย์ เอสซีจีทำโรงไฟฟ้าชุมชน Biogas ใช้หญ้าเนเปียกับข้าวฟางเป็นเชื้อเพลิง ชาวบ้านจะถือหุ้นในโรงไฟฟ้าชุมชน 10 เปอร์เซ็นต์ เรามีเงินลงทุนพร้อมมีเทคโนโลยีใช้ของเยอรมนี