xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านท้อศาลไม่ศักดิ์สิทธิ์เจ้าของบ้านนกนางแอ่นที่ชุมพรทำเฉยหลังตัดสินทำผิด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





ชุมพร - ชาวบ้านมาบอำมฤต จ.ชุมพร ท้อศาลตัดสินเจ้าของบ้านนกนางแอ่น ผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร-สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า มีโทษทั้งจำทั้งปรับ แต่ยังดื้อทำเดือดร้อนกว่าเดิม เตรียมบุกเข้าพบ “ลุงตู่” ถือเป็นคดีตัวอย่างแรกในประเทศไทย


จากกรณีชาวบ้านในเขตเทศบาลตำบลมาบอำฤต อ.ปะทิว จ.ชุมพร ซึ่งเป็นชุมชนหนาแน่นย่านเศรษฐกิจหลักของอำเภอปะทิว ได้ร้องเรียนปัญหานายทุนดัดแปลงต่อเติมอาคารผิดกฎหมายเพื่อสร้างบ้านนกนางแอ่นกินรังกันจำนวนมาก จนเกิดมลพิษทั้งกลิ่น เสียง มูล ตัวไร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ชาวบ้าน เด็ก คนชราเป็นภูมิแพ้ หอบหืด ผื่นคัน โรคผิวหนัง

ซึ่งชาวบ้านได้ต่อสู้ปกป้องสิทธิที่ถูกละเมิดมานานหลายปี จนกระทั่งเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการจับกุมผู้ประกอบการดำเนินคดี และ ศาลจังหวัดชุมพรได้พิพากษามีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ให้จำคุกและปรับ โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา ถือเป็นคดีตัวอย่างคดีแรกในประเทศไทย

แต่เวลาผ่านไปนานนับปี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นกลับนิ่งเฉยไม่ดำเนินการใดๆ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล ธุรกิจบ้านรังนกยังทำกันตามปกติ และมีนายทุนอีกหลายรายทำการต่อเติมดัดแปลงสร้างบ้านนกในเขตชุมชนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนหนักกว่าเดิม

นางประภัสสร เกตุแก้ว อายุ 50 ปี นางจิตศาสตร์ ศิริทิพย์กุล อายุ 47 ปี นางราณี จันทร์แสน อายุ 60 ปี ตัวแทนชาวบ้านร่วมกันเปิดเผยถึงกรณีดังกล่าว ว่า ตามที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าของบ้านนกนางแอ่นกินรังในความผิด พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร โดยทำการดัดแปลงต่อเติมอาคารเพื่อทำบ้านนกในเขตชุมชนเทศบาลตำบลมาบอำมฤต โดยศาลจังหวัดชุมพร ได้มีคำพิพากษามีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 65 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 1 เดือน รวม 2 กระทง 2 เดือน ปรับกระทงละ 200,000 บาท ปรับต่อไปวันละ 200 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ลดโทษกึ่งหนึ่ง ให้จำคุกจำเลย 1 เดือน ปรับ 20,000 บาท และปรับต่อไปอีกวันละและหลังละ 100 บาท จนกว่าจะรื้อถอนส่วนที่ดัดแปลงหรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี คุมประพฤติจำเลย 1 ปี โดยศาลได้มีคำพิพากษาตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา


นอกจากนั้น ยังมีคำพิพากษาศาลจังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 พิพากษาตามที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าของบ้านนกนางแอ่นกินรัง ความผิดต่อ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า โดยศาลได้พิเคราะห์แห่งคดีแล้วเห็นว่านกนางแอ่นกินรังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองภายใต้กฎหมายว่าด้วยสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งเดิม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มีบทบัญญัติกำหนดห้ามมิให้เก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครอง โดยมีข้อยกเว้นให้จัดเก็บได้เฉพาะผู้ที่ได้รับสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยอากรรังนกนางแอ่น

ซึ่งกฎหมายดังกล่าวครอบคลุมเฉพาะการจัดเก็บรังนกนางแอ่นที่มีอยู่ในธรรมชาติบนเกาะหรือในที่สาธารณะแผ่นดินเท่านั้น แต่ปัจจุบันนกนางแอ่นกินรังในประเทศไทยนอกจากมีที่มาจากแหล่งรังธรรมชาติในพื้นที่สัมปทานแล้ว ยังมีรังนกบ้านที่มาจากการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารให้กลายเป็นบ้านนกเพื่อให้นกนางแอ่นกินรังเข้ามาอยู่อาศัยแล้วทำการจัดเก็บรังนกเพื่อจำหน่ายอีกแหล่ง ซึ่งนิยมทำกันพอสมควร รวมถึงการกระทำของจำเลยในคดีนี้ด้วย แต่ที่ผ่านมาไม่มีบทกฎหมายใดให้กระทำได้ รัฐเองก็ไม่มีมาตรการใดที่จะเข้าตรวจสอบการประกอบกิจการดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งหากพิจารณาในแง่ของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์ป่าของผู้ประกอบการแล้ว เป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเพื่อประโยชน์ส่วนตนเพียงฝ่ายเดียว โดยมิได้ชำระค่าตอบแทนจากการได้ประโยชน์ดังกล่าวคืนต่อสังคมส่วนรวม ยิ่งกว่านั้นยังส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญทั้งทางด้านสุขภาพอนามัย ด้านผังเมือง มลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง เป็นการรบกวนสิทธิของผู้คนในละแวกข้างเคียงที่จะใช้ชีวิตโดยปกติสุข อันเป็นต้นเหตุของปัญหาด้านความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างผู้คนในชุมชนกับผู้ประกอบการ


พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตา 21 วรรคหนึ่ง และมาตรา 51 จำคุก 4 เดือน และปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษลดให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน ปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 1 ปี ให้ริบรังนกนางแอ่นกินรังของกลางทั้งหมด

แกนนำชาวบ้านทั้ง 3 คน กล่าวต่อว่า ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ศาลจังหวัดชุมพรมีคำพิพากษาให้เจ้าของบ้านนกนางแอ่นกินรัง มีความผิดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ผ่านไปนานกว่า 1 ปีแล้ว และวันที่ 29 มิถุนายน 2563 ศาลจังหวัดชุมพร พิพากษาว่าให้เจ้าของบ้านนกนางแอ่นกินรังมีความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ผ่านไปเกือบ 2 เดือน จำเลยไม่อุทธรณ์ถือว่าคดีถึงที่สุดแล้ว ปรากฏว่าผู้ประกอบการบ้านนกก็ยังเก็บผลประโยชน์อยู่ตามปกติ ส่วนชาวบ้านก็ยังเดือดร้อนเหมือนเดิมและหนักมากกว่าเดิม

เพราะมีผู้ประกอบการอีกหลายรายต่อเติมดัดแปลงอาคารทำบ้านนกในย่านชุมชนเขตเทศบาลมาบอำมฤต จนขณะนี้มีมากเกือบ 50 หลังแล้ว นกนางแอ่นจำนวนมากนับแสนนับล้านตัวบินว่อนอยู่เหนืออาคารบนท้องฟ้าในย่านชุมชน ทำให้ชาวบ้าน เด็ก ผู้สูงอายุ ได้รับผลกระทบจาก เสียง กลิ่น มูล ไร ฝุ่น ทุกวัน บางคนป่วยเป็นภูมแพ้ โรคผิวหนัง หอบหืด ขนาดศาลมีคำพิพากษามีความผิดแล้วแต่ผู้ประกอบการยังดื้อแพ่ง และไม่มีหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้ามาบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแต่อย่างใด


แกนนำชาวบ้านกล่าวต่อว่าแม้จะมีคำพิพากษาแล้ว ทั้ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ว่ามีความผิดมีโทษทั้งจะทั้งปรับ ตอนนี้พวกเราก็ยังเดือดร้อนเหมือนเดิม ซึ่งเจ้าของบ้านนกไม่ได้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่ดัดแปลงต่อเติมอาคารผิดกฎหมายแต่อย่างใด แค่ปิดช่องทางเข้าออกของนกนางแอ่นในช่องเก่าข้างอาคาร แล้วขึ้นไปเจาะช่องใหม่บนหลังคาสูงที่มีการต่อเติมขึ้นไปเพื่อหลบเลี่ยงไม่ให้ใครเห็น แสดงให้เห็นว่าผู้กระทำความผิดไม่ได้เกรงกลัวกฎหมายและไม่สนใจคำพิพากษาของศาลแต่อย่างใด ส่วนชาวบ้านกลับเดือดร้อนมากกว่าเดิม และมีนายทุนอีกหลายรายหันมาสร้างบ้านนกเพิ่มขึ้นเพราะเห็นว่ากฎหมายทำอะไรพวกเขาไม่ได้

“ตอนนี้พวกเรากำลังเตรียมตัวที่จะนำคำพิพากษาไปทำเป็นป้ายไวนิลขนาดใหญ่ขึ้นประจานในชุมชน และจะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อเอาคำพิพากษาไปมอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อ่านด้วยตนเอง เพื่อให้รู้ว่ากฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ไม่มีความหมายใดๆ เลย แม้ศาลจะมีคำพิพากษาแล้วก็ตาม เพราะหน่วยงานเกี่ยวข้องที่บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ดำเนินการใดๆ ชาวบ้านยังเดือดร้อนเหมือนเดิม” ตัวแทนชาวบ้านกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น