ตรัง - เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายร่วมกับชาวประมงพื้นบ้านลงพื้นที่ตรวจสอบจุดทิ้งวัสดุจากโครงการขุดลอกร่องน้ำกันตังของกรมเจ้าท่า หลังชาวบ้านตั้งข้อสังเกตพบหญ้าทะเลในแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน-อาหารของพะยูนตายเป็นบริเวณกว้าง เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป
วันนี้ (7 ก.ย.) เจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาและบำรุงรักษาน้ำ กลุ่มแผนงานพัฒนาทางน้ำ กรมเจ้าท่า ตัวแทนบริษัท แสงเจริญมารีนเซอร์วิส จำกัด ผู้รับเหมาขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำกันตัง และตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันตรวจสอบจุดทิ้งวัสดุ ทั้งดิน ทราย และตะกอนดิน ที่ได้จากการขุดลอกร่องน้ำกันตัง พื้นที่ระหว่างเกาะเหลาเหลียงกับเกาะลิบง หลังชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่า กระแสคลื่นลมพัดพาตะกอนดินในบริเวณดังกล่าวเข้าไปทับถมหญ้าทะเลในอ่าวทุ่งจีน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนและอาหารของพะยูน ในช่วงตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปี 2563 ส่งผลให้หญ้าทะเลในอ่าวทุ่งจีนตายเป็นบริเวณกว้าง
ในการตรวจสอบครั้งนี้ ผู้รับเหมาได้สาธิตการทำงานจริงในการทิ้งตะกอนดินเพื่อประเมินทิศทางการไหลของน้ำและกระแสคลื่นลมทะเล และยืนยันว่า จุดทิ้งตะกอนดินจากการขุดลอกร่องน้ำกันตังดังกล่าวนี้เป็นจุดทิ้งเดิมที่ดำเนินการตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ไม่เคยพบปัญหากระทบต่อสิ่งแวดล้อมดังกล่าว โดยจุดทิ้งนี้อยู่ห่างจากเกาะลิบงประมาณ 5 กิโลเมตร และห่างจากเกาะเหลาเหลียงประมาณ 3.28 กิโลเมตร แต่ละวันจะนำตะกอนดินมาทิ้งประมาณวันละ 6-7 เที่ยวๆ ละ 3,000 คิว รัศมีครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3.5 กิโลเมตร
จากนั้น คณะได้เดินทางไปตรวจสอบสภาพพื้นที่จริงบริเวณอ่าวทุ่งจีน พบว่า มองเห็นเรือบรรทุกตะกอนดินที่จอดทิ้งตะกอนดินอยู่ห่างออกไปประมาณ 5 กิโลเมตรได้อย่างชัดเจน และอยู่ในทิศทางตรงกับบริเวณอ่าวทุ่งจีน แหล่งหญ้าทะเลสำคัญ โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง และส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่ 7 ได้ใช้โดรนบินสำรวจ เพื่อเก็บข้อมูลพื้นที่ความเสียหายเพื่อนำไปศึกษาและใช้ในการวางแผนร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูต่อไป
ขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านที่หากินอยู่บริเวณเกาะลิบง ได้ให้ข้อมูลว่า ในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สภาพอากาศทางทะเลมีความแปรปรวนผิดปกติ ในช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นช่วงที่คลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังแรง ก็จะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่านสลับไปมาด้วย จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ตะกอนดินดังกล่าวถูกกระแสน้ำที่เปลี่ยนแปลงพัดไปเข้าพื้นที่จนยากต่อการคำนวณและควบคุม ดังนั้น ชาวบ้านจึงได้ร้องขอให้ทางกรมเจ้าท่า ย้ายจุดทิ้งตะกอนดินจากบริเวณดังกล่าวออกไปทิ้งยังระหว่างเกาะตะเกียงกับเกาะกระดาน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นจุดที่ปลอดภัยกับแหล่งหญ้าทะเล หรือนำตะกอนดินไปทิ้งบนฝั่ง โดยเจ้าหน้าที่ก็พร้อมที่จะดำเนินการย้ายจุดทิ้งในปีงบประมาณ 2564 สำหรับโครงการปีนี้ก็ใกล้จะแล้วเสร็จและหมดสัญญาภายในเดือน ก.ย.นี้
ด้านนายสมบัติ ยวนยี่ ผู้ควบคุมงานโครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำกันตัง กรมเจ้าท่า กล่าวว่า ทางกรมจะนำข้อเสนอของคณะตรวจสอบในครั้งนี้ไปเสนอต่ออธิบดีกรมเจ้าท่า เพื่อย้ายจุดทิ้งตะกอนดินไปในพื้นที่ที่ชาวบ้านต้องการ แต่ต้องทำการศึกษาอย่างละเอียด แต่สำหรับจุดทิ้งดังกล่าวนี้เป็นจุดทิ้งเดิมที่กรมเจ้าท่าใช้พื้นที่มาโดยตลอดหลายสิบปีที่มีการขุดลอก และมีการติดตามตรวจสอบผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดแต่ไม่เคยพบปัญหา อย่างไรก็ตาม ก็พร้อมดำเนินการตามความต้องการของชาวบ้าน และจะร่วมกับชุมชนในการช่วยฟื้นฟูหญ้าทะเลต่อไป