xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงอุตสาหกรรมสรุปผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัตตานี - กระทรวงอุตสาหกรรม สรุปผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะที่ 2

วันนี้ (9 ก.ย.) ที่ห้องน้ำพราว 1 โรงแรมซีเอสปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี นายปรีชา ชนะกิจกำจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาสรุปผลโครงการแนวคิด Cross Cultural Turn Thai Wisdom to International ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และแฟชั่น ด้วยการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะที่ 2

ทั้งนี้ เพื่อเสนอถึงความสำเร็จ และได้แสดงผลงานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และแฟชั่น ด้วยการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ โดยนำจุดเด่นเอกลักษณ์ของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายชายแดนใต้ผสมผสานนวัตกรรมไอเดียร่วมสมัย และร่วมผลักดันขยายตลาด ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ สามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ ภายในงานจัดให้มีการแสดง Mini Fashion Show จากผลิตภัณฑ์ภายใต้โครงการ และการจัดสัมมนาหัวข้อ “โอกาสของ SMEs ไทยสู่ตลาดมาเลเซีย” โดยมีนักออกแบบแฟชั่นจากประเทศมาเลเซียเข้ามาคัดเลือกผลิตภัณฑ์ไปจัดแสดง ณ ห้างสรรพสินค้า Avenue ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมีประธานอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และผู้ประกอบการสิ่งทอเข้าร่วมงานในครั้งนี้


นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของผู้ประกอบการท้องถิ่นของไทย ส่วนใหญ่เป็นการผลิตจำกัดในระดับวิสาหกิจชุมชน ทำให้ผลิตได้ในจำนวนน้อย และขาดการกระตุ้นความต้องการของตลาดในประเทศ ทำให้มีตลาดจำกัดเฉพาะกลุ่ม ผู้บริโภคยังไม่นิยมหรือตระหนักในคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นมากนัก ขณะที่ชุมชนเองมักผลิตสินค้ารูปแบบเดิม และจำหน่ายในระดับราคาต่ำ ขาดการพัฒนาสินค้าทำให้สินค้าไม่มีความหลากหลาย และไม่มีความโดดเด่น ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และผู้ประกอบการในจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 500 ราย ซึ่งจากการสำรวจข้อมูล พบว่า ร้อยละ 63 เป็นผู้ประกอบการที่ผลิตเสื้อผ้า และเครื่องแต่งกายมุสลิม ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 37 เป็นผู้ประกอบการที่ผลิตผ้าทอพื้นเมือง ผ้าบาติก ผ้ามัดย้อม เคหะสิ่งทอ และสินค้าแปรรูปจากสิ่งทอ

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มอบนโยบายให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จัดทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และแฟชั่น ด้วยการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในพื้นที่ชายแดนใต้ขึ้น โดยวางพื้นที่เป้าหมายของโครงการ Cross Cultural Turn Thai Wisdom to International ในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และ จ.นราธิวาส มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 40 กลุ่ม 257 คน ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการออกแบบ ผลิตภัณฑ์ และการตลาด เพื่อนำความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ บวกกับคุณสมบัติพิเศษของวัตถุดิบที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น การเลือกใช้วัสดุในการออกแบบให้เหมาะกับการใช้งาน ตอบสนองประโยชน์การใช้งาน และมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว การสร้างสรรค์จากวัฒนธรรม หรือผสมผสานรูปแบบที่มีความร่วมสมัย ให้สามารถตอบสนองรูปแบบในการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันได้ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า และสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ภายใต้แนวคิด จำนวน 59 ผลิตภัณฑ์ 12 Collection ซึ่งผลสำเร็จที่ได้จากโครงการ นอกจากจะเกิดการรวมกลุ่มของกลุ่มผู้ประกอบการสิ่งทอที่สามารถพัฒนา และต่อยอดสร้างเป็นอาชีพที่มั่นคงได้แล้ว ยังเพิ่มโอกาสให้การจ้างงานที่มั่นคง และสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น