xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกประโคมไทยเล็งผุดท่าเรือน้ำลึกพร้อมแลนด์บริดจ์เชื่อม 2 ฝั่งภาคใต้แทนขุดคลอง ดูดเรือสินค้าจากช่องแคบมะละกา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เรือสินค้าในช่องแคบมะละกา - ภาพ AFP
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ สื่อฮ่องกง รายงาน อ้างคำให้สัมภาษณ์ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ไทยตัดสินใจสร้างท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่งทะเลภาคใต้มีถนน และรถไฟเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ทดแทนการสร้าง“คลองไทย” เพื่อร่นระยะเวลาเดินเรือสินค้าจากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกไปมหาสมุทรอินเดีย โดยไม่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกา

วันนี้ (31 ส.ค.) เว็บไซต์หนังสือพิม์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ของฮ่องกง ได้นำเสนอรายงานว่า รัฐบาลไทยกำลังพิจารณาก่อสร้างเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางการเดินเรือที่หนาแน่นที่สุดในโลกในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ช่องแคบมะละกา ช่องทางการเดินเรือแคบๆ บริเวณฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของแหลมมลายูและสิงคโปร์ เป็นเส้นทางการส่งสินค้าทางทะเลระหว่างภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกับอินเดียและตะวันออกกลางที่สั้นที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งมีปริมาณสินค้า 1 ใน 4 ของทั้งโลกถูกขนส่งผ่านเส้นทางนี้ในแต่ละปี

สื่อฮ่องกงอ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมว่า ช่องแคบมะละกาแออัดมาก ถ้าหันมาใช้เส้นทางที่ตัดผ่านประเทศไทยจะร่นระยะเวลาขนส่งทางเรือลง 1-2 วัน ซึ่งถือว่ามีความคุ้มค่าในทางธุรกิจ

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ประเทศไทยมีโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกบริเวณ 2 ฝั่งทะเลภาคใต้ และเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 แห่งด้วยถนนและรถไฟ หรือที่เรียกว่าแลนด์บริดจ์ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร โดยโครงการนี้จะมาแทนการขุดคลองเชื่อมระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามันซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อสภาพแวดล้อมอย่างมหาศาล
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า รัฐบาลไทยได้อนุมัติงบประมาณ 75 ล้านบาท ในการสำรวจการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 แห่ง และอีก 90 ล้านบาท สำหรับการสำรวจเส้นทางทางถนนและรถไฟเชื่อมท่าเรือทั้งสอง

ทั้งนี้ มีรายงานว่าในปีที่ผ่านมา ช่องแคบมะละกานอกจากมีความแออัดแล้วยังถูกคุกคามด้วยโจรสลัดอย่างต่อเนื่อง รายงานจาก ReCAAP ISC องค์กรรวบรวมข้อมูลด้านโจรสลัดที่มีสมาชิก 20 ประเทศซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย ระบุว่า เหตุโจรสลัดปล้นเรือสินค้าบริเวณช่องแคบมะละกาได้เพิ่มขึ้นจาก 8 ครั้งในปี 2561 เป็น 30 ครั้งในปี 2562 ที่ผ่านมา
.
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.63 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน “MOT 2020 Move On Together คมนาคมเคียงข้างคนไทย ฟันเฟืองฟื้นฟูเศรษฐกิจหลัง COVID-19” ว่า การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทั้ง 4 มิติ ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศนั้น มีแผนงานครอบคลุมทั่วประเทศ โดยในส่วนของพื้นที่ภาคใต้จะมีการศึกษาเพื่อพัฒนาท่าเรือน้ำลึก ระดับความลึกที่ 15 เมตร เชื่อมอันดามัน-อ่าวไทย (จ.ชุมพร-จ.ระนอง) ซึ่งได้วาง 2 รูปแบบ คือ พัฒนาท่าเรือเดิมที่มีหรือสร้างท่าเรือใหม่ ซึ่งอาจจะถมทะเล ซึ่งทั่วโลกก็ทำ เช่น สิงคโปร์ มาเก๊า โดยจะประเมินความคุ้มค่าในการลงทุน และแก้ปัญหาผลกระทบต่อประชาชน ดังนั้น จะต้องตัดสินใจเรื่องการอนุรักษ์และบูรณาการให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่หากเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งอาจจะทำให้เสียโอกาส ซึ่งแม้ตนจะไม่ใช่คนภาคใต้ แต่ก็อยากเห็นภาคใต้เจริญ

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะศึกษาส่วนของท่าเรือน้ำลึก รวมไปถึงเรื่องรูปแบบการลงทุนกับเอกชน (PPP) โดยศึกษาในปี 2564 ใช้เงินจากงบกลาง วงเงิน 75 ล้านบาท คาดว่าจะมีความชัดเจนในการลงทุน

นอกจากนี้ จะมีโครงการแลนด์บริดจ์ทั้งมอเตอร์เวย์ โดยกรมทางหลวง (ทล.) ใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ศึกษา และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ศึกษารถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางชุมพร-ระนอง ระยะทาง 109 กม. เพื่อเชื่อมท่าเรือจากฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะได้ข้อสรุปในปี 2565 และนำเสนอนายกฯ ต่อไป

“จะมีคำถามว่า ทำไมถึงไม่ทำคลองคอดกระ เรื่องนี้เพราะปัญหาระดับน้ำทะเลอันดามันและอ่าวไทยไม่เท่ากัน ทำให้ต้องสร้างสถานีสำหรับปรับระดับน้ำ ซึ่งใช้งบประมาณจำนวนมาก และเสียเวลามากกว่ารูปแบบการทำท่าเรือ และแลนด์บริดจ์มอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่เชื่อม ซึ่งจะไม่ตอบโจทย์การประหยัดเวลาและงบประมาณในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ทางน้ำ” นายศักดิ์สยาม กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น