xs
xsm
sm
md
lg

เรือนจำปัตตานีทยอยปล่อยผู้ถูกคุมขังหลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แฟ้มภาพ
ปัตตานี - เรือนจำปัตตานีทยอยปล่อยผู้ถูกคุมขังที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษ หรือพักโทษ ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563 แต่ยังคงมีบางส่วนที่ถูกเจ้าหน้าที่อายัดตัวต่อเนื่องจากมีคดีอื่นที่ยังไม่ได้จับกุม

วันนี้ (15 ก.ย.) เรือนจำกลางปัตตานีได้มีการทยอยปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังหลังจากพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษ หรือพักโทษ ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563 นี้ โดยในครั้งนี้ชุดปราบปรามสืบสวนคดีพิเศษ จ.ปัตตานี ได้ตรวจสอบข้อมูลหมายจับที่ยังไม่ได้จับกุมของนักโทษเด็ดขาดคดีความมั่นคง จำนวน 13 ราย ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษ และปล่อยตัว โดยอยู่ที่เรือจำกลางปัตตานี 8 ราย และอีก 5 ราย ที่เรือนจำนราธิวาส

โดยที่เรือนจำกลางปัตตานี นักโทษคดีความมั่นคงทั้ง 8 ราย ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่มีผู้ที่มีคุณสมบัติที่สามารถผ่านหลักเกณฑ์ และจะปล่อยตัวได้ 2 ราย และอีก 6 รายจะถูกอายัดตัวต่อ เนื่องจากมีคดีอื่นที่ยังไม่ได้จับกุม แม้ในหลายปีที่ผ่านมา จะมีการท้วงติงจากนักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ ตลอดจนภาคประชาสังคม ที่ได้ตั้งข้อสังเกตให้มีการดำเนินคดีหลายคดีพร้อมกัน จะได้ไม่ต้องมียัดตัวผู้ต้องถูกคุมขังหลังได้รับการอภัยโทษ

พล.ต.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ในวันนี้จะมีการปล่อยตัวนักโทษคดีความมั่นคงตามกำหนดการของโครงการทั่วประเทศ โดยพิธีจะเริ่มเวลา 09.00 น. ในส่วนของหลังจากพิธีพร้อมกันทั่วประเทศ จะมีการดำเนินกรรมวิธีเพื่อการปล่อยตัว อย่างช้าสุดจะปล่อยไม่เกิน 15.00 น.

“และยังทราบมาว่าของเรือนจำนราธิวาส จะมีการปล่อยตัวนักโทษความมั่นคง 5 รายด้วยเช่นกัน ทราบชื่อคือ 1.นายโมหะหมัด ซอฮีมี ยา ย้ายมาจากเรือนจำบางขวาง เป็นพี่ชายของ นายมะนาเซ ที พักโทษยุติธรรมเข้าโครงการพาคนกลับบ้าน 2.นายมะฟาริส บือราเฮง 3.นายสุรียา เจ๊ะมุ 4.นาย นิซัม เจ๊ะอุเซ็ง และ 5.นายนาวาวี ยะโก๊ะ” รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว

พล.ต.ต.จิระวัฒน์ พยุงธรรม ผบก.ภ.จว.ปัตตานี กล่าวว่า ในส่วนของการปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคง จำนวน 8 ราย ของเรือนจำปัตตานีนั้น ในขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะมีการปล่อยตัวออกมาเมื่อไหร่ ซึ่งเดิมที่จะมีรายชื่อผู้ต้องหาคดีความมั่นคง จำนวน 8 ราย แต่จากการตรวจสอบทั้ง 3 ฝ่าย ปรากฏว่ามีคุณสมบัติที่สามารถผ่านหลักเกณฑ์และจะปล่อยตัวได้มี 2 ราย คือ ผู้ต้องหาที่ไม่มีหมายจับและไม่มีการอายัดตัว ซึ่งตอนนี้ก็ต้องอยู่ในขั้นตอนของเรือนจำที่จะต้องมีมาตรการฝึกอบรมโครงการเศรษฐกิจพอเพียงในเรือนจำ ซึ่งเป็นการฝึกอาชีพอย่างหนึ่ง และต้องดูทางเรือนจำว่าจะครบกำหนดเมื่อไหร่ ซึ่งตรงนี้ยังตอบไม่ได้

ทางด้าน นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ในวันนี้จะมีการปล่อยตัวนักโทษที่ได้รับพระราชทานรวมทุกคดี โดยมีนักโทษจากคดีความมั่นคง 2 คน ซึ่งกระบวนการปล่อยนั้นขึ้นกับทางเรือนจำปัตตานี

โดยรายชื่อผู้ต้องขังคดีความมั่นคง 8 ราย ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ คือ 1.นช.อามีน กาซอ จับกุม วันที่ 3 เม.ย.53 เริ่มจำคุก 26 เม.ย.2555 สิ้นสุดการจำคุก 6 พ.ย.2566 จากการตรวจสอบพบหมายจับศาล จ.ยะลา ที่ 49/2550 ข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น สถานะยังไม่ได้จับกุม ได้ประสานทางพนักงานสอบสวน สภ.เมืองยะลา ได้ทำหนังสือขออายัดตัวเรียบร้อยแล้ว

2.นช.อาพันดี กาพา จับกุมวันที่ 14 ส.ค.2557 เริ่มจำคุก 4 ก.ย.2557 สิ้นสุดการจำคุก 12 มิ.ย.2564 จากการตรวจสอบพบหมายจับศาล จ.ปัตตานี ที่ 320/2557 ข้อหาปล้นทรัพย์โดยใช้อาวุธปืนยิง เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย สถานะยังไม่ได้จับกุม ได้ประสานทางพนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี ได้ทำหนังสือขออายัดตัวเรียบร้อยแล้ว

3.นช.อัซมัน เจะยอ จับกุม 27 ม.ค.2551 เริ่มจำคุก 10 พ.ค.2554 สิ้นสุดการจำคุก 2 มิ.ย.2572 จากการตรวจสอบพบหมายจับศาล จ.ปัตตานี ที่ จ.359/2553 ข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น สถานะยังไม่ได้จับกุม ได้ประสานทางพนักงานสอบสวน สภ.ปะนาเระ ทราบว่าได้ทำการจับกุมแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำการถอนหมายจับในระบบ

4.นช.มะลูดิง สะมาแอ จับกุม 29 พ.ค.2552 เริ่มจำคุก 18 ก.ย.2552 สิ้นสุดการจำคุก 28 พ.ค.2565 จากการตรวจสอบไม่พบหมายที่ยังไม่ได้จับกุม

5.นช.มัดดี มะยี จับกุม 21 เม.ย.2554 เริ่มจำคุก 25 ธ.ค.2555 สิ้นสุดการจำคุก 2 พ.ค.2568 จากการตรวจสอบไม่พบหมายที่ยังไม่ได้จับกุม

6.นช.เดะแม กาซอ จับกุม 28 ต.ค.2559 เริ่มจำคุก 9 มี.ค.2552 สิ้นสุดการจำคุก 20 ก.ย.2569 จากการตรวจสอบไม่พบหมายที่ยังไม่ได้จับกุม

7.นช.มะยาแม กาเด็ง เริ่มจำคุก 13 มิ.ย.2556 ศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ตรวจสอบไม่พบหมายที่ยังไม่ได้จับกุม

และ 8.นช.ฮายู แดบอ จับกุม 25 ก.ค.2558 เริ่มจำคุก 16 ส.ค.2559 สิ้นสุดการจำคุก 30 ธ.ค.2563 ตรวจสอบไม่พบหมายที่ยังไม่ได้จับกุม

ทางด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า ปัญหาที่ได้ยินมาตลอดในการดำเนินคดีของผู้ต้องสงสัย หรือจำเลยในคดีความมั่นคงในพื้นที่ คือ ไม่ได้มีการดำเนินคดีพร้อมกันทั้งหมดทีเดียว แต่จะเก็บบางกระทงเอาไว้เพื่อที่จะงัดเอามาใช้ต่อในกรณีข้อหาที่ฟ้องร้องดำเนินคดีไปแล้วยุติลง

หากผู้ต้องหาถูกวินิจฉัยโดยศาลหรือว่ากระทำผิดได้รับการลดหย่อน ลดโทษ หรือดำเนินคดีแล้ว การลงโทษในกระบวนการยุติธรรมครบหมดแล้ว พอออกมาก็โดนคดีต่อไป คล้ายว่าฟ้องกันแบบเรียงคิว แทนที่จะฟ้องไปพร้อมกันจะได้ไม่ต้องมีปัญหาแบบไม่ต้องเข้าเรือนจำไปอีก ไม่หลุดออกมาจริงๆ แต่ถูกกลับเข้าไปในเรือนจำเพื่อที่จะถูกฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีต่อไป

“ส่วนหนึ่งคิดว่านี้คือการละเมิดสิทธิทางอ้อม เดินทีละดอก ไล่ทีละเรื่อง ไม่ได้เป็นการให้สิทธิของผู้ต้องหาอย่างเต็มที่ ควรแก้ไขเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เป็นปัญหากระบวนการยุติธรรม ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างเปิดเผย โปร่งใส่ และดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าหากว่าทำอย่างนี้ก็จะไม่จบสิ้นสักทีจะมีปัญหาไม่จบ” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ด้านนายสะตาปายุดดีน (ขอสงวนนามสกุล) หนึ่งในผู้ถูกจองจำที่ได้รับอภัยโทษในคราวนี้ กล่าวว่า รู้สึกดีใจและด้วยมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงอภัยโทษให้แก่ผู้ถูกคุมขัง ตามเงื่อนไขระเบียบกระทรวงยุติธรรม ผมและครอบครัวรู้สึกปีติปลื้มดีใจอย่างมาก และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่คอยอำนวยความสะดวก จากกรณีถูกดำเนินคดีในข้อหาครอบครองอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน


กำลังโหลดความคิดเห็น